ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เดินสายเป็นเซลล์แมนเร่ขายฝันแบบไม่พัก ส่วนจะมีใคร “ซื้อ” หรือไม่คงต้องรออีกสักระยะว่าจะมีความร่วมมือและมีนักธุรกิจหน้าใหม่เข้ามาลงทุนตามคำเชิญชวนของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือไม่
ในช่วงเวลาสองเดือนกว่าที่นายกรัฐมนตรีสวมบท “เซลล์แมนประเทศไทย” เดินทางโชว์วิสัยทัศน์ พบปะผู้นำชาติมหาอำนาจและประเทศพันธมิตรทั้งตะวันตกและตะวันออก เพื่อบอกกับนานาชาติว่าประเทศไทยเปิดแล้ว และประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนในทุกด้าน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีของไทย ขึ้นโพเดี้ยมกล่าวปาฐกถาในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (APEC CEO Summit 2023) ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week: AELW) ประจําปี 2566 ด้วยการเน้นย้ำไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ โดยเสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย
ด้านความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งปี 2566 ไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index และเป็นที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยจึงมุ่งเน้นการต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 พร้อมส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability -Linked Bonds)
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีความพร้อมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป้าหมายการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด โดยจะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว เช่น การให้สิทธิพิเศษการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ หลักสูตรการพัฒนาแรงงาน และการขยายโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ เป็นต้น
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เช่น generative AI, Blockchain และ Internet of Things (IoT) รัฐบาลไทยกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนเพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับทักษะด้านดิจิทัลของประเทศ
ด้านการค้าและการลงทุน เอเปคมีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค การค้าทั่วทั้ง APEC เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าภายในสองทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001 เป็นกว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงเศรษฐกิจร่วมกัน และเปิดโอกาสทางการค้า การลงทุนใหม่ ๆ ให้กับพันธมิตร
นอกจากนั้น ไทยยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อทางกายภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสนามบินหลายแห่ง และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเลเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
ภายใต้เป้าหมายสำคัญทั้ง 3 ด้าน เสียงตอบรับที่ชัดเจนยังต้องรอ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ที่นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งใจไปโรดโชว์ในระหว่างประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2023 วันที่ 12-19 พฤศจิกายนนี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุน
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี บอกว่า การสัมมนาโครงการแลนด์บริดจ์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ถือเป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญโดยมีการพูดคุยกับนักลงทุนสหรัฐฯ 50 คน และนักลงทุนไทย 30 คน ว่า คจะสามารถจับคู่ทางธุรกิจร่วมกันได้อย่างไรในอนาคต คาดว่าโครงการนี้จะมีความชัดเจนใน 24 เดือน เอกชนที่ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับโครงการแลนด์บริดจ์ ยังคงมีคำถามหลายประเด็นที่ไทยต้องทำการบ้านเพื่อตอบคำถามโดยเฉพาะเรื่องของขนาดลงทุนเป็นเท่าไหร่
ส่วนพบกับบริษัท HP ได้หารือเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและด้านศุลกากร เพราะต้องการความคล่องตัวเนื่องจากอยากจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทย โดยบริษัทอยากจะประกาศขยายกำลังการผลิตให้ได้ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ ทางซีอีโอของบริษัทจะมาพบกับ “นายกฯ เศรษฐา” อีกครั้ง คาดว่าจะจบได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ขณะเดียวกัน บริษัท ADI มีความสนใจที่จะมาเปิดโรงงานในประเทศไทยเช่นกัน คาดว่าน่าจะตกลงกันได้ในเร็ววันนี้
ส่วนค่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่แสดงความสนใจว่าจะเข้ามาลงทุนในไทย นายกรัฐมนตรีไทย คาดว่าเทสล่าจะตัดสินใจชัดเจนในไตรมาสแรกปี 2567 และเจ้าหน้าที่เทสล่าจะเดินทางมาไทยเพื่อดูที่ตั้งโรงงานซึ่งเอกชนไทยเป็นผู้เสนอ จำนวน 3 แห่ง
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่เยือนสหรัฐฯ มีสองส่วนคือ พบปะผู้บริหารของบริษัทเป้าหมายในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการนำผู้ประกอบการไทย 20 คน ไปพบบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ โดยเชิญ 80 บริษัทมาพบปะพูดคุยกัน เช่น การพบปะของบริษัท 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่น เทสลา เพื่อติดตามผลจากการพบกันครั้งก่อนที่นิวยอร์ก
ส่วนด้านดิจิทัล พบกับบริษัทสำคัญ เช่น AWS (แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส), Google, ไมโครซอฟท์ โดยแอมะซอน ประกาศร่วมลงทุนในไทยต้นปีหน้าเกือบ 200,000 ล้านบาท ส่วน Google และไมโครซอฟท์ เคยพบกันที่นิวยอร์กจะดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาตั้งฐาน data center และคลาวด์ เซอร์วิสในไทย เพื่อช่วยยกระดับดิจิทัล อินฟอร์เมชัน และการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล
ขณะที่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ พบบริษัท ADI, HP ที่สนใจไทย เพราะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ายุทธศาสตร์ที่ทั่วโลกต้องการดึงให้ไปผลิตที่ประเทศตัวเอง โดยเฉพาะสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม
เรียกได้ว่าการไปสหรัฐฯ คราวนี้ ทีมนายกรัฐมนตรีไทย ตั้งความหวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเอาไว้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
ไม่เพียงการออนทัวร์ครั้งนี้เท่านั้นที่ “เซลล์แมนประเทศไทย” ไปเร่ขายฝัน ในช่วง 60 วัน จากนโยบายสู่การลงมือทำจริงภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็อวดผลงานในวันออกรายการพิเศษ “Chance of Possibility” เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
โดยในส่วนของการดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์สำคัญของโลกนั้น ในภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลได้ให้วีซ่าฟรีกับชาวจีน ไต้หวัน และอินเดีย รวมถึงคาซัคสถาน และยังได้ยกเว้นยื่นแบบ ตม.6 ผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นการชั่วคราวรองรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และเร่งอำนวยความสะดวกให้กับชาวรัสเซียที่ต้องการพักผ่อนอยู่ในประเทศไทยเกิน 30 วัน เพื่อดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น
สำหรับด้านคมนาคม นายเศรษฐา เผยว่า รัฐบาลได้เข้าร่วมประชุมที่เมืองปักกิ่ง ของประเทศจีน เป็นครั้งที่ 3 ได้พูดคุยถึงประเด็นโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาค ซึ่งเป็นดำริของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง 10 ปีแล้ว โดยประเทศที่อยู่ในแผนงานได้ยืนยันตามเจตนารมณ์ในการเดินหน้าต่อพัฒนาโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนเรื่องเรือดำน้ำและเรือฟริเกต กองทัพเรือกำลังเดินหน้าเจรจากับจีน โดยเรือดำน้ำ แม้ว่าสัญญาซื้อจากจีนจะมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ แต่ทางรัฐบาลไทยยังไม่ยกเลิกสัญญาและอยู่ระหว่างเจรจากัน ขณะที่เรือฟริเกตลำใหม่ราชนาวีไทยเล็งซื้อจากจีน
สำหรับการเยือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เมื่อเดือนกันยายน 2566 แม้จะไม่มีวาระอย่างเป็นทางการเรื่องการเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานร่วมกัน แต่หลังจากนายกรัฐมนตรี กลับมา มีความเคลื่อนไหวจากกระทรวงพลังงาน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอปรับแนวการเจรจากับกัมพูชาโดยจะต้องแยกเรื่องเขตแดนและเรื่องพลังงานออกจากกัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้นำในการเจรจาเรื่องการใช้ประโยชน์และการพัฒนาพลังงานปิโตรเลียม พร้อมกับเสนอตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกันทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา เข้าไปมีหุ้นส่วน
รอติดตามดูผลงานการขายของ “เซลล์แมนประเทศไทย” กันต่อไปว่าจะทำยอดได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นแต่เพียงคำคุยโม้เท่านั้น