หัวเว่ย (Huawei) กระตุ้นองค์กรไทยเตรียมพร้อมแสดงวิสัยทัศน์นวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอัจฉริยะแห่งอนาคต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเติมเงินสะพัดกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ทั่วโลก
นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย ภายในงานสัมมนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยด้วยนวัตกรรม” (Innovation Driving Thai for the New Future) ว่าหากไทยเป็นประเทศที่ต้องการบรรลุเป้าหมายไปสู่ยุคอัจฉริยะแห่งอนาคต สิ่งแรกที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีและบุคลากร ทั้งนี้ แม้ว่าสังคมไทยจะเปิดรับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ แต่ประเทศไทยกลับมีบริษัทและสำนักงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว
“จากผลวิจัยโดยองค์กรอิสระด้านการวิจัย เมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรม เช่น สุขภาพ การศึกษา การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการธนาคาร จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากนวัตกรรมอย่าง AI ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มอีกกว่า 2.6 ถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐให้จีดีพีโลก ดังนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมต่อนวัตกรรมเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์จากยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศยิ่งขึ้น หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ได้บูรณาการ AI เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของประเทศให้ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพทางการผลิตที่เพิ่มขึ้น พร้อมๆ กับการส่งเสริมการเติบโตในด้านใหม่ๆ ให้ประเทศ และประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและผู้ผลิตเทคโนโลยีระดับสูงในภูมิภาคนี้ได้เช่นกัน”
หลี่มองว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเมื่อนวัตกรรมดิจิทัลล้ำยุคอย่าง AI ถูกนำมาใช้โดยหน่วยงานภาครัฐและอุตสาหกรรมต่างๆ กันมากขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้มาใช้งานในหลากหลายรูปแบบ นำไปสู่ประสิทธิภาพที่เยี่ยมยอดยิ่งขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางดิจิทัล และกลายเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนและบ่งชี้การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือ นวัตกรรมเหล่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรอีกบ้าง และประเทศไทยพร้อมจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเหล่านี้หรือยัง?
***หรือไทยไม่พร้อม?
จากรายงานสมุดปกขาวเกี่ยวกับบุคลากรทางด้านดิจิทัลของประเทศไทย ประจำปี 2565 (Thailand National Digital Talent White Paper 2022) พบว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยในโลกดิจิทัลมีอัตราสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตต่างๆ รวมไปถึงความนิยมในการใช้งานโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม มีประชากรเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงานหรือในสถานที่ทำงาน และมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถสร้างเครื่องมือดิจิทัลได้เองหรือสามารถพัฒนา use case ใหม่ได้
ตัวเลขดังกล่าวยังคงห่างจากเกณฑ์มาตรฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่มาก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมถึงบุคลากรของประเทศยังต้องการการพัฒนาศักยภาพอีกมาก ในส่วนของเทคโนโลยี AI จากข้อมูลสถิติระดับโลกพบว่า ผู้ใช้งาน AI สามารถสร้างรายได้โดยเฉลี่ยปีละ 5,000 ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผู้สร้าง AI สร้างรายได้ที่สูงกว่ามาก โดยเฉลี่ยปีละ 30,000 ถึง 40,000 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีนวัตกรรมอื่นๆ เช่น 5G และคลาวด์ มีจำนวน use case ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการในหลากหลายอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังช่วยลดต้นทุนด้านการดำเนินงานได้มหาศาล พร้อมๆ กับช่วยให้หลายๆ ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าทุกประเทศจำเป็นต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีที่คล่องตัวและสอดประสานกัน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านแบบอัจฉริยะที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจได้ แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงการลงทุนในระบบนิเวศด้านดิจิทัล และการบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลให้ประเทศ
“หัวเว่ยได้กำหนดปัจจัยหลัก 4 ประการเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอัจฉริยะแห่งอนาคต ประกอบด้วย ข้อมูล ระบบโครงสร้างพื้นฐาน อีโคซิสเต็ม และบุคลากร เรามุ่งพัฒนาทั้ง 4 ปัจจัยนี้ด้วยการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการรวบรวมข้อมูลและระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลแบบบูรณาการ ผ่านการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมข้อมูลและเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมุ่งสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยการผนึกกำลังกับสตาร์ทอัปด้านดิจิทัลกว่า 100 บริษัท และพันธมิตรด้านเทคโนโลยีคลาวด์ในประเทศอีกกว่า 300 แห่ง รวมถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัลในอนาคตให้ประเทศไทย ทั้งนี้ เรามองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้องการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาในอนาคตผ่านนวัตกรรม ทั้งนี้ จากโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เราดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน หัวเว่ยประสบความสำเร็จในการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 70,000 คน และวางแผนที่จะบ่มเพาะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ เพิ่มอีก 20,000 คน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านบุคลากรดิจิทัลของภูมิภาคในอนาคต” นายเดวิด หลี่ อธิบายเพิ่มเติม
ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีไอซีทีที่มีประสบการณ์กว่า 24 ปีในไทย หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดให้ไทย พร้อมกับการบ่มเพาะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและการลงทุนในศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จากการผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายในท้องถิ่น หัวเว่ยประสบความสำเร็จในการเปิดตัวโมเดลภาษาขนาดใหญ่ “Pangu AI Model” ที่สามารถนำมาบูรณาการเข้ากับโมเดลพยากรณ์อากาศ โดยความร่วมมือกับกรมอุตุนิยมวิทยา โมเดล ‘Pangu Meteorology’ หรือโซลูชันผานกู่ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำมากกว่าเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศแบบดั้งเดิมถึง 20% ช่วยให้เตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่รุนแรงได้ดียิ่งขึ้น และลดความสูญเสียลงได้มาก
“หัวเว่ยจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนให้ประเทศไทย สอดรับกับความตั้งใจของรัฐบาลไทย นอกเหนือจากโครงการที่ดำเนินการโดยภาคเอกชนแล้ว เราเชื่อว่าการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านนโยบายและการลงทุน จะนำไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีอันแข็งแกร่ง ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความอัจฉริยะและเอื้อประโยชน์ในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย และมีความตั้งใจเสมอมาที่จะสนับสนุนประเทศชาติในการบรรลุศักยภาพทางด้านดิจิทัล สอดคล้องกับพันธกิจของเราในการเดินหน้าสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์” นายเดวิด หลี่ กล่าวสรุป