กูเกิล (Google) ประกาศความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative AI หรือ GenAI กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ สานฝันรัฐบาลเร่งส่งเสริมการใช้ GenAI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน นำร่องเริ่มก่อนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data Institute (BDI) เบื้องต้นยังอุบเงียบรายละเอียดแผนพัฒนาโปรเจกต์ในอนาคต ยอมรับโฟกัสเรื่องการขยายให้ระบบรองรับความต้องการทั่วประเทศ
ความร่วมมือด้าน GenAI นี้เป็นส่วนหนึ่งของ 3 ความร่วมมือที่กูเกิลได้ประกาศความคืบหน้าหลังจากการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงของอัลฟาเบ็ต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิลที่สหรัฐอเมริการะหว่างการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยอีก 2 ความร่วมมือคือการร่วมกันร่างนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) และการมอบทุนหลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน บนเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตก้าวกระโดดในยุคเศรษฐกิจ AI
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับกูเกิล จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์ โดยรัฐบาลไทยตั้งเป้าที่จะนำผลผลิตจากความร่วมมือที่เกิดขึ้นไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
***ไม่กำหนดไทม์ไลน์ จับตาอัปเดตปีหน้า
นายคาราน บาจวา (Karan Bajwa) รองประธานกูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กูเกิลจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชัน Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI เบื้องต้นยังไม่มีการกำหนดไทม์ไลน์หรือกรอบเวลาในการดำเนินงาน คาดว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2567
"เรากำลังดำเนินการตามเสาหลักความร่วมมือทั้ง 4 ข้อ โดยเป้าหมายของเราคือการทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการใช้งาน Generative AI เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว"
คารานย้ำว่าจากผลวิจัยของกูเกิล พบว่าหากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้าน AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี Cloud AI ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม
ดังนั้น กูเกิลจึงได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย “โกคลาวด์เฟิร์สต์” (Go Cloud First) เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว
นโยบาย Go Cloud First นี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการร่างนโยบาย Cloud-First โดยรัฐบาลไทยได้นำคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติแนะนำระดับนานาชาติจากกูเกิล มาเป็นแนวทางในการร่างนโยบาย คีย์หลักสำคัญคือการอนุญาตให้มีการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลพร้อมด้วยการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยผ่านคีย์การเข้ารหัส และการกำหนดประเภทของข้อมูลที่อาจจะต้องจัดเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมของคลาวด์ที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped)
ทั้งหมดนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติข้อเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เป็นผู้เร่งดำเนินการตามนโยบายนี้ โดยจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567
ในส่วนความร่วมมือด้าน Generative AI กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute: BDI) กูเกิลระบุว่า บุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้จะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างโดยใช้เทคโนโลยี Generative AI รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง
"ด้วยแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่างๆ สามารถเลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้งของ Google และแบบโอเพนซอร์สกว่า 100 โมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเองโดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ และผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กรเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น"
เบื้องต้น ความร่วมมือลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแห่งเดียว แต่กูเกิลเปิดกว้างร่วมมือกับแทบทุกประเทศทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นของโลก โดยเนื้อหาความร่วมมือจะแตกต่างกันไปตามปัญหาที่แต่ละประเทศพบ ซึ่งสำหรับประเทศไทยเองมีความร่วมมือลักษณะนี้กับไมโครซอฟท์ (Microsoft) และผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่ใช่กูเกิลเช่นกัน
***มอบทุน BOI ส่งต่อ SME
นอกจาก GenAI และร่างนโยบาย Go Cloud First อีกความร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่กูเกิลประกาศความคืบหน้าล่าสุดคือการมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพที่ใช้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน
น.ส.ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่ากูเกิลได้เพิ่มหลักสูตรสาขาอาชีพใหม่อีก 4 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python) ทำให้ตอนนี้มีหลักสูตรทั้งหมด 9 หลักสูตร
“จากตุลาคม 2565 มีผู้ที่จบหลักสูตรในโครงการ Samart Skills ของกูเกิลไปแล้วจำนวน 5,500 คน โดย 85% ของผู้จบหลักสูตรได้รับโอกาสที่ดี เช่น ได้งานใหม่ เลื่อนตำแหน่ง และปรับเงินเดือนใหม่ภายใน 6 เดือนหลังสำเร็จหลักสูตร"
กูเกิลเชื่อว่าหลักสูตรเหล่านี้จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคแห่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย โดยจากรายงานผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจฉบับล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลระดับสูงและระดับกลางเพิ่มอีก 600,000 คนภายในปี 2570 เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า การลดช่องว่างด้านทักษะความสามารถทางดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2573
ตัวเลข 1 ล้านล้านบาทนี้ไม่ใช่ตัวเลขเกินจริง เนื่องจากมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเกี่ยวพันกับทุกสิ่งบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่การโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียล ไปจนถึงการเสิร์ช โดยการสำรวจพบว่าธุรกิจต่างๆ ในไทยได้นำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของกูเกิลไปใช้จนทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565
น.ส.แจ็คกี้ หวัง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในจำนวน 1.5 แสนล้านบาทนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง
"นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ และเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว”
ที่สุดแล้ว ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกูเกิลเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีของภาครัฐ โดยข้อมูลจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พบว่าปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีบุคลากรด้านไอทีเพียง 4,000 คน จากจำนวนข้าราชการทั้งหมด 460,000 คน ซึ่งเมื่อเฉลี่ยต่อกรมแล้วนับได้เพียง 20 คนต่อกรมเท่านั้น โดยนอกจากภาครัฐ คาดว่าหน่วยงานภาคเอกชนไทยก็มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านไอทีไม่แพ้กัน