xs
xsm
sm
md
lg

‘สมาคมนักประดิษฐ์ฯ’ปลื้ม ‘นร.-นศ.-ปชช.’สนใจสัมมนา ด้าน ‘นายกสมาคมฯ’ย้ำ มีนวัตกรรมสร้างความรู้และแรงบันดาลใจพัฒนานวัตกรรมของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดงานสัมมนา "มาตรฐานผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่" ในวันที่ 28 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ว่า เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในงานด้านนวัตกรรม ต่างเข้ามาสอบถามถึงกิจกรรมภายในงานและยืนยันที่จะเข้ามาร่วมงานสัมมนาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หน่วยงานที่ออกบูธจัดแสดงนวัตกรรมภายในงานสัมมนาฯ ที่อยู่ไม่น้อยกว่า 10 บูธ เช่น บูธของอิไลด์ไฟร์บอล ที่ได้คิดนวัตกรรมการดับเพลิงที่ง่าย สะดวก และทุกคนสามารถใช้ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมมาก่อน แต่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเพลิง เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งาน โดยมีการพัฒนาจากลูกบอลดับเพลิงที่ติดตั้งไว้ตามสำนักงานและภายในบ้าน สู่การใช้งานลูกบอลภายในห้องเครื่องยนต์ และยังมีการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านสาธารณภัยต่างๆ พร้อมกับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต หลังจากเกิดเหตุประสบภัยได้ ต่อมา นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี AI แพลตฟอร์ม อาษาเฟรมเวิร์ค โดยบริษัท อาษา โปรดักชั่น จำกัด ซึ่งคิดค้นโดย รศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (DSI) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเฟรมเวิร์คหรือซอฟต์แวร์สำหรับสร้างแอปพลิเคชันในยุค 5G ที่สามารถเชื่อมโยงและรองรับการประมวลผล การแสดงผล การติดต่อสื่อสารผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ได้แบบครบวงจร (One Stop Service) ทั้งการนำไปสร้างปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอริทึม นำไปสร้างแผนการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทางการ (Data Science) ซอฟต์แวร์โปรแกรมสร้างเกมส์ รวมทั้ง อาษาเฟรมเวิร์ค ยังได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เช่น รางวัล IP Champion 2562 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 2562 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลชนะเลิศการประกวด Thailand ICT Awards 2018 จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) และรางวัลชนะเลิศการประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่น 2561 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้น สำหรับ โรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) ก็ถือเป็นสถานศึกษาที่มีหลักสูตรที่ก้าวหน้าในการพัฒนาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้มีวิสัยทัศน์ว่า จะมุ่งไปสู่ การเป็น Learning Hubของเยาวชนไทย โดยจะจัดระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และต่อยอด ให้มีความเจริญรุดหน้า เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนไทย และ เพื่อประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศ อันจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านศักยภาพคน รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง ยังมีนวัตกรรมต่างๆ ที่มาสร้างความรู้และความน่าตื่นตาตื่นใจ และรอให้มาสัมผัสประสบการณ์และค้นหาแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมของไทยในอนาคต

ทางด้าน ว่าที่ ร.ต.สรายุทธ์ บุญเลิศกุล เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ประเทศไทยเรามุ่งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทย ยังขาดบุคลากรที่มีทักษะในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ถึงแม้ว่าจะพยายามปรับกระบวนทัศน์ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านดังกล่าว ที่สำคัญที่สุดก็คือ ขาดการเชื่อมโยงระหว่างระหว่างสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นศูนย์กลางการคิดค้นพัฒนา กับอุตสาหกรรมซึ่งเป็นศูนย์การกลางผลิตในทางการค้า เรียกได้ว่า ประเทศไทยเรามีปัญหาในการบูรณาการ และความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน กลายเป็นว่างานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกลายเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างทำในพื้นที่การทำงานของตนเอง ทำให้สุดท้าย เราเดินหน้าไม่ได้เพราะข้อจำกัดในด้านเงินทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งการอนุญาต การจดทะเบียน มาตรฐานต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนั้น เพื่อการแสวงแนวทางในการแก้ไขปัญหาของนวัตกรรมแต่ละประเภท หรือแต่ละด้าน ให้ออกจากปัญหา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมนวัตกรรมของประเทศไทยให้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ทางสมาคมฯ จึงจัดเวทีสัมมนาเพื่อระดมนักคิด นักวางแผน นักบริหารแถวหน้าจากทุกภาคส่วนมามองหาทางออก และมองอนาคตไปข้างหน้าว่าเราจะยกระดับอุตสาหกรรมนวัตกรรมบ้านเราให้พ้นจากปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

“สมาคมขอเชิญชวนนักวิจัย นักออกแบบนวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการพื้นที่สะท้อนปัญหาของอุตสาหกรรมนวัตกรรม หรือต้องการเรียนรู้เส้นทางการออกแบบนวัตกรรมสู่การผลิตเป็น Mass Product ที่ได้มาตรฐาน มอก. ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในด้านความปลอดภัย การดูแลรักษาสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมไม่ควรพลาดเวทีนี้” ว่าที่ ร.ต.สรายุทธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น