xs
xsm
sm
md
lg

TKC จับมือมูลนิธิณัฐภูมิ ปั้น ‘เกษตรกรอัจฉริยะ’ ต้นแบบ ‘สมาร์ทฟาร์มมิ่ง’ ที่ลำปาง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศเหนือราว 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของตำบลนิคมพัฒนา แม้จะเป็นช่วงฤดูหนาว แต่ความร้อนแล้งของอากาศส่งผลให้สภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อมต้นไม้ใบหญ้ากลายเป็นสีน้ำตาล ขบวนรถตู้วิ่งไปตามถนนชลประทาน มุ่งหน้าสู่ ‘มูลนิธิณัฐภูมิ’ ในตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ซึ่งมีการจัดงาน ‘โครงการอบรมเกษตรกรอัจฉริยะ’ รุ่นที่ 1 เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ TKC และมูลนิธิณัฐภูมิ ของ ‘ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย’ เจ้าของบริษัท ทีเคไอ เพอร์เพชชวล จำกัด ผู้แทนจำหน่ายนาฬิกาหรู ‘ปาเต็ก ฟิลิปป์’

โครงการอบรมเกษตรกรอัจฉริยะ รุ่นที่ 1 ของ TKC เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน โดยจัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) แก่เกษตรกรของมูลนิธิฯ ตามเป้าหมายสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ นำเทคโนโลยีช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น นำเทคโนโลยีมาแก้ไขและพัฒนากระบวนการทำงานของเกษตรกร และเกษตรกรต้องมีต้นทุนในการทำเกษตรที่ลดลง




โครงการอบรมครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องที่เพิ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีจำนวนผู้เข้ารับการอบรม 30 คน ใช้ระยะเวลา 2 วัน เมื่อผ่านการอบรมแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับใบเกียรติบัตรรับรองความรู้และการใช้เทคโนโลยีเป็น สำหรับเนื้อหาของการอบรม มีวิศวกรมาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติแก่เกษตรกรให้นำไปใช้ในการเพาะปลูกด้วยตัวเอง เช่น ระบบควบคุมการจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติในโรงเรือนเพาะปลูกโดยมี ‘กล่องอัจฉริยะ’ เป็นอุปกรณ์ควบคุมการทำงานต่างๆ ทั้งเรื่องการให้น้ำ ให้ปุ๋ย การพ่นหมอกให้ความชื้น

เมื่อเกษตรกรมีความรู้จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกของตนเอง เช่น ช่วยแก้ไขปัญหาลดสารพิษหรือยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้พืชผักผลไม้ปลอดสารพิษ ทั้งยังช่วยลดต้นทุน ลดการใช้แรงงานคน และเพิ่มผลผลิตด้วย


นอกจากนี้ ยังมีการสอนและสาธิตการใช้โดรนในการหว่านเมล็ดพืชและให้สารชีวภาพยาฆ่าแมลงในแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่ด้วยและเพื่อเป็นการขยายความรู้ในวงกว้าง TKC ยังได้คัดเลือกผู้ที่มีความโดดเด่นในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี จำนวน 3 คน ปั้นเป็น ‘Mr.& Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ’ เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดการใช้เทคโนโลยี IoT ให้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ต่อไปโดย TKC จะมีนักวิชาการเฝ้าติดตามและลงไปประเมินผลการใช้เทคโนโลยีถึงบ้านเกษตรกรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ บริเวณลานด้านหน้าของมูลนิธิฯ ถูกปรับแต่งเป็นห้องประชุมแบบธรรมชาติ สมาชิกของมูลนิธิฯ และชาวบ้านเครือข่ายจากอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เข้าประจำที่นั่งรอฟังบรรยายจาก ‘วีรชาติ เขื่อนรัตน์’ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งบรรยายเรื่องการทำโครงการสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (Smart Farming) มีเนื้อหาโดยสรุปว่าหากจะเริ่มต้นทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง หรือเกษตรสมัยใหม่

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ค้นหาตัวตนให้เจอว่ามีความชำนาญหรือมีพื้นฐานในการทำการเกษตรหรือไม่ เหตุผลเพราะการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งไม่ได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป สามารถหาความรู้พื้นฐานได้จากในยูทูบหรือติ๊กต็อก ข้อต่อมาคือต้องมองโลกให้เป็นทุกวันนี้มีทางลัดไปสู่ความสำเร็จมากมาย ต้องดูให้ออกว่าทิศทางของโลกไปในทางไหน

สุดท้ายจึงมาออกแบบสิ่งที่ใช่และสิ่งที่ชอบ นั่นคือตัวตนของเรา ซึ่งทิศทางในอนาคตของการเกษตรคือสินค้าเกษตรชีวภาพ หมายถึงการเกษตรที่ใช้ทรัพยากรคุณภาพชีวิตและทุนมนุษย์ที่ดีที่สุดปราศจากสารพิษหรือสารเคมี

‘วันนี้มูลนิธิณัฐภูมิ และ TKC มีเป้าหมายเป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ คือ อยากจะพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการทำการเกษตรให้ได้อย่างยั่งยืน มีผลผลิตที่ดีปลอดสารพิษ และมีกำไร และที่สำคัญที่สุดคือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น’

วีรชาติ แนะนำ 2 แนวคิดสำหรับคนที่อยากทำสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ว่าสิ่งแรกถ้าเข้าไม่ถึงข้อมูลจะใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพราะอุปกรณ์ IoT แต่ละชุดราคาแพงมาก เนื่องจากเป็นระยะเริ่มต้นของการพัฒนาอุปกรณ์ แต่ถ้าต่อไปราคาอาจถูกลง ดังนั้น ต้องหาฐานข้อมูลหรือดาต้าเบสซึ่งมีมากมายที่จะช่วยลดต้นทุนได้ และถ้ามีความพยายามก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนได้เช่นกัน เช่น สามารถค้นหาเครือข่ายที่รู้จักและไปเรียนรู้ได้ ต่อมาคือเปลี่ยนความคิดทั้งหมดที่เป็นความเชื่อให้เป็นวิชาการ นำทักษะที่ได้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ใช้ได้จริง


หลังการบรรยายจึงเริ่มพิธีแจกใบเกียรติบัตร ซึ่งในจำนวนทั้งหมดมีผู้ได้รับคัดเลือกเป็น ‘Mr.& Miss IoT’ เกษตรกรอัจฉริยะที่สามารถใช้อุปกรณ์ IoT ได้อย่างเชี่ยวชาญจำนวน 3 คน ซึ่งได้รับกล่องอัจฉริยะ IoT Kids เป็นรางวัล

‘ดวงหทัย ศรีชัยวงศ์’ อายุ 32 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ‘Mr.& Miss IoT เกษตรกรอัจฉริยะ’ เปิดใจว่าพื้นฐานที่บ้านพ่อแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ส่วนตัวเองเป็นแม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูก ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน แต่สามีทำงานที่มูลนิธิณัฐภูมิ เมื่อรายได้ไม่พอใช้จ่ายสามีจึงชวนมาทำงานด้วยกันได้ค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท โดยทำหน้าที่ปลูกผัก ดายหญ้า รดน้ำ ทำน้ำหมัก

เมื่อ TKC เปิดโครงการอบรมเทคโนโลยีจึงมาสมัครเพราะอยากลองดูว่าเรียนได้หรือไม่ พอมาเรียนแล้วเห็นว่าไม่ยาก ในการอบรมมีฝึกบินโดรนด้วยก็อยากฝึกเพราะมีครูสอนบิน

‘แรกๆ ไม่นึกว่าจะทำได้ ไม่กล้าบินกลัวทำโดรนตกเพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่พอฝึกไปฝึกมาใช้เวลา 2 วันก็บินได้แล้ว ระหว่างฝึกเห็นได้เลยว่าโดรนมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ ถ้าใช้คนรดน้ำหรือพ่นยาฆ่าแมลงจะเหนื่อยมาก แล้วยังเดินได้ไม่ทั่วถึง ที่สำคัญค่าจ้างแพงมากอย่างพ่นยาฆ่าแมลงไร่ละ 1,200 บาทต่อไร่ แต่ถ้าใช้โดรนของมูลนิธิใช้ฟรีไม่ต้องเสียเงิน’

ดวงหทัย บอกว่า ได้เรียนรู้สำเร็จแล้วรู้สึกพอใจมาก คิดว่าหลังจากนี้ถ้าใครอยากใช้โดรนพ่นยาฆ่าแมลงหรือใส่ปุ๋ย สามารถมาติดต่อได้ที่มูลนิธิณัฐภูมิ เธอเป็นคนหนึ่งที่เต็มใจไปช่วยเหลือ เพราะพื้นที่เพาะปลูกบริเวณนิคมพัฒนาส่วนมากเป็นไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง มีพื้นที่กว้างขวาง หากใช้แรงงานคนไม่สามารถเดินได้ทั่วถึงและไม่ละเอียด โดรนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้การทำงานได้เร็ว ลดแรงงานคน และลดต้นทุนในการทำเกษตร

***TKC ปลดล็อกเกษตรกร


‘สยาม เตียวตรานนท์’ กรรมการผู้จัดการ TKC ผู้เป็นต้นคิดในการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเกษตรกรของมูลนิธิณัฐภูมิ กล่าวว่าหลักๆ เป้าหมายคืออยากเข้ามาช่วยเกษตรกรลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ในการทำการเกษตรที่ยุ่งยากให้มีการทำงานง่ายขึ้น ช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ต่อแปลงมีมูลค่ามากขึ้น ท้ายสุดอยากลดต้นทุนของการทำเกษตรโดยเทคโนโลยีที่นำมามีทั้งระบบน้ำ ระบบจำหน่ายปุ๋ย ระบบโซลาร์เซลล์ โดรนช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ ล่าสุด ระบบที่เป็น IoT วัดความชื้น การจ่ายน้ำ จ่ายปุ๋ย ถ้าทุกอย่างทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เชื่อว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีกำไรเกิดขึ้น

‘แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องติดตามร่วมกับมูลนิธิ คือการจัดโครงการอบรมเกษตรกรอัจฉริยะ ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะทำให้เกษตรกรเข้าใจระบบ IoT และนำไปใช้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย แต่การอบรมและพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่องร่วมกับเกษตรกร เชื่อว่าความตั้งใจจริงของ TKC ในการทำโครงการนี้จะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มากขึ้น รายได้ดีขึ้น และท้ายสุดมีกำไรมากขึ้น’

สยาม กล่าวด้วยว่า การลงทุนในโครงการนี้ TKC ใช้งบประมาณ 7-12 ล้านบาทต่อปี จึงอยากทำที่ลำปางให้ได้ผลลัพธ์จริงจังและจับต้องได้ก่อนกระจายไปยังที่อื่นๆ ต่อไป


‘จะทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งได้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานคืออินเทอร์เน็ต น้ำ และฝาย เพราะระบบ IoT ถ้าโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อม ที่เหลือคือตัวบุคคล คือเกษตรกร ซึ่งเราต้องให้ความรู้ทำให้เข้าใจเทคโนโลยี เปลี่ยนมายเซ็ตให้เห็นขบวนการทั้งหมดที่ไม่เหมือนเกษตรแบบดั้งเดิม แต่มีรายได้มากขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น ท้ายสุดเขาจะมีกำไรมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างในการนำร่องทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้เทคโนโลยีและใช้เทคโนโลยีเป็น ซึ่งต่อไปในอนาคตถ้าประสบความสำเร็จในโครงการนำร่อง จะมีการจัดอบรมคนให้มากขึ้นใหญ่ขึ้นเป็นหลักร้อยคน แล้วเฟสต่อไปอาจจะมีการขยายเข้าไปในหมู่บ้านให้มีปริมาณคนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีอิมแพกต์ในหมู่บ้านมากขึ้น สุดท้ายก็เป็นสมาร์ทวิลเลจ นอกจากชาวบ้าน เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีแล้วยังมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายผลผลิต เราจะทำให้จับต้องได้จริง ซึ่งอาจจะยาก แต่ผมว่าทำได้’

ขณะที่ ‘ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย’ ประธานกรรมการบริษัท ทีเคไอ เพอร์เพชชวล จำกัดในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิณัฐภูมิ กล่าวว่า มูลนิธิณัฐภูมิ มุ่งมั่นและตั้งใจช่วยเหลือชุมชนชาวตำบลนิคมพัฒนา เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงมุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนนำไปสู่ความสมดุลในทุกมิติ

‘ไม่มีการให้ใดๆ ดีกว่าการให้ความรู้ อาชีพ ให้โอกาส ให้ความรู้ด้านสุขภาพ ให้ความยุติธรรม และให้สำคัญที่สุดคือ ให้ธรรมะ ให้มโนธรรม จริยธรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งอภัยทานภูมิปัญญาไทยมีให้เรียนรู้ แจกความรู้วิชาชีพ วิชาชีวิต เครื่องมือหากิน เช่น เบ็ดตกปลาย่อมดีกว่าแจกปลา’

แม้ว่าวันนี้พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของจังหวัดลำปาง เกษตรกรส่วนมากยังใช้สารเคมีปลูกพืชผักและผลไม้จนกลายเป็นภาวะสารพิษตกค้างในร่างกาย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่อนาคตข้างหน้าปัญหานี้จะหมดไป กลายเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย และความตั้งใจจริงในการทำงานที่จะทำให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น