xs
xsm
sm
md
lg

LINE เล็งเป็นแอปสโตร์?? ลุยแผนล่าฝันทำเงินปี 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องบอกว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาเมื่อบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นเปิดไฟเขียวให้ ‘ไลน์ประเทศไทย’ (LINE) นำร่องทำแพลตฟอร์มเปิดเพื่อเป็นแอปสโตร์ด้านการตลาดและบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ก่อนประเทศอื่น เพราะนี่คือสัญญาณของการพร้อมผลักดันธุรกิจ B2B ของไลน์ประเทศไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก จากฐานตลาด LINE OA หรือบัญชีที่แบรนด์น้อยใหญ่เปิดไว้สื่อสารกับผู้ใช้ไลน์ ซึ่งเติบโตจาก 2 ล้านเป็น 6 ล้านบัญชีในช่วงไม่กี่ปีหลังโควิด-19

สำหรับฝั่ง B2C ไลน์ประเทศไทยยังคงจัดเต็มแผนเข้าไป ‘ขายของ’ กับนักแชตไทยที่มีจำนวนเกิน 54 ล้านคนทั่วประเทศ แน่นอนว่าทุกแผนอ้างอิงจากพฤติกรรมการใช้งานของคนไทยที่ไม่เหมือนชาติใดในโลก ส่งให้จำนวนบริการที่มีเฉพาะไลน์ประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่มแล้วในขณะนี้ คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในปี 2567 ซึ่งจะมีการออกบริการใหม่สำหรับตลาดแชตกลุ่ม หรือ Group Chat เช่น บริการนัดหมายกลุ่มสำหรับใช้ส่วนตัว และบริการส่งไฟล์ ‘แบบไม่หมดอายุเร็ว’ สำหรับการทำงาน ที่องค์กรในอนาคตอาจจะซื้อให้พนักงานใช้ในรูปแบบ B2B2C

แผนล่าฝันเพื่อขยายธุรกิจของไลน์ประเทศไทยในปี 2567 ถูกประกาศในงาน LINE Conference Thailand 2023 ซึ่งมีการใช้คำว่า ‘เทคโนโลยี Hyper-localized’ ที่ไม่ใช่แค่การแปลภาษา แต่ไลน์เลือกหยิบเอาอินไซต์การใช้งานมาพัฒนาเป็นบริการเฉพาะที่เชื่อว่าจะยกระดับชีวิต ธุรกิจ และนักพัฒนาไทย เพื่อก้าวสู่การเป็น ‘แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย’ แม้รายได้หลักจะถูกส่งกลับไปญี่ปุ่นก็ตาม

พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา บอกว่าไม่ได้หวังให้คนไทยอยู่กับ LINE ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ได้ก็ดี
วันนี้ ข้อมูลรายได้ของไลน์คอร์ปอเรชันนั้นไม่มีการเปิดเผย เนื่องจากการควบรวมกิจการระหว่างซีโฮลดิงส์ (Z Holdings) เจ้าของยาฮูเจแปน (Yahoo Japan) และไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE) ในปี 2021 ทำให้บริษัทไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งล่าสุด ทาง Z Holding ได้ประกาศความคืบหน้าในการเปลี่ยนชื่อบริษัท LINE เป็น LY Corporation ในวันที่ 1 ตุลาคม 2023 พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่มีผลกับการใช้งานในประเทศไทย

***ไทยแลนด์โอนลี่

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่าไลน์กำลังเบนเข็มวิสัยทัศน์จาก ‘ไลฟ์ออนไลน์’ ในช่วงก่อนหน้านี้ มาเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือโปรดักต์จากข้อมูลบนแพลตฟอร์ม ทำให้ฐานะ ‘แชตแพลตฟอร์มเบอร์ 1 ของไทย’ สามารถขยับมาเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อความต้องการของผู้บริโภคไทยที่แท้จริง

‘เราเคยทำสำเร็จมาแล้ว นั่นคือไลน์แมน (LINEMAN) บริการที่ทำโดยคนไทย เป็นความภูมิใจของเรา’ ดร.พิเชษฐ กล่าว ‘วันนี้เราเป็นแชตแพลตฟอร์มเบอร์ 1 ของไทย ต่อไปจะเป็นอะไร? จากปริมาณการใช้ที่มากขึ้น อินไซต์การใช้งานจะกระตุ้นให้เกิดไอเดีย เกิดการทำงาน จะยกระดับแชตแพลตฟอร์มไปอยู่อีกระดับบนพื้นฐานของไฮเปอร์โลคัลไลเซชัน การปรับภาษาไทยหรือปรับหน้าตาแอปนั้นน้อยเกินไป เราจะเป็นโอกาสเปิดให้ทุกฝ่ายได้ทำงานด้วยกัน เพื่อตอบการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ในไทย’

คนไทยใช้ LINE ไม่เหมือนใครในโลก
ดร.พิเชษฐ เชื่อว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชุมชนนักพัฒนาเข้มแข็งที่สุด ขณะที่คนไทยมีการใช้บริการไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะการนำ LINE OA มาใช้ในการซื้อขายและให้บริการขององค์กรใหญ่

‘จาก 2 ล้านเป็น 6 ล้านในเวลาสั้นๆ วันนี้ OA สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนเราเห็นหน่วยงานภาครัฐใช้ OA เพื่อให้บริการประชาชนได้ดีมาก ชัดเจนมากกว่าคนบนแพลตฟอร์มเลือกใช้บริการบนไลน์’ ดร.พิเชษฐ กล่าว ‘เมื่อเกิดแมสไมเกรชัน เราได้รับอานิสงส์เชิงบวก นั่นคือฐานผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็น 54 ล้านคนแล้วปีนี้ เกิน 90% ของผู้ใช้มือถือไทย นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถปรับเฉพาะสำหรับทุกธุรกิจได้’

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ผู้ดูแลทุกเซอร์วิสของไลน์ และทำให้วิสัยทัศน์ของดร.พิเชษฐ เป็นจริง ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมาแนวคิดไฮเปอร์โลคัลไลซ์นั้นเกิดขึ้นบนความเชื่อว่าคนไทยสามารถผลิตเทคโนโลยีได้ และ 2-3 ปีจากนี้ ไลน์ประเทศไทยจะโฟกัสที่การพัฒนาโซลูชันเพื่อการทำงาน โดยบริการที่พร้อมจะปล่อยในปี 2566 นี้คือการจัดการไฟล์ที่หลายคนเคยไม่ปลื้มเพราะหมดอายุรวดเร็วเหลือเกิน รวมถึงบริการตัวช่วยจัดตารางชีวิตการทำงาน และส่วนตัวที่กำลังทดสอบในขณะนี้

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ระบุว่าในภาพรวม ปีนี้ไลน์ประเทศไทยจะซีเรียสเรื่องไลน์กลุ่มแชต
‘มีการตั้งทีมดูโซลูชันนี้โดยเฉพาะ เราจะไม่ทำคนเดียว จะเป็นแพลตฟอร์มเปิด ให้นักพัฒนาไทยมาช่วยเพิ่มเติม’ นรสิทธิ์ ระบุ ‘ภาพรวมทั้งหมด จะเห็นว่าไลน์ประเทศไทยซีเรียสเรื่องไลน์กลุ่มแชต และโซลูชันของไลน์กลุ่ม เราตั้งใจจะพัฒนาโซลูชันเพื่อให้มีทางแก้โจทย์ที่พบอยู่ ให้ทุกคนบาลานซ์การใช้ชีวิต การทำงาน และครอบครัวได้มากขึ้น’

นรสิทธิ์ให้ข้อมูลว่าผู้ใช้ไลน์ในไทยส่วนใหญ่มีแชตกลุ่มที่หลากหลาย เฉลี่ยแล้วเป็นแชตที่เกี่ยวกับครอบครัว 4 กลุ่ม (ประกอบด้วยกลุ่มครอบครัว กลุ่มพี่น้อง และกลุ่มญาติ) กลุ่มด้านการเรียน 5 กลุ่ม กลุ่มเพื่อน 7 กลุ่ม และกลุ่มด้านการทำงาน 9 กลุ่ม

‘ที่น่ากังวลคือ 83% ของผู้ใช้คุยทุกวัน 24 ชั่วโมง เราจึงกำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างโซลูชันขึ้นใหม่โดยนักพัฒนาไทย เพื่อใช้ในไทยที่เดียว’

ผู้ใช้ไลน์ในไทยส่วนใหญ่มีแชตกลุ่มที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ใช้คุยในครอบครัว
บนเวทีงาน LCT 23 นรสิทธิ์ได้เปิดตัวบริการใหม่ ‘LINE STICKERS PREMIUM’ บริการสติกเกอร์จ่ายรายเดือน/รายปีสำหรับคนไทย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการเลือกใช้งานชุดสติกเกอร์ที่หลากหลายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น ตรงนี้แม้จะเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาจุดแข็งของแพลตฟอร์ม LINE ด้านการสื่อสารดิจิทัลให้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่หมายถึงรายได้ของเหล่าครีเอเตอร์ที่จะเสถียรยิ่งขึ้นด้วย

***รายได้ต้องเสถียร สร้างอีโคซิสเต็มได้

นายรัฐธีร์ ฉัตรดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโฆษณา ยอมรับว่าบริการไลน์สติกเกอร์พรีเมียม (LINE STICKERS PREMIUM) เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของผู้ใช้ไลน์ ที่มีการซื้อสติกเกอร์จริงจำนวนมาก ขณะที่ผู้บริโภคยุคใหม่นิยมใช้บริการสมัครสมาชิก จึงพัฒนาบริการสมาชิกโหลดสติกเกอร์ที่จ่ายเงินเพิ่ม 4 บาท (จาก 65 บาทต่อเซ็ต เป็นค่าสมาชิก 69 บาทต่อเดือน) แต่สามารถเลือกใช้ได้ 5 เซ็ตซึ่งเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเดือนที่สมัคร เบื้องต้นหวังให้ผู้ใช้ไลน์ในไทยราว 50% ได้เริ่มใช้บริการสติกเกอร์แบบสมัครสมาชิก

‘ส่วนต่างราคาที่น้อยเชื่อว่าจะทำให้เกิดโอกาสขายและผลดีกับผู้ใช้ และครีเอเตอร์ที่จะมีพื้นที่ทำรายได้ และมีโอกาสถูกหยิบสติกเกอร์ไปใช้งาน จะสร้างอีโคซิสเต็มได้ คาดว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเลือกบริการพรีเมียม เราไม่ได้หวังดันรายได้ แต่อยากให้รายได้จากธุรกิจสติกเกอร์มีความเสถียร ตอบโจทย์ผู้ใข้ ตอบโจทย์ครีเอเตอร์ รายได้จะคงที่’

รัฐธีร์ให้ข้อมูลว่าบริการสติกเกอร์พรีเมียมจะส่งเงินกลับไปที่ครีเอเตอร์ผู้สร้างสติกเกอร์ที่ถูกโหลดไปใช้งาน ขณะที่ผู้ใช้จะมีสิทธิเหมือนรับบริการพรีเพดที่จะได้ใช้งานตามระยะเวลาที่ชำระเงิน วิธีนี้จะแก้ปัญหาก่อนหน้านี้ที่รายได้จากการซื้อสติกเกอร์นั้น ‘เหวี่ยงมาก’

‘ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงสติกเกอร์ 9 ล้านเซ็ตที่ให้สิทธิเฉพาะใช้งานในไทย จะเปิดให้ทดลองใช้ 30 วันในปีนี้ เราไม่ได้วางเป้าเท่าไหร่ แต่อยากให้คนสมัครสมาชิกถึงครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ทั้งหมด’

  วีระ เกษตรสิน
ผู้ใช้บริการสติกเกอร์แบบสมาชิกจ่ายเป็นรายเดือน จะเข้าถึงสติกเกอร์ที่อยู่ในร้าน 6 เดือนขึ้นไปได้แบบอันลิมิต 9 ล้านเซ็ต การแนะนำสติกเกอร์จะมี AI วิเคราะห์ลายเส้นที่คาดว่าผู้ใช้จะชื่นชอบ

***ปีหน้าลุยแพลตฟอร์มเปิด

นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีจากนี้ LINE ประเทศไทยจะมุ่งสู่การเป็น ‘แพลตฟอร์มเปิด’ ที่พร้อมเปิดรับการเชื่อมต่อกับหลากหลายเทคโนโลยีนำสมัย เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย ทั้งในด้านผู้ใช้งาน ธุรกิจ และพันธมิตร โดยอาศัยแนวคิดตั้งต้นจากทีมงาน LINE ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ

‘ใน 3 ปีข้างหน้า เราจะสร้างโอเพ่นแพลตฟอร์ม เอาเทคโนโลยีที่ไลน์มีมาให้ทุกคนได้สร้างโซลูชันของตัวเอง ที่เราเตรียมให้คือ การเปิดโอกาสให้ปรับแต่งโซลูชัน แล้วนำมาใช้ได้ทันที และการรวมข้อมูลที่เกิดในทุกปลั๊กอิน เพื่อให้ทุกองค์กรนำข้อมูลไปปรับปรุงธุรกิจตัวเองได้ นี่คือแนวทางหลักที่จะสร้างใน 3 ปีข้างหน้าของไลน์ประเทศไทย’

ปัจจุบัน บริการที่ไลน์ให้บริการเฉพาะไทยนั้นประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ ‘ไลน์ชอปปิ้ง’ ที่เป็นบริการแชตคอมเมิร์ซ ‘ไลน์เมโลดี้’ ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้เลือกเพลงที่ใช่ให้คนที่ชอบได้ฟังเมื่อมีการโทร.ผ่านไลน์ ‘ไลน์ดูดวง’ ที่เน้นสายมู นอกจากนี้คือ ‘มายคัสตอมเมอร์’ ที่เปิดให้องค์กรระดับเอ็นเตอร์ไพรส์ใช้ข้อมูลลูกค้าเพื่อทำการตลาดผ่านรายการลูกค้า ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมกัน คือแพลตฟอร์มเบื้องหลังที่รันเซอร์วิสทั้งหมดอยู่ นั่นคือ ‘โอเอพลัส’ (OA Plus) ซึ่งไม่มีในไลน์ประเทศใดๆ

‘เราทำเอง ทดลองใช้เอง พบว่ามีประสิทธิภาพมากพอ จาก 4 ปีที่ทดลองมา พร้อมแล้วที่จะเปิดให้ทุกคนสร้างโซลูชันแล้วต่อยอด’ วีระกล่าว ‘สำหรับปีหน้า เราต้องการตอบโจทย์ธุรกิจหลากประเภทหลายขนาดมากขึ้น การทำโอเพ่นแพลตฟอร์มจะเจาะตลาดนิชได้เร็วขึ้น’


สำหรับปี 2567 ไลน์มีแผนจะเปิดให้องค์กรเอสเอ็มอีได้ใช้งานมายคัสตอมเมอร์ ขณะเดียวกัน ก็มีแผนต่อยอดบริการด้าน CRM บนไลน์ซึ่งปลายปีนี้จะเริ่มมีให้บริการข้อมูลจากบริษัทอื่นเพื่อต่อยอดบริการด้านการตลาดบนไลน์ชอปปิ้ง รวมถึงการปรับการทำการตลาดบนไลน์แอดให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

‘บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ทั้งหมด เป็นการใช้เทคโนโลยีของบริษัทแม่ และเรานำมาต่อยอด ไลน์ประเทศไทยเป็นที่เดียวที่มี OA Plus เรากำลังผลักดันให้ได้ว่าหน่วยงานสามารถพัฒนาโซลูชันได้โดยที่ไลน์ไม่ต้องทำเอง สำหรับการขยายผลสู่ตลาดต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการทดลองกับไต้หวัน เพื่อหารูปแบบการใช้ทรัพยากรร่วมกับต่างชาติ มีโอกาสที่จะขยายบริการสู่ตลาดโลก’

การขยายสู่ตลาดโลกในรูปของแอปสโตร์บนแพลตฟอร์มไลน์จะทำในนาม ‘LINE OA Plus Plug-in Store’ เชื่อว่าจะสร้างรายได้กลับไปที่นักพัฒนาไทย โดยปัจจุบัน OA Plus มี 2 ปลั๊กอินให้บริการองค์กรไทยแล้วคือมายคัสตอมเมอร์ และมายเรสตัวรองค์ที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ไลน์แมนวงใน นอกนั้นคือบริการ CRM ที่ปีหน้าจะทยอยออกใหม่อีก 4-5 ปลั๊กอินที่อยู่ในสโตร์

ขณะนี้รายได้หลักของไลน์ประเทศไทยในฝั่ง B2B นั้นมาจากบัญชีแบรนด์ LINE OA, สื่อโฆษณา LINE ad และมายคัสตอมเมอร์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและใหญ่ ขณะที่ด้าน B2C มีรายได้หลักมาจากสติกเกอร์ ไลน์เมโลดี้ และโซลูชันสายมู เช่น ดูดวง และทำบุญ

ที่สุดแล้ว ไลน์ย้ำว่าแพลตฟอร์มทั้งหมดพร้อมใช้งาน และมีกว่า 9-10 ปลั๊กอินบนสโตร์ซึ่งพัฒนาโดยพันธมิตร คาดว่าจำนวนบริการจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเมื่อ OA Plus เปิดให้สาธารณชนมาร่วมพัฒนาในครึ่งหลังของปีหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น