xs
xsm
sm
md
lg

เป้าหมาย ‘Google Cloud’ ผลักดัน Gen AI สู่ภาคธุรกิจแบบเข้าใจง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความยิ่งใหญ่ของ Generative AI ที่หลายคนมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการแย่งงาน แย่งอาชีพของคนที่ขาดทักษะทางด้านดิจิทัล แต่ในอีกมุมหนึ่ง Gen AI ได้เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน รวมถึงเป็นส่วนช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพียงแต่ในระยะแรกของการใช้งาน Gen AI ข้อมูลหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้ที่เชี่ยวชาญและมีความรู้ก่อนจึงจะสามารถนำข้อมูลที่ประมวลผลมา ไปใช้งานต่อได้ และถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พนักงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญสามารถต่อยอดการทำงานให้ง่ายขึ้นได้

ในโลกของผู้ใช้งานทั่วไป Gen AI ที่มีชื่อเสียง และนิยมใช้งานกันจะมีทั้ง Chat GPT ที่พัฒนาขึ้นโดย OpenAI และมียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft เข้าไปลงทุน ก่อนพัฒนาต่อยอดมาเป็น Microsoft 365 Copilot ให้ผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ใช้งานกัน ข้อจำกัดสำคัญของ ChatGPT คือถ้าต้องการเข้าถึงข้อมูลล่าสุด หรือโมเดลภาษาเวอร์ชันใหม่ต้องเสียค่าบริการ ทำให้ข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานฟรีในปัจจุบันอยู่ที่เดือนกันยายน 2021 เท่านั้น

ขณะที่ในอีกฝั่งหนึ่ง Google ที่นับว่ามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดตัว Bard ออกมาแข่งขันในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในเวอร์ชันทดลองใช้งานเฉพาะกลุ่ม ตามด้วยการปรับปรุงให้รองรับการสั่งงานด้วยภาษาไทยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปเข้าถึงได้แบบไม่เสียค่าบริการ

จะเห็นได้ว่าการเปิดให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึง Google Bard นับเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วโลกอย่าง Google ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดในแง่ของปริมาณในการประมวลผล และที่สำคัญคือยิ่งมีผู้ใช้งานเข้ามาใช้ Bard มากเท่าไหร่ ความแม่นยำ และความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้นก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงคือการป้อนข้อมูลคำถามต่างๆ หรือชุดข้อมูลเข้าไปในบริการอย่าง Gen AI ที่เป็นสาธารณะนั้นมีความเสี่ยง เนื่องจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไปจะถูกนำไปประมวลผล จึงเห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทใหญ่หลายๆ แห่งออกกฏห้ามพนักงานใช้งาน Gen AI

ทำให้บรรดาผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น AWS, Google Cloud, Microsoft Azure หรือแม้แต่ Salesforce และ IBM จึงมีโซลูชันให้บริการ Generative AI สำหรับภาคธุรกิจตามออกมา เพื่อให้นำโมเดลภาษาที่แต่ละบริษัทพัฒนาขึ้นไปใช้กับข้อมูลภายในองค์กร พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยที่ให้ความมั่นใจได้ว่า ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้เป็นความลับภายในองค์กรเท่านั้น

***Duet AI เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน


ข้อได้เปรียบสำคัญของ Google Cloud คือปัจจุบันบริการอย่าง Google Workspace ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือสำหรับการทำงานบนระบบคลาวด์อย่าง Gmail, Docs, Sheets, Slides, Drive, Meet, Chat และอื่นๆ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 3,000 ล้านราย และมีลูกค้าที่จ่ายเงินใช้บริการมากกว่า 10 ล้านราย

Darryl McKinnon ผู้อำนวยการกูเกิล เวิร์กสเปซ เอเชียแปซิฟิก ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาบริการของ Google Workspace มีการนำ AI มาช่วยในเบื้องหลังที่ผู้ใช้งานเข้าถึงได้อยู่แล้ว อย่างเรื่องการประมวลผลเพื่อแสดงผลข้อมูลเมื่อทำการค้นหาภายใน Gmail ตามด้วยการพัฒนาระบบตอบ หรือเขียน Gmail แบบอัตโนมัติ (Composer AI) มาแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ภายใน

ก่อนที่ Google จะเริ่มนำเสนอ Generative AI สำหรับชุดเครื่องมือการทำงานบนระบบคลาวด์ในชื่อ ‘Duet AI’ ที่ปัจจุบันเปิดให้ผู้ใช้งานบริการ Google Workspace แบบชำระค่าบริการสามารถเข้าถึงเครื่องมือนี้ได้ทันที หรือแปลว่าผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านรายมี Duet AI มาช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นแล้ว

ความสามารถที่น่าสนใจของ Duet AI หลายๆ อย่างถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของผู้ใช้ลง อย่างเช่นการให้ Duet AI ช่วยสรุปเนื้อหาการประชุมใน Google Meets ก่อนส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมใน Gmail ที่สามารถประยุกต์ใช้ให้ Duet AI เข้าประชุมแทนในกรณีที่ติดงานอื่นอยู่ก็ทำได้

นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งให้ Duet AI ช่วยร่างอีเมล ปรับภาษาที่ใช้ให้มีความเป็นทางการมากขึ้น หรือปรับสำนวนให้เข้าใจได้ง่าย ช่วยเตรียมเนื้อหาสำหรับการนำเสนอใน Google Docs ไปจนถึงการใช้งานในการทำพรีเซ็นเทชัน อย่างช่วยหารูปประกอบที่เหมาะสมใน Google Slides

ความแตกต่างระหว่าง Google Bard ที่ใช้งานได้ฟรี กับ Duet AI ที่มีความสามารถหลากหลาย ผสมผสานเข้าไปกับชุดโปรแกรมสำหรับการทำงาน ที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเนื่องจาก Duet AI จะไม่มีการเก็บข้อมูลที่นำไปประมวลผลต่างๆ ทำให้ผู้ใช้งาน Google Workspace มั่นใจได้ว่า การใช้งาน Generative AI นี้ จะอยู่บนมาตรฐานการรักษาความลับเดียวที่เชื่อถือได้

***ต่อยอดสู่ Gen AI เฉพาะในแต่องค์กร


จุดที่น่าสนใจของ Google Cloud ในมุมของการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ Google ใช้งาน และลงทุนต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี เพื่อให้บริการไม่ว่าจะเป็น Google Search หรือ YouTube สำหรับผู้ใช้งานหลายพันล้านคนทั่วโลก คือโครงการต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นบน Google Cloud ยังพัฒนาบนหลักของโอเพ่นซอร์ส เช่นเดียวกับ Android และ Chrome เปิดทางให้นักพัฒนา หรือองค์กรธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้

Mitesh Agarwal กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชัน และเทคโนโลยี กูเกิล คลาวด์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า จุดที่น่าเสียดายของภาคธุรกิจในเวลานี้คือไม่ได้มีการเตรียมฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อให้ AI สามารถเข้าไปเรียนรู้ และดึงประสิทธิภาพของข้อมูลออกมาใช้งานได้ ดังนั้น ในเวลานี้ความสามารถของ Gen AI จึงเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ทุกคนเห็น ภายใต้ผลลัพธ์ของการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

โดยหนึ่งในชุดเครื่องมือที่ได้รับความนิยมของ Google Cloud คือ Vertex AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้องค์กรธุรกิจที่มีฐานข้อมูลดิจิทัลปริมาณมหาศาล สามารถจัดระเบียบข้อมูล และเปิดทางให้พนักงานในองค์กรสามารถค้นหาข้อมูลจากการนำระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งเข้าไปเรียนรู้ ก่อนนำไปต่อยอดใช้งานกับโซลูชันในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ

ก่อนที่ Google Cloud ได้เพิ่มความสามารถของ Generative AI เข้าไปใน Vertex AI ทำให้หลังจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจที่เดิมใช้งาน Vertex AI อยู่ สามารถสร้างแชตบอต หรือวอยซ์บอต ในการค้นหาข้อมูล หรือตอบคำถามต่างๆ จากข้อมูลภายในองค์กรได้เรียบร้อยแล้ว

แน่นอนว่าชุดเครื่องมือเหล่านี้จะเหมาะกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานข้อมูลปริมาณมหาศาล ที่จะสามารถดึงประสิทธิภาพของ Generative AI ออกมาได้มากที่สุด ทำให้ Google Cloud เริ่มต่อยอดการพัฒนา Vertex AI สู่การเป็นเครื่องมือให้บรรดาสตาร์ทอัป หรือผู้ประกอบการที่สนใจนำเครื่องมือดิจิทัลไปใช้งาน สามารถเข้าถึงประโยชน์ของ Gen AI ได้ด้วย


หนึ่งในนั้นคือการนำเสนอ Vertex AI Model Garden หรือชุดข้อมูลที่จัดระเบียบแล้วมากกว่า 100 โมเดลจาก Google และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันพัฒนาโมเดลขนาดใหญ่ และโมเดลเฉพาะทาง บนเป้าหมายในการเข้าไปช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถนำ Gen AI ที่เรียนรู้จากโมเดลที่เหมาะสมไปใช้งานในต้นทุนที่สามารถควบคุมได้

พร้อมยกตัวอย่างการนำ Vertex AI ไปใช้ในธุรกิจค้าปลีก หลังจากที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ร้านค้าต้องมีการปรับตัว ร้านค้าต้องมีการดึงคนเข้ามาเลือกซื้อสินค้า และในขณะเดียวกันก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายในด้านการปฏิบัติการต่างๆ ทำให้กลายเป็นว่า Gen AI สามารถเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมได้

ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อดึงความสนใจของลูกค้า การสร้างแชตบอตที่สามารถแนะนำสินค้าภายในร้านที่เหมาะสม ตอบโต้คำถามของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ไปจนถึงการแนบลิงก์เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ไปจนถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลความชื่นชอบสินค้าของลูกค้าต่อตัวผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าใหม่ ช่วยเปิดทางให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ Google Cloud ยังได้เริ่มนำเสนอโมเดลสำหรับ Vertex AI ที่เรียนรู้แบบเฉพาะทางเข้าไปลงลึกในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างการเงิน โรงงานผลิต อุตสาหกรรมเกม หรือแม้แต่ในส่วนของธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตีก็สามารถนำ AI มาใช้ในการตรวจจับภัยคุกคามเพิ่มเติม รวมถึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น และแนวทางในการป้องกัน

การเดินหน้าให้บริการ Generative AI ของ Google Cloud ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดเกมรุกทั้งในฝั่งของผู้บริโภคทั่วไปที่สามารถเข้าถึงบริการได้ฟรีผ่าน Google Bard และในฝั่งของภาคธุรกิจที่สามารถนำ Vertex AI ไปใช้ในการพัฒนา Gen AI เพื่อใช้งานภายในองค์กร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นว่าในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา มีลูกค้าในฝั่งธุรกิจสนใจใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 150 เท่าทั่วโลก

ทำให้กลายเป็นว่าตอนนี้ การเรียนรู้ทักษะในการสั่งงาน Gen AI จะกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะดิจิทัลที่พนักงานควรเรียนรู้ และใช้ประโยชน์เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการทำงานลง และเพิ่มเวลาในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น