xs
xsm
sm
md
lg

Pangu AI จากจีนสู่ไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยทีเดียวสำหรับงานประชุม Huawei Cloud AI Summit Thailand 2023 ที่มีการโชว์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ล้ำสมัยของหัวเว่ยในเวอร์ชันสั่งตัดสำหรับประเทศไทย ทั้งโมเดลสำหรับภาษาไทย ระบบพยากรณ์สภาพอากาศ และระบบ AI สำหรับรัฐบาล รวมถึงโซลูชัน AI สำหรับภาคการเงินและภาคค้าปลีก

แม้ว่าทั้งหมดจะยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่มีการประกาศกรอบเวลาใช้งานจริงในขณะนี้ แต่สัญญาณที่เกิดขึ้นแปลว่าชาวไทยกำลังจะได้สัมผัสกับ “ผานกู่ โมเดล 3.0” (Pangu Model 3.0) ซึ่งหัวเว่ยเชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยี AI ใหม่ที่พลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมโลก โดยที่ผ่านมา Pangu ได้ส่งโมเดลการพยากรณ์อากาศไปใช้งานที่ยุโรป และสามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ ภายในเวลาเพียง 10 วินาที ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง

สำหรับประเทศไทย “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำว่า หัวเว่ย คลาวด์ได้เร่งจับมือกับพันธมิตรไทยเพื่อสร้างเครื่องมือภาษาไทยบนข้อมูลของประเทศไทย โดย Pangu เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมุ่งลงทุนสร้างอีโคซิสเต็มคลาวด์และเสริมประสิทธิภาพในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้งาน AI อย่างแพร่หลาย นำไปสู่ประโยชน์ต่อทั้งคนไทยและส่งเสริมความก้าวหน้าทางดิจิทัลของประเทศ

“AI กำลังพัฒนาจากการใช้ในผู้บริโภค มาสู่การใช้ในองค์กรและอุตสาหกรรมเฉพาะทาง หัวเว่ยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปพลิเคชัน AI สำหรับอุตสาหกรรม ดังนั้น Pangu จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในองค์กร เพื่อช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถเสริมความอัจฉริยะให้ข้อมูล”

***จุดต่าง AI จากหัวเว่ย

Pangu ถูกวางตัวให้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ AI ของหัวเว่ยมีจุดต่างจากคู่แข่งในตลาด ทั้งด้านการให้ความสำคัญกับธุรกิจในพื้นที่และการลงลึกในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ดังนั้น สิ่งที่หัวเว่ยมองจึงไม่ใช่ตลาดคอนซูเมอร์ แต่เป็นการสร้างเครื่องมือภาษาไทยเพื่อคนไทยและอุตสาหกรรมไทย

เดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด
หัวเว่ยระบุว่าโมเดลภาษาไทยนั้นผ่านการฝึกฝนด้วยคลังข้อมูลของ AI ในภาษาไทย แล้วผสมผสานความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมของหัวเว่ยที่สะสมมากว่า 3 ทศวรรษ ทำให้เกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยการเรียนรู้ข้อมูลภาษาไทยจำนวนมาก เชื่อว่าการพัฒนานี้จะช่วยกำจัดอุปสรรคในการเข้าถึงโมเดลพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนจากผู้ใช้ AI เป็นผู้สร้าง AI ได้

ตัวอย่างโมเดลภาษาไทยที่หัวเว่ยนำมาโชว์ พบว่าสามารถตอบคำถามเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัลเป็นภาษาไทย มีการยกตัวอย่างประกอบความเข้าใจ ภาษาที่ใช้นั้นมีความเป็นทางการในสไตล์คำตอบจากเว็บไซต์ภาครัฐ

ในด้านอุตุนิยมวิทยา หัวเว่ย คลาวด์ ได้ร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย พัฒนาโมเดลพยากรณ์อากาศ Pangu สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยวของไทยในเชิงลึกยิ่งขึ้น

หัวเว่ยเชื่อว่าโมเดล Pangu เหนือกว่าการพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลข (numerical weather prediction - NWP) ที่ได้รับการพัฒนาล่าสุด โดยความเร็วในการพยากรณ์มีหลายระดับและรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา การพยากรณ์เส้นทางของพายุไต้ฝุ่นในช่วง 10 วันข้างหน้า ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง แต่ด้วยโมเดลพยากรณ์อากาศ Pangu สามารถทำได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ทั้งหมดเป็นผลจากการประมวลข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางชั้นบรรยากาศที่มีการจัดเก็บเอาไว้จำนวนมหาศาล ทำให้สามารถพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศได้แม่นยำ

Pangu AI ภาษาไทย
เหตุใดระบบพยากรณ์อากาศนี้จึงถูกคาดหวังว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลในไทย คำตอบคือประเทศไทยมีพื้นที่ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ดังนั้น Pangu จึงช่วยให้ประเทศไทยพยากรณ์วิกฤตการทางสภาพอากาศและช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบบนี้ได้ช่วยพยากรณ์การเกิดไต้ฝุ่นมาวาร์ ได้อย่างแม่นยำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ตอกย้ำถึงความสามารถและประโยชน์ของการนำไปใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ 



***ช่วยภาครัฐทำงานไวขึ้น

สำหรับภาครัฐ หัวเว่ย คลาวด์ กำลังเดินหน้านำเสนอความอัจฉริยะในกระบวนการทำงานของรัฐบาลและภาคการปกครองเต็มรูปแบบตั้งแต่การรับรู้ การทำความเข้าใจ ไปจนถึงการจัดการ และการตัดสินใจบนการวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นในประเทศ

หัวเว่ยเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้คำร้องหรือหนังสือแจ้งเจ้าหน้าที่ของประชาชนจะได้รับการมอบหมายโดยอัตโนมัติและจัดการได้ตลอดเวลา ทำให้รัฐบาลสามารถมอบบริการที่มีคุณภาพสูงโดยไม่ต้องกังวลเรื่องขาดแคลนบุคลากร

นอกจากภาครัฐ หัวเว่ยยังหมายตากลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเดินรถระบบรางที่มีการยกกรณีศึกษาว่าระบบ Pangu Railway Model สามารถยกระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพการเดินรถไฟบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งก่อนหน้านี้ ระบบการตรวจจับความผิดปกติโดยการใช้ระบบตรวจจับแบบเดิม หรือ Train Freight Detection Systems (TFDS) นั้นต้องใช้แรงงานคน นำไปสู่การขาดประสิทธิภาพ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูง

“เมื่อนำระบบการเดินรถระบบรางของ Pangu มาใช้งาน ขั้นตอนการตรวจจับได้รับการยกระดับใหม่ โดยสามารถตรวจจับความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ถึง 442 ประเภท โดยสามารถตรวจจับความผิดปกติที่ร้ายแรงได้มากกว่า 99.99% และตรวจจับความปกติในระดับทั่วไปได้มากกว่า 98%”

Pangu Model 3.0 กับโมเดลพยากรณ์อากาศ และโมเดลบริหารงานรัฐบาล
นอกจากนี้ Pangu ยังสามารถนำมาใช้เพื่อกำกับขั้นตอนการทำงานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเหมืองอีกด้วย โดยอุตสาหกรรมเหมืองในรูปแบบดั้งเดิมนั้นถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง รวมทั้งต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และมีความท้าทายทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหมืองได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน

เมื่อมีการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเพื่อเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นแล้ว Pangu จะสามารถเรียนรู้สถานการณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมเหมืองได้กว่า 1,000 สถานการณ์ย่อยด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะเหมือง ไปจนถึงการควบคุมเครื่องมือ การขนส่ง และการสื่อสาร ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการทำงานของทุกภาคส่วนในกระบวนการทำเหมืองถ่านหิน

ความสามารถเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะ Pangu Model 3.0 นั้นประกอบด้วย 3 ด้านศักยภาพหลัก ตั้งแต่การพยากรณ์อากาศ การพัฒนาสูตรยา และการรองรับอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็ทำงานได้หมดทั้งการตรวจจับข้อมูลทางการเงิน การตรวจสอบไฟล์ข้อมูล หรือการพยากรณ์คลื่นลมทางทะเล ทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนและการจัดการงานเฉพาะทางต่างๆ ด้วยความแม่นยำในสเกลขนาดใหญ่

Pangu AI จากจีนสู่ไทย จึงมีโอกาสพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมอย่างน่าจับตามอง


กำลังโหลดความคิดเห็น