“ประธาน กสทช.” ยังตีมึนอุ้ม “ไตรรัตน์” ต่อ หลังบอร์ดเสียงข้างมากทวงถามให้ทำตามมติที่ประชุมที่ได้รับการรับรองแล้ว แถมไม่ยอมสลับวาระขึ้นมาพิจารณา ก่อนชิงปิดประชุมกะทันหัน เลี่ยงโหวตผ่านวาระปรับโครงสร้าง สำนักงาน กสทช. ที่พิจารณามาเกือบ 2 เดือน ก่อนถูกเบี้ยวซ้ำ
วันนี้ (10 ส.ค.) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2566 ระหว่างการประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2566 กรรมการ กสทช. 4 คน อันประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านโทรทัศน์), รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านเศรษฐศาสตร์), พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกระจายเสียง) และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) ได้ทวงถาม ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เรื่องการเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ ซึ่งเป็นไปตามมติ กสทช.ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ให้ นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ รองเลขาธิการด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ปฏิบัติหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช. แทน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล แต่ประธาน กสทช. ยืนยันว่าจะไม่ลงนามในคำสั่งเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ แม้ว่า กสทช.จะมีมติดังกล่าวมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้วก็ตาม โดยอ้างว่าเป็นอำนาจของประธาน กสทช.
ทั้งนี้ มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2566 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 เห็นชอบให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ จากนายไตรรัตน์ ริงเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็น นายภูมิศิษฐ์ รองเลขาธิการ สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สืบเนื่องจากการที่ นายไตรรัตน์ ถูกคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย 4 ใน 6 เสียงตัดสินว่าอาจจะมีความผิดจากกรณีอนุมัติเงินสนับสนุนบอลโลก 600 ล้านบาท และไม่ปฏิบัติตามกฎมัสต์แคร์รี่ (Must Carry) และตามวัตถุประสงค์ที่ กสทช.สนับสนุนเงิน จึงควรมีการสอบสวนทางวินัยและเสนอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงระหว่างนั้น
โดยระหว่างการประชุม กสทช.ครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกบันทึกข้อความจากนายภูมิศิษฐ์ ที่ขอให้ที่ประชุม กสทช. วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินการตามมติและ นายไตรรัตน์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการ และลงนามในหนังสือ คำสั่งและประกาศสำคัญต่างๆ ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่ามติที่ประชุม กสทช. ที่ให้เปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการฯ จะผ่านการรับรองรายงานการประชุมเรียบร้อยแล้วก็ตาม
ที่ประชุมได้อ้างถึง ระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการรักษาการแทน การปฏิบัติการแทน และการปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงาน กสทช. พ.ศ. 2555 ข้อ 16 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้เลขาธิการเสนอ กสทช. เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของ กสทช. ให้เป็นที่สุด” แต่ประธาน กสทช.ได้ปฏิเสธที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาวินิจฉัย โดยอ้างว่า ไม่มีการบรรจุวาระนี้ในการประชุมครั้งนี้ แม้ที่ประชุมจะแย้งว่าเป็นวาระติดตามการดำเนินการตามมติบอร์ด กสทช. แต่ประธานก็ไม่ยินยอม และระบุว่า วาระติดตามมติ จะต้องเป็นวาระที่พิจารณาในช่วงท้ายของการประชุมหลังวาระเสนอเพื่อพิจารณาอื่นๆ จบหมดแล้ว ทางบอร์ฺดคนอื่นจึงขอให้สลับวาระติดตามนี้ขึ้นมาพิจารณาก่อน เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญเพราะถือว่าการไม่ปฏิบัติตามมตินั้นขาดหลักธรรมาภิบาล และอาจนำมาสู่การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งสร้างความสับสนให้กับพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน แต่ประธานก็ไม่ยินยอม อ้างว่าเป็นอำนาจของประธานเท่านั้นในการสลับวาระอื่นขึ้นมาพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมดำเนินไปประมาณ 4 ชั่วโมง เวลาประมาณ 13.30 น. เมื่อถึงการลงมติเรื่องการปรับโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ตามวาระที่ 4.43 (ร่าง) โครงสร้างของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยีให้เป็นไปตามกฎหมายที่เปลี่ยนไป และมุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดีขึ้น โดยให้มีสายงานตามฟังก์ชั่นการบริหารคลื่นความถี่ตามหลักสากลที่ ITU แนะนำ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณและบุคลากรเท่าเดิม แต่ประธาน กสทช. กลับอ้างว่าต้องขอให้มีการไปทบทวนมติของ กสทช. ในเรื่องเดียวกัน เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสมัยของบอร์ดชุดที่แล้วก่อน โดยย้ำว่าจะต้องใช้เสียงกรรมการไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อพิจารณา ตามข้อ 45 ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555
ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย กสทช. พล.อ.อ.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ประธานคณะทำงานการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ได้พยายามอธิบายความหมายของการทบทวนมติตามข้อ 45 ของระเบียบฯ ว่า ไม่ใช่ในกรณีนี้ มิเช่นนั้นแล้ว ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงแผนแม่บทฯ หรือการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือระเบียบต่างๆ ที่ กสทช. ชุดที่แล้วได้เคยออกไว้ ก็ต้องมาขอทบทวนมติทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมติอนุมัติได้ตามปกติ เพราะความหมายการทบทวนมติตามข้อ 45 คือ กรณีที่ หาก กสทช. มีมติเรื่องใดไปแล้ว แต่ไม่ต้องการดำเนินการหรือเปลี่ยนแปลงตามมตินั้น จึงต้องขอทำการทวนมติตามข้อ 45 ดังกล่าว ที่สำคัญที่ผ่านมา คณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน กสทช. ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ที่เห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างสำนักงานฯ รวมทั้งการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธุ์ 2566 ก็ได้เห็นชอบและให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างฯ ตามที่ประธานคณะทำงานฯ นำเสนอ ตลอดจนได้จัดประชุมรับฟังความเห็น โดยคณะกรรมการ กสทช. ทุกท่าน และผู้บริหารสำนักงานฯ ได้เข้าร่วมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ก่อนที่จะถูกเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 26 มิถุนสยน 2566 และได้ถูกเลื่อนการพิจารณามาจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน
หลักฐานเหล่านี้จึงสะท้อนว่า การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามมติและอยู่ในสายตาของบอร์ด กสทช. มาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ หากพิจารณาตามระเบียบการประชุมฯ ข้อ 41 (1) ที่ระบุว่า “กรณีเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 27 (19) (23) และ (25) หรือเป็นกรณีการบริหารจัดการภายในตามความในมาตรา 58 ให้ใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุม”
ซึ่ง มาตรา 58 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ดังกล่าวระบุให้ กสทช. มีอำนาจออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของสำนักงาน กสทช. โดยให้รวมถึงเรื่องการแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงาน กสทช. และขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว รวมถึงการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและค่าตอบอื่นของเลขาธิการ กสทช. พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงาน กสทช. ซึ่งการพิจารณาวาระ (ร่าง) โครงสร้างสำนักงาน กสทช. อยู่ในขอบเขตอำนาจที่สามารถใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุมในการพิจารณาตามระเบียบการประชุมฯ ได้ ส่งผลให้ กสทช. สามารถลงมติวินิจฉัยชี้ขาดโดยใช้เสียงข้างมากของกรรมการผู้มาประชุมได้เลยทันที
เมื่อ กสทช.ทั้ง 4 คน ตามรายชื่อข้างต้นได้เสนอว่า ประธานควรให้มีการลงมติตามระเบียบดังกล่าว ซึ่งมีความชัดเจน และเป็นสิ่งที่ กสทช. ยึดปฏิบัติตามแนวทางนี้มาโดยตลอดไม่เคยมีใครมีปัญหา แต่ ศ.คลินิค นพ.สรณ ก็ไม่ยินยอมให้มีการลงมติดังกล่าว ซึ่ง ศ.คลินิค นพ.สรณ ได้เสนอว่าให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ แต่ กสทช.เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นระเบียบภายในที่ กสทช. มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ณ จุดนี้ ประธานจึงขอพักการประชุม แม้ กสทช. 4 คน จะไม่เห็นด้วย แต่ประธานก็ประกาศว่า ขอพักการประชุมเป็นเวลา 20 นาที และเดินออกจากห้องไปทันที ระหว่างที่ กสทช.บางคนออกไปพักนั้น ศ.คลินิค นพ.สรณ ได้กลับเข้ามาในที่ประชุมและกล่าวผ่านไมโครโฟนว่า ขอปิดการประชุม ก่อนจะรีบออกจากที่ประชุม และนั่งรถที่จอดรออยู่ออกไปจากสำนักงานทันที ทิ้งให้ กสทช.ที่เหลือในห้องยืนงงกัน เพราะไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการประชุม กสทช. มาก่อน และวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นความมืดมนไร้ความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งขององค์กร.