xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทราบแนวทางการดำเนินโครงการ Coding for Better Life ขับเคลื่อนโมเดลพัฒนากำลังคนดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกฯ “รัดเกล้า” เผย ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ

วันนี้ (9 ม.ค.) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อผู้เรียน และใช้ระบบเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ จัดทำหลักสูตร และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (9 มกราคม 2567) ได้รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ได้ดำเนินโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว โดยขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน ซึ่งในแผนงานระยะสั้น ดศ. ได้ดำเนินการ Global Digital Talent Visa หรือการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวกรณีพิเศษสำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนสามารถเข้ามาพำนัก และทำงานในประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ส่วนแผนงานระยะยาว ดศ. ได้เตรียมแผนงานที่จะรองรับ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้และทักษะดิจิทัลแก่ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกระดับ ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ที่ต้องมีความรู้พื้นฐานด้าน Coding แรงงานต้องได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลชั้นสูง อาทิ AI, Machine Learning, Internet of Things และ Cloud Computing Software

โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ดำเนินการใน 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย

1. การยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้ง (Develop Coding Infrastructure) โดยตั้งเป้าดำเนินการในโรงเรียนทั่วประเทศรวม 1,500 แห่ง โดยเปิดกว้างให้โรงเรียนที่สนใจและมีความพร้อมสมัครเข้าร่วมโครงการในรูปแบบร่วมมือพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง

2. การจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้ง พร้อมเสริมทักษะการสอนแก่คุณครู (Coding Coach Incubation) Re-Skill Up-skill คุณครูสู่การเป็น Coding Coach โดยตั้งเป้าเสริมทักษะการสอนแก่ครูไม่น้อยกว่า 3,000 คน เพื่อเป็นบุคลากรสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถยกระดับทักษะโค้ดดิ้งให้กับนักเรียนได้ไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อปี

3. การเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Acceleration Through Coding Challenge) โดยส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการระดมครูผู้สอนและนักเรียนร่วมเติมทักษะโค้ดดิ้งเข้มข้นผ่าน 2 กิจกรรม ได้แก่

- Coding Bootcamp สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะโค้ดดิ้งผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานโค้ดดิ้ง
- Coding War เวทีการแข่งขันโค้ดดิ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นร่วมระดมความคิด สร้างสรรค์ผลงานเพื่อก้าวสู่การเป็นสุดยอดทีมโค้ดดิ้ง

4. การสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งและการประยุกต์ใช้จริงแก่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป (Awareness Coding Thailand) เพื่อต่อยอดการนำความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้งมาใช้ในบริบทต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม การดำเนินธุรกิจ ฯลฯ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง Coding เปิดโอกาสผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้พิการทางร่างกายที่ความสนใจ ให้สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนโค้ดดิ้งได้

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับแรงกระแทกของอุตสาหกรรมโลกใหม่ผ่านการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล รองรับความต้องการของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น