xs
xsm
sm
md
lg

‘ศุภมาส อิศรภักดี’ ชู “อว.” ยุคดิจิทัล ดึง AI เชื่อมหลักสูตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่อายุ 26 ปี จนปัจจุบันเดินเข้าสู่เลข 5 "ศุภมาส อิศรภักดี" ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้รับการโปรโมตขึ้นเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี (อว.) กระทรวงที่หมายมั่นปั้นมือให้เป็นอนาคตของประเทศ และเป็นความหวังของรัฐบาลชุดเศรษฐา ทวีสิน ดังนั้น การทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงนี้จึงต้องไม่ธรรมดา และต้องท่องให้ขึ้นใจว่า "มาทำงานรับใช้ชาติ"

หลังผ่านการนั่งบนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการมาได้ 4 เดือน "ศุภมาส" บนสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งนับเป็นความท้าทายของเธอผู้นี้ ที่นอกจากต้องตามให้ทันเทคโนโลยีแล้ว ขณะเดียวกัน ต้องตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้วย

ก่อนถึงรายละเอียดของการทำงาน ศุภมาสกล่าวถึงเป้าหมายที่ต้องการก่อน ว่า อยากทำการศึกษาของไทยในอนาคตให้เป็น Education 6.0 พร้อมกับเท้าความว่าเรารู้จักการศึกษาแรกเริ่มของไทยตั้งแต่ 1.0 เป็นเรื่องของการท่องจำ พอมายุค 2.0 เริ่มเป็นฝรั่งหน่อยหนึ่ง มีเรื่องความรู้นอกห้องเรียนเข้ามาเสริม ต่อมาเมื่อเข้ายุค 3.0 มีการเพิ่มประสบการณ์ของผู้เรียน แล้วพอมาถึงยุค 4.0 เป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในการเรียนการสอน เช่น มีคอมพิวเตอร์มาช่วย มีสมาร์ทบอร์ดมาช่วย

จนมาถึงวันนี้เป็นการศึกษายุค 5.0 คือการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและดิจิทัล "แต่จริงๆ แล้วการศึกษามีมากกว่านั้น หลังจากโซเชียลเน็ตเวิร์กและดิจิทัลแล้ว เราต้องเป็นการศึกษายุค 6.0 คือเรื่องของการเรียนรู้ แบบ "อิมเมอร์ซีฟ เอ็ดดูเคชั่น" (Immersive Education) เป็นการใช้เอไอ(AI) เมต้าเวิร์ส (Metaverse-เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อทุกการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ให้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว) สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว ในเมืองไทยหลักสูตรของเราต้องมาช่วยกันสร้างคนให้มีความรู้ทางด้านนี้ นี่เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น" รัฐมนตรี อว.กล่าว

ขณะเดียวกัน ความท้าทายของกระทรวง อว. เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่กล่าวมา "ศุภมาส" มองว่าเดี๋ยวนี้โลกเปลี่ยนเร็วมากเพราะเทคโนโลยี สมัยก่อนกว่าเทคโนโลยีแต่ละตัวจะเปลี่ยนได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี หรือบางทีก็ถึง 10 ปี

แต่เดี๋ยวนี้ชั่วข้ามคืนก็เปลี่ยนแล้ว เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถปรับตัว ปรับหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ทันสมัย เด็กจบออกมาแล้วทันกับโลกปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ใช่เรียนจบออกมาแล้วทำ AI ไม่เป็น ทำ Coding ไม่เป็น ดังนั้น มหาวิทยาลัยปัจจุบันจะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่สำหรับเด็กอายุ 18 ถึง 25 ปี แต่ต้องเป็นมหาวิทยาลัยของทุกช่วงวัยในคอนเซ็ปต์ lifelong learning คือสามารถเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้ตลอดชีวิต


"ฉะนั้น สิ่งที่เราเร่งทำในตอนนี้คือการตั้ง "เครดิต แบงก์" (credit bank) หรือธนาคารหน่วยกิต ระบบเครดิตแบงก์สามารถให้เด็กตั้งแต่ ม.6 เรียนวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยได้ ต่อไปไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยใน 4 ปีแล้ว อาจจะจบแค่ 2 ปีครึ่งหรือ 3 ปี ถือว่าเด็กเรียนจบเร็ว เป็นการลดภาระของทุกอย่างทั้งตัวเด็ก ผู้ปกครอง รวมทั้งลดภาระของประเทศด้วย นอกจากระบบเครดิตแบงก์จะทำให้เด็กเรียนจบเร็วแล้ว ยังสามารถทำให้เด็กเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ด้วย”

โดยได้เริ่มดำเนินการแล้วตอนนี้ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง เด็กที่เรียนคณะหนึ่งอยู่มหาวิทยาลัยหนึ่ง สามารถกระโดดไปเรียนอีกคณะหนึ่งในอีกมหาวิทยาลัยได้ แล้วเก็บสะสมหน่วยกิตเหมือนสะสมแต้มบัตรเครดิต ยกตัวอย่างเช่น นายสมชาย เรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ในบางวิชาอยากจะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ ที่จุฬาฯ ก็ไปลงเรียนคณะนิเทศศาสตร์ ระบบที่สร้างขึ้นมาจะยอมให้เอาคะแนนผลการเรียนที่คณะนิเทศฯ จุฬาฯ มาบันทึกไว้ที่มหิดลได้ แต่ละคนเรียนอะไรมา ก็เอาหน่วยกิตมาเข้าธนาคารไว้ เป็นเหมือนการสะสมแต้ม

แต่ละคนจะมีเหมือนสมุดบัญชีธนาคาร ประวัติส่วนตัวที่เรียนอะไรจบแล้วก็เอาหน่วยกิตมาใส่ไว้ การใส่หน่วยกิตเป็นระบบกลางของประเทศ สามารถประมวลผลได้ว่าคนคนนี้มีความพร้อมขนาดไหนในเรื่องความสามารถแต่ละด้าน เช่น ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ หรือความสามารถทางด้านการจัดการการเงิน มีความรู้พร้อมแล้วด้านกฎหมายหรือด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับตัวเรา ถ้าจะไปทำงาน บริษัทหรือหน่วยงานราชการสามารถบอกได้ว่าเป็นคนที่มีคุณสมบัติตามที่เขาต้องการหรือไม่

นอกจากนี้ ธนาคารหน่วยกิตยังสามารถทำให้รู้ได้เลยว่าคนไทยที่ชำนาญเรื่องคอมพิวเตอร์มีกี่คน ซึ่งแต่เดิมไม่รู้เลย ต้องไปสอบถามแต่ละมหาวิทยาลัยให้ส่งข้อมูลให้ แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ระบบสามารถประมวลข้อมูลได้เลย หรือเวลามีบริษัทต่างชาติมาลงทุนในไทย เขาต้องการวิศวกรคอมพิวเตอร์ 40 คน เราสามารถเช็กได้เลยว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง และยังสามารถบอกได้ว่าคนคนนี้มีงานทำหรือยัง เพราะเชื่อมโยงกับประกันสังคมได้เลย" รัฐมนตรีศุภมาสอธิบาย พร้อมกับบอกว่าธนาคารหน่วยกิตจะเริ่มดำเนินการในเทอมหนึ่งของปีการศึกษา 2567 ประมาณเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งขณะนี้ได้มีการแก้มาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อรองรับเรื่องนี้แล้ว

ระบบต่อมาที่ต้องทำ คือ สกิล ทรานสคริปต์ (Skill transcript) เพื่อที่จะสามารถใช้ไปสมัครงานชั่วคราวืหรืองานพาร์ตไทม์ (part time) ได้ ทำให้เกิดการส่งเสริมรายได้ สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่จำเป็นต้องรอให้เรียนจบแล้วจึงไปสมัครงาน สกิลทรานสคริปต์เป็นอาจจะเป็นศัพท์ใหม่แต่ว่าฟังแล้วก็เข้าใจง่าย

ทุกอย่างมันจะทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา ฟังดูยากไม่น่าเป็นไปได้ แต่มันคือการปฏิรูป เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เด็กเรียนจบกี่ปีก็ได้ เรียนที่ไหนก็ได้ เรียนออนไลน์ก็ได้ เรียนจากแพลตฟอร์มไหนก็ได้ อายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ ไม่ถูกจำกัด พ่อแม่ก็เรียนได้ ทุกคนช่วยกันหารายได้ โลกจะเปลี่ยน

อย่างไรก็ตาม ที่ขาดไม่ได้ของโลกอนาคต ศุภมาส บอกว่าคือสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีจิตสำนึกเรื่องของอีวี (EV) เพราะอีวี (Electric Vehicle) เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และยังมีปรากฏการณ์เรือนกระจกคาร์บอนอินดรัสตรี พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกอนาคตที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองอยากให้ช่วยกันให้ร่วมมือกัน ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้

"ความตั้งใจจริงของดิฉันคืออยากเห็นประเทศชาติขับเคลื่อนด้วยการศึกษา ด้วยอุดมศึกษา ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราจะทำงานเป็น อว.ยุคใหม่เพื่ออนาคตประเทศไทย อยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เติบโตเข้าสู่การทำงานอย่างมีคุณภาพ และเก่งกว่าคนรุ่นเรา"


กำลังโหลดความคิดเห็น