กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมทีวี ผลักดันแพลตฟอร์มแห่งชาติและการใช้ระบบ social credit เน้นกำกับดูแลในเชิงบวก พบหลังเป็น กสทช. 1 ปี 4 เดือน อุปสรรคสำคัญคือระบบกลไกและวัฒนธรรมภายในองค์กรที่สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในการทำงานที่ควรเร่งแก้ไข
ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวถึงในช่วง 1 ปี 4 เดือนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ได้วางและดำเนินการ 5 นโยบาย ได้แก่ 1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Online Migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572
2.แนวทางการกำกับดูแล OTT เพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ 3.การส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย รวมถึงการสร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและจริยธรรม สู่ดิจิทัลที่ยั่งยืน 4.การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ และ 5.การส่งเสริม local content/สื่อท้องถิ่น-ชุมชน
ทั้งนี้ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางการจัดทำต้นแบบ National Streaming Platform โดยมีแนวคิดในการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์กลางที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของทีวีดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการออกอากาศภาคพื้นดิน (Live Stream) ไปสู่ผู้ชมผ่านอุปกรณ์ที่ผู้ชมเลือกใช้ ไม่ว่าจะผ่านทางออนไลน์แอปพลิเคชัน หรือผ่านเว็บไซต์
‘แพลตฟอร์มออนไลน์กลางดังกล่าวจะสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้เปิดรับเนื้อหาได้ ทำให้ระบบโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แทนที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะต้องไปเสียเงินให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มระดับโลกซึ่งไม่เปิดเผยข้อมูลการเปิดรับของผู้ใช้ให้คนอื่นทราบและได้เพียงส่วนแบ่งรายได้อย่างบางเบาอย่างที่เป็นอยู่ หรือต้องลงทุนทำ OTT ทำ Online App ของตัวเอง ซึ่งทำให้ข้อมูลการเปิดรับสื่อไม่รวมศูนย์ กระจัดกระจาย การวางแผนซื้อสื่อทีวีผ่านออนไลน์ก็ทำได้ลำบาก’
พิรงรองย้ำว่า ‘ข้อดีที่น่าจะเกิดขึ้นของการผนึกรวมข้อมูลทั้งเนื้อหารายการ โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคเอาไว้ด้วยกันบนแพลตฟอร์มกลาง คือการไหลเวียนของเงินโฆษณาจะอยู่ภายในประเทศ แทนที่จะไหลออกไปที่ global digital platform และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์น่าจะได้ส่วนแบ่งรายได้ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น จะได้นำรายได้มาพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น’
ขณะนี้ฝ่ายวิศวกรรมโทรทัศน์ของสำนักงาน กสทช. ได้ออกแบบแนวทางเบื้องต้นไว้แล้วและกำลังหารือกับสมาคมทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณาธุรกิจ และจะมีการพูดคุยขอความร่วมมือจากผู้ผลิตทีวีรายใหญ่อย่าง Andriod TV, LG, Samsung ในการติดตั้งแอปของแพลตฟอร์มกลางนี้จากโรงงานให้ปรากฏบนรีโมตหรือแผงหน้าเครื่องรับโทรทัศน์เลย ซึ่งในวันที่ 5 ก.ย. จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกรอบหนึ่งด้วย
ส่วนเรื่องการกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพนั้น กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ยังมีโครงการส่งเสริมการกำกับเนื้อหาโดยใช้ AI และการมอนิเตอร์เนื้อหาผ่านระบบการสะสม social credit เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเนื้อหาที่ดี หรือไม่มีการละเมิดกฎหมายหรือเงื่อนไขใบอนุญาต และเป็นประโยชน์กับสังคมให้สามารถสะสมคะแนนได้อย่างเป็นระบบ และในแต่ละปีจะมีการประเมินเพื่อให้รางวัลซึ่งอาจเป็นการลดค่าธรรมเนียมหรือรางวัลในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการผลิตเนื้อหาที่ดี ไม่ใช่เน้นแค่ยอดผู้ชม
นอกจากการดำเนินการตามนโยบาย 5 ด้านที่กล่าวมาแล้ว สำหรับผลงานอื่นๆ ในช่วง 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ยังมีการจัดทำหรือปรับปรุงร่างประกาศ กสทช.หลายฉบับ ได้แก่ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 ก.ค.66 มีสาระสำคัญคือการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบกิจการเคเบิลและทีวีดาวเทียมสามารถแทรกช่องเพื่อใช้ประโยชน์จากช่องว่างของตำแหน่งช่องที่เลิกกิจการไปแล้วได้
- ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ พ.ศ.2566 (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 15 ส.ค.66) ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการและนักวิชาชีพสื่อเพื่อสร้างองค์กรกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานจริยธรรม
- ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบการกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 21 มิ.ย.66)
- ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 21 มิ.ย.66) เน้นการสนับสนุนเนื้อหาเพื่อเด็กและเยาวชน เนื้อหาที่ผลิตร่วมกับผู้ผลิตต่างประเทศ เนื้อหาที่สะท้อนความหลากหลาย และเนื้อหาเอกลักษณ์ท้องถิ่น โดยจะมีการออกหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนตามมา
- การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 (สิ้นสุดรับฟังความเห็นเมื่อ 23 เม.ย.2566) เป็นการทบทวนร่างประกาศ Must Have
- ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาโฆษณาและโฆษณาแฝง และการทบทวนประกาศ Must Carry อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ กสทช.พิรงรองยังถอดบทเรียน 1 ปี 4 เดือน กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ พบว่าในเรื่องความท้าทายเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมระหว่างกรรมการ กสทช. เพื่อวางนโยบายการกำกับดูแลยุคหลอมรวมด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ภูมิทัศน์สื่อในประเทศ ในภูมิภาคและในระดับโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้านผู้ประกอบการภายใต้ภาวะคุกคามจากสภาวะตลาดเดิมที่หดเล็กลงและความจำเป็นที่ต้องปรับตัวสู่ตลาดใหม่ ด้านองค์กรวิชาชีพในทุกระดับกับความพร้อมในการกำกับดูแลกันเอง
ส่วนปัญหาที่พบคือการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ กับการสร้างธรรมาภิบาลขององค์กรการขาดข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน และทันต่อการเปลี่ยนแปลง
‘อุปสรรคสำคัญคือระบบกลไกและวัฒนธรรมภายในองค์กรที่สร้างบรรยากาศความหวาดกลัว และกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบราชการไทยที่ไม่เอื้ออำนวย และปรับตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง’