AIS จับมือธนาคารกรุงไทย ใช้แพลตฟอร์ม Krungthai BUSINESS เปิดให้ลูกค้าองค์กรของเอไอเอสใช้บริการ “PromptBIZ” โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินกลางสำหรับภาคธุรกิจของประเทศ ในการทำธุรกรรมการค้าและการชำระเงินขององค์กรให้เป็นไปอย่างคล่องตัว รวดเร็ว เพราะสามารถดำเนินการข้ามธนาคารในรูปแบบดิจิทัลได้แบบครบวงจร
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AIS Business มุ่งสนับสนุนความแข็งแกร่งขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึง SMEs ให้สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อยกระดับสู่ความเป็นดิจิทัล
“การเข้าใช้บริการ PromptBIZ จะช่วยเชื่อมโยงระบบภาษี ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มุ่งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง”
นายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับ AIS Business นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ 2 องค์กร ในการนำระบบ “PromptBIZ” บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม Krungthai BUSINESS มาเสริมศักยภาพการทำธุรกิจของเอไอเอสและคู่ค้าตลอดซัพพลายเชนให้เป็นระบบดิจิทัลแบบครบวงจร
ไม่ว่าจะเป็นการจัดการข้อมูลเอกสาร ลดการใช้กระดาษ โดยเปลี่ยนเอกสารทางการค้าจากกระดาษเป็นเอกสารการค้าดิจิทัล อำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม จากเดิมที่ลูกค้าองค์กรของเอไอเอสต้องนำใบแจ้งค่าบริการไปชำระและรับใบเสร็จรับเงินหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องที่ศูนย์บริการ AIS หรือจุดรับวางบิลธุรกิจ สามารถชำระเงินข้ามธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ สะดวก ง่าย ไม่ต้องเดินทาง
อีกทั้งยังลดเวลาการทำงานของพนักงานในการตรวจสอบความถูกต้อง Reconcile เอกสารทางการค้า และรับชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม ตลอดจนสามารถรองรับการทำรายการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอัตโนมัติ (Krungthai e-Withholding Tax) โดยไม่ต้องออก 50 ทวิให้กับคู่ค้า การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
รวมถึงต่อยอดการใช้ข้อมูลไปยังธุรกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การให้สินเชื่อธุรกิจผ่านบริการ Digital Supply Chain Finance ซึ่งใช้ข้อมูลธุรกรรมการค้าบนระบบ PromptBIZ ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ ช่วยให้คู่ค้าของเอไอเอส โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น บนต้นทุนที่เหมาะสม ป้องกันการใช้ข้อมูลมาขอสินเชื่อซ้ำ (Double Financing) ตอบโจทย์การดำเนินงานของทั้ง 2 องค์กร ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Digital Economy