พรรคเพื่อไทยได้ปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบายประชานิยมในรูปแบบต่างๆ และในจำนวนนี้ถ้าฟังแล้วคิดเปรียบกับความมี ความเป็นของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว ก็พูดได้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะทำได้ เว้นไว้แต่ว่าคนที่ฟังมีความเชื่อ ความศรัทธาแบบมืดบอดเท่านั้นจึงเห็นด้วยแบบไม่มีเหตุผลโต้แย้ง
นโยบายที่ว่านี้ได้แก่ จะแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทแก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยไม่มีรายละเอียดถึงการได้มาของเงิน บอกเพียงว่าจะไม่มีการกู้เงินมาแจกเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาท โดยไม่มีรายละเอียดว่าสาขาใด ซึ่งก็ทำให้ฟังแล้วเข้าใจได้ว่าทุกสาขา เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สวนทางกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่ผู้จบปริญญาตรีว่างงานเป็นจำนวนมาก และมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ทำงานในอัตราเงินต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะผู้ที่จบสาขาที่ตลาดต้องการน้อย และเป็นสาขาที่จบออกมามาก ส่วนสาขาที่ตลาดต้องการเช่น แพทย์ วิศวะ เป็นต้น ก็ได้รับเงินเดือนสูงกว่าที่กำหนดอยู่แล้ว และในบางรายที่มีความรู้ ความชำนาญพิเศษได้เงินมากกว่า 25,000 บาท ก็มีจำนวนไม่น้อยในภาคเอกชน
ดังนั้น การออกนโยบายนี้ก็นำไปสู่การปฏิบัติได้ยาก ทั้งนี้เกิดจากข้อจำกัดดังต่อไปนี้
1. นโยบายจะทำได้ก็เพียงในภาครัฐ โดยออกเป็นกฎหมายบังคับให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจรับไปปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงที่เป็นอยู่การสร้างงานในภาครัฐมีไม่มากพอจะรองรับผู้ที่จบการศึกษาออกมาแต่ละปีได้ไม่หมด จึงต้องอาศัยภาคธุรกิจเอกชนสร้างงานรองรับ ส่วนภาคเอกชนจะสร้างงานรองรับได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก
2. ถึงแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวการจ้างงานของภาคเอกชนก็จะเพิ่มขึ้นในส่วนของการผลิต และขายเป็นหลัก ส่วนงานของการสนับสนุนหรือสายงานทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็นส่วนน้อย
ดังนั้น ผู้ที่จบการศึกษาสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โอกาสที่รับการจ้างงานในอัตราเงินเดือน 25,000 บาทคงเป็นไปได้ยากในภาคเอกชน จะทำได้เพียงแค่ในภาครัฐ ซึ่งมีการจ้างงานในแต่ละปีไม่มากพอที่จะรองรับผู้ที่จบออกมาใหม่ และผู้ที่จบออกมายังว่างงานอยู่ ประกอบกับถ้ามีการบรรจุผู้เข้าใหม่ในอัตราเงินเดือน 25,000 บาท ก็จะต้องมีการปรับผู้ที่บรรจุก่อนหน้านี้ให้เท่ากับผู้เข้ามาใหม่ เพื่อความเป็นธรรม และเมื่อมีการปรับโครงสร้างเงินเดือน ค่าล่วงเวลา และค่าในตำแหน่งก็ต้องปรับตาม จะต้องใช้เงินจำนวนมากแต่งบประมาณมีอยู่จำกัด ทำให้ต้องมีปัญหาการเงินการคลังของประเทศ ถ้าจะต้องกู้หนี้มาปรับเงินเดือนเพิ่มจะทำอย่างไร
นโยบายค่าแรง 600 บาทต่อวัน ถ้าจะมีการปรับจะต้องมีการประชุมไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนผู้ใช้แรงงานทางรัฐและผู้ใช้แรงงานคงจะเห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญตัวแทนนายจ้างจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ถ้ามองจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลกแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าตัวแทนนายจ้างไม่มีทางเห็นด้วยแน่นอน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงจะเพิ่มต้นทุนการผลิต และต้นทุนดำเนินการซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า และบริการเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการเสี่ยงต่อการขาย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกซึ่งจะต้องแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ที่ค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม เป็นต้น
ดังนั้น นโยบายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งที่ทำได้ยาก และเมื่อรวมกับอีก 2 ข้อข้างต้นเชื่อได้ว่า ประชานิยมแบบสุดโต่งของพรรคเพื่อไทยคงเป็นอุปสรรคในการแข่งขันทางการเมืองในสมัยหน้าแน่นอน และถ้าขืนทำต่อไปในทำนองนี้ โดยเฉพาะการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และจะเป็นเหตุให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยคงจะไม่เสี่ยงด้วยแน่นอน ให้รอดูวันที่ พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อนำเงินมาเข้าสภาฯ ว่าพรรคใดบ้างจะถอนตัวหรือหนีการโหวตในสภาฯ แต่เชื่อว่ามีแน่นอน
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับการลดแลกแจกแถม นับจากนี้ไปคงจะใช้เป็นเหยื่อล่อทางการเมืองได้ยากขึ้น และในขณะเดียวกันจะเป็นข้อด้อยให้พรรคคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลนำไปขยายผลโจมตีในสภาฯ เมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ บั่นทอนปัญหาเพื่อหาคะแนนต่อไปเรื่อยๆ