xs
xsm
sm
md
lg

สินค้าจีนทะลักเข้าไทยผ่าน ‘อีคอมเมิร์ซ’ วิดีโอสั้นมาแรงยิ่งทะลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากย้อนดูเส้นทางการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขายในไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นรูปแบบการนำเข้าสินค้าจากจีนมาขายนั้นมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านวิธีการนำเข้าสินค้า รวมไปถึงจำนวนสินค้าที่นับวันยิ่งทะลักเข้ามาเรื่อยๆ เป็นจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยในบ้านเราเป็นอย่างมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ประกอบการชาวไทยต้องหาวิธีการปรับตัวในการขายสินค้าเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมาอย่างยาวนาน เนื่องจากจีนมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ผลิตได้ทีละเป็นจำนวนมากจึงมีต้นทุนต่ำ ทำให้ตั้งราคาได้ถูกและเข้ามาตัดราคาตลาดในบ้านเรา

ในอดีตรูปแบบการนำเข้าสินค้าจากจีนจะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งการมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาอยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานมีข้อดีคือ มีผู้คัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพดีพอ ผ่านขั้นตอนการขนส่งที่ถูกต้องตามระเบียบการขนส่งของไทย ส่งต่อมายังผู้กระจายสินค้า และผู้ค้าปลีกไทย ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนจากการขายสินค้าและเกิดการจ้างงาน และการเสียภาษีอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรูปแบบการเข้ามาของสินค้าจีนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยสินค้าจำนวนมหาศาลที่เข้ามาไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งตัวกลางของไทยอีกต่อไป สินค้าจากโรงงานผลิตที่จีนสามารถผ่านเข้ามาถึงมือผู้บริโภคไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยม สิ่งที่กำลังเป็นที่น่ากังวลนอกจากเรื่องของปริมาณและการตัดราคา ยังเป็นเรื่องของคุณภาพสินค้าทั้งในด้านคุณภาพความปลอดภัย สินค้าผิดกฎหมาย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคโดยตรง

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ หากเป็นการเข้ามาของสินค้าจีนที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยอย่างถูกต้อง จะมีนโยบายที่ชัดเจนให้ผู้ขายสามารถนำสินค้าขึ้นมาขายบนแพลตฟอร์ม โดยสินค้าที่สามารถขายได้นั้นจะต้องตรงตามข้อกำหนด ซึ่งมีกฎหมายของภาครัฐและนโยบายการลงขายสินค้าเป็นตัวกำหนด ทำให้ลดโอกาสในการที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ

รูปแบบวิดีโอสั้น ปัจจัยหลักสินค้าจีนทะลักเข้าไทย

เมื่อมาวิเคราะห์ดูพฤติกรรมการซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ พบว่า ผู้ซื้อจำนวนมากมีความชื่นชอบในการรับชมการไลฟ์ขายสินค้าประเภทต่างๆ เช่น สินค้าเพื่อความงามและเครื่องสำอาง เสื้อผ้าแฟชั่น อาหารขนมแห้ง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เนื่องจากสามารถเห็นสินค้าได้ครบทุกมุมมอง ได้รับรายละเอียดอย่างครบถ้วนพร้อมโปรโมชัน ประกอบกับลีลาการขายที่สร้างความบันเทิงให้ผู้ซื้อ ทำให้ผู้ขายในปัจจุบันนิยมสร้างวิดีโอขนาดสั้นเพื่อขายของ

แพลตฟอร์มที่กำลังได้รับการจับตามองคงหนีไม่พ้น TikTok ที่รวมคอนเทนต์ และอีคอมเมิร์ซไว้ด้วยกันซึ่งมีบริษัทแม่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน และมีเจ้าของเป็นชาวจีน TikTok ให้บริการคอนเทนต์ความบันเทิง ในขณะเดียวกัน ยังสามารถซื้อสินค้าต่างๆ ได้ทันทีบนแพลตฟอร์ม กำลังมีอัตราการขยายตัวของผู้ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในไทยเป็นจำนวนมาก


เมื่อไม่นานมานี้ TikTok ได้เปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งานเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีผู้ใช้งานรวม 325 ล้านรายในแต่ละเดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ทำให้ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ตั้งหมุดหมายการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านกลยุทธ์ ชอปเปอร์เทนเมนต์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมองตลาดเอเชียเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่ง TikTok ได้ให้ข้อมูลว่าจากแคมเปญคอนเทนต์ #TikTokป้ายยา ในประเทศไทยมียอดรับชมกว่า 1,500 ล้านครั้งภายในไม่กี่เดือนหลังเปิดตัวแคมเปญ

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมการชอปปิ้งในประเทศไทย พบว่า 97% ของผู้ใช้งาน TikTok มีการใช้จ่ายในเทศกาล Mega Sales สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้งาน TikTok ถึง 3.5 เท่า โดยคิดเป็นจำนวนเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000-17,600 บาท

ส่วนข้อมูลจากนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ที่ได้ให้ข้อมูลว่า การไลฟ์ขายของบน TikTok เฉพาะในประเทศไทยโดยเฉลี่ยมีจำนวน 9 แสนครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นสถิติของเมื่อต้นปีนี้ และในจำนวน 9 แสนครั้งนี้เป็นสินค้าจากจีนที่มีคนจีนไลฟ์ขายของจากโรงงานมากถึง 60% หรือคิดเป็นจำนวนมากถึง 540,000 ครั้ง

ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยในไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการเข้ามาของสินค้าจีนบนแพลตฟอร์มดังกล่าว ซึ่งนอกจากผลกระทบทั้งการแข่งขันด้านราคา การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สินค้าผิดกฎหมาย สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งไม่มีนโยบายการคืนสินค้าและการรักษาความพึงพอใจของผู้บริโภค

ความกังวลเมื่อแพลตฟอร์มจีนนำสินค้าจีนมาขายบนแพลตฟอร์ม

ปัญหาเรื่องคุณภาพและจำนวนสินค้าที่ทะลักเข้ามาจากประเทศจีนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นนั้น ไม่ได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ตลาดใหญ่ที่สุดและเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างมากของ TikTok ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียก็เป็นประเด็นที่กำลังมีความกังวลเกิดขึ้นเช่นกัน ในอินโดนีเซียมีผู้ใช้งาน TikTok อยู่ที่ 113 ล้านราย จากข้อมูลของ Statista เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้การขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนผู้ใช้งานและการเพิ่มเงินลงทุนของ TikTok ในอินโดนีเซียที่ได้รับจากบริษัทแม่อีกเป็นจำนวนหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการที่ผู้บริหารของ TikTok ได้ออกมาแถลงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่ายอดขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซบนแพลตฟอร์มของตัวเองไปสู่ระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่าตัวจากปัจจุบัน ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีสินค้าข้ามแดนจากจีนเข้ามายังประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลรายงานว่า TikTok ได้เริ่มการขายสินค้าของ TikTok เอง ผ่านฟีเจอร์ชอปปิ้งซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่มีชื่อว่า Trendy Beat ซึ่งจะเสนอขายสินค้าจากพันธมิตรที่ล้วนแต่ผลิตโดยซัปพลายเออร์พันธมิตรและถูกส่งมาจากประเทศจีน ซึ่งแผนงานนี้กำลังถูกทดลองและถูกเรียกว่า Project S ซึ่งเป็นความพยายามของ ByteDance บริษัทแม่ที่จะเพิ่มรายได้จากการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

ทันทีที่ข่าวเรื่อง Project S ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางเนื่องจากความกังวลที่ว่าสินค้าจากจีนที่ถูกนำมาขายโดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเองนั้น จะส่งผลกระทบที่ใหญ่ขึ้นต่อภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศ โดยนาย Teten Masduki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์และธุรกิจ SMEs ของอินโดนีเซียได้ออกมาแสดงความกังวลถึง Project S และการขยายอิทธิพลทางธุรกิจของ TikTok ที่กำลังจะครอบครองตลาดธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออนไลน์ของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ และเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบในการซื้อขายออนไลน์อย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดนโยบายที่จะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจ SMEs ในประเทศ

รวมคงเสนอให้มีการระงับการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายออนไลน์ได้อย่างเสรีโดยไม่มีข้อจำกัด รวมไปถึงการนโยบายการกำหนดราคาสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามาขายออนไลน์ในประเทศ ยังมีอีกเสียงจากผู้ค้าบน TikTok ที่แสดงความกังวลและให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้ค้าบนแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน ซึ่งต้องแข่งขันกันด้วยราคาและการจัดโปรโมชัน หากมีสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกจะทำให้สถานการณ์การค้าขายแย่ลง

ถึงเวลาที่ผู้ค้าไทยต้องรับมือกับการถูกแย่งชิงตลาด


ในส่วนของประเทศไทยที่กำลังได้รับผลกระทบของการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจีน รวมถึงสินค้าที่ไม่มีคุณภาพบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้มีการจัดประชุมครั้งสำคัญโดยเชิญประธานกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่มเข้าร่วมหารือถึงสถานการณ์การผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยในกลุ่มนี้มี 20 อุตสาหกรรมที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าจีนที่เข้ามาขายในตลาดไทย ซึ่งปกติจะมีเพียง 5-6 อุตสาหกรรมเท่านั้นที่เคยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

โดยคาดว่าสาเหตุสำคัญคือ ตลาดโลกมีการชลอตัวในการออเดอร์สินค้าจากจีนเนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่จีนยังคงรักษาการผลิตสินค้าในระดับเดิมทำให้สินค้าล้นตลาดจีน จึงต้องระบายสินค้าออกมาหาตลาดรองรับ ซึ่งโดยปกติแล้วสินค้าจีนมีราคาถูกมากอยู่แล้ว เมื่อต้องการระบายสินค้าจึงกดราคาลงมาอีกทำให้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของผู้ค้าชาวไทยโดยเฉพาะขนาดกลางและรายย่อย และเมื่อขายสินค้าไม่ได้ผู้ผลิตชาวไทยจึงต้องลดกำลังการผลิตลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นห่วงโซ่ นอกจากนี้ผู้บริโภคเองยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีคุณภาพ

นอกจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ออกมาแสดงความกังวลและกำลังหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังมีผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซและธุรกิจรายย่อยออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยให้มุมมองความคิดเห็นว่าสินค้าจีนที่เข้ามาขายบนโลกออนไลน์โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐนั้น บางส่วนมีการนำสินค้าผิดกฎหมายเข้ามาขาย รวมทั้งสินค้าสุขภาพและยาที่ตามปกติแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ยังสามารถเล็ดลอดเข้ามาบนการซื้อสินค้าออนไลน์แบบชอปเปอร์เทนเมนต์ ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความปลอดภัยและไม่ได้รับความคุ้มครอง

นอกจากนี้ในเรื่องของรายได้จากแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับการกำกับดูแลจากภาครัฐอย่างเหมาะสม ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากรายได้ในการให้บริการในรูปแบบอีคอมเมิร์ซและการขายของบนแพลตฟอร์มได้ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้ให้ต่างชาติ

สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับจากตลาดโลกว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ โดดเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์และการใช้งานซึ่งเป็นจุดแข็งของสินค้าไทย หากสามารถผลักดันให้สินค้าไทยส่งออกไปตลาดโลกได้มากขึ้นจะเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านราคาและกำลังการผลิตให้ต่อกรกับทุนจีนเหล่านี้ได้

ขณะเดียวกันความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐที่มีความรับผิดชอบในการกำกับดูแลอาจต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการป้องกันการทะลักเข้ามาอย่างเสรีของสินค้าจีน โดยจำเป็นต้องกำกับดูแลทุกแพลตฟอร์มที่มีการขายของออนไลน์อย่างเท่าเทียมกันอยู่บนกฎระเบียบข้อบังคับเดียวกันเพื่อคัดกรองความปลอดภัยของสินค้าให้ผู้ซื้อทุกคน รวมถึงการทำให้สินค้าจีนเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการปกป้องผู้บริโภค ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ค้าชาวไทย รวมไปถึงปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น