xs
xsm
sm
md
lg

10 เดือนสปินออฟ "ไซเบอร์จีนิคส์" ผงาดแชมป์ Top5 ซิเคียวริตีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัทที่เพิ่งขายหุ้น IPO เกลี้ยงและเดินหน้าเทรดในช่วงกลางปีอย่าง ‘จีเอเบิล’ ได้ประกาศแยกธุรกิจรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ชื่อ ‘ไซเบอร์จีนิคส์’ (CyberGenics) เพื่อติดสปีดลุยธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตีไทยจริงจังในช่วงเดือนกันยายน 2565 ความเคลื่อนไหวนี้เรียกเสียงตื่นเต้นไม่น้อยเพราะการสปินออฟด้านซิเคียวริตีของเมืองไทยในเวลานั้นมีไม่มาก และนัยของการตัดสินใจนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นการย้ายทีมเดิมมาเปลี่ยนหัวบริษัทใหม่ แต่ยังเป็นสัญญาณว่าจีเอเบิลจะมุ่งมั่นปั้นธุรกิจนี้ให้เป็น new S-Curve ให้ได้

ปรากฏว่าหนูน้อยอายุ 10 เดือนอย่างไซเบอร์จีนิคส์นั้นไม่ได้เป็นเบบี๋วัยเตาะแตะ เพราะสามารถก้าวกระโดดขึ้นแชมป์ TOP 5 หรือ 5 อันดับแรกของบริษัทผู้ให้บริการด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีที่มีมากกว่า 30 บริษัทในไทย เบื้องต้น ไซเบอร์จีนิคส์เชื่อว่าแนวโน้มตลาดในช่วงครึ่งปีหลังจะยิ่งคึกคัก โดยเฉพาะพัฒนาการของบริษัทที่จะเห็นมากขึ้น อย่างแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งจะดันให้ไซเบอร์จีนิคส์เติบโตต่อเนื่อง

สุธี อัศวสุนทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด
วันนี้ ไซเบอร์จีนิคส์ย้ำว่าประเทศไทยเป็นตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีขนาดใหญ่โตมหาศาล ทั้งกลุ่มโปรดักต์ และเซอร์วิสที่ขยายตัวเกิน 10% ต่อปี จนมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท เค้กก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ที่กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ซึ่งเป็นฐานที่ไซเบอร์จีนิคส์ถนัดอยู่แล้ว แต่ในช่วงขวบปีถัดจากนี้ ไซเบอร์จีนิคส์จะเตรียมตัวเข้าไปบุกเค้กก้อนใหญ่รองลงมาอย่างภาครัฐ ซึ่งจะเป็นบันไดให้ไซเบอร์จีนิคส์จะสามารถเติบโตได้เทียบเท่าหรือมากกว่าการเติบโตของภาพรวมตลาด และอาจขยายผลสู่เป้าหมายการเติบโตที่เคยตั้งไว้เมื่อตอนสปินออฟ นั่นคือการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 30-40% และสร้างยอดขายทะลุ 1,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

***หลังสปินออฟ ลุยลงทุนพัฒนา

นายสุธี อัศวสุนทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซเบอร์จีนิคส์ จำกัด อัปเดตถึงชีวิตของไซเบอร์จีนิคส์ในช่วงหลังการสปินออฟ ว่าบริษัทมุ่งวางกลยุทธ์ให้บริการไซเบอร์ซิเคียวริตีแบบครบวงจร โดยเฉพาะโซลูชันชั้นนำจากพันธมิตรระดับโลก รองรับทุกความต้องการของธุรกิจทั้งบริการให้คำปรึกษา บริหารจัดการความปลอดภัย และการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ปัจจุบันเริ่มเห็นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่นกลุ่มพลังงาน และการเติบโตในภาพรวมยังเป็นไปตามแผน

‘การสปินออฟเพิ่มความยืดหยุ่นให้ไซเบอร์จีนิคส์ เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน จากพนักงานจีเอเบิล 1,500 คน ไซเบอร์จีนิคส์ขับเคลื่อนโดยพนักงาน 100 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 80 คน เราเห็นลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น กลุ่มออยแอนด์แก๊ส มีการใช้งบลงทุนวิจัยและพัฒนามากกว่าเดิม คิดว่าจะรีเทิร์นกลับมาเป็นรายได้’ สุธีกล่าว ‘การเติบโตของตลาด ถ้ามองในระดับโลกมีการเติบโต 13.8% ประเทศไทยบ้านเราโตน้อยกว่าคือ 10 ต้นๆ ไซเบอร์จีนิคส์มีเป้าหมายชัดเจนคือเกาะการเติบโตในอัตราส่วนที่เท่าหรือมากกว่าตลาดนิดหน่อย ถึงตอนนี้ผ่านไปครึ่งปีเรายังเป็นไปตามแผน ผ่านมาด้วยดี’

สุธี ย้ำว่า จากปัจจุบันที่ผู้เล่นในตลาดซิเคียวริตีไทยมีจำนวนมากกว่า 30 เจ้า ไซเบอร์จีนิคส์มองตัวเองเป็น 1 ใน 5 ของตลาด ผลจากการปักธงในตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นโอกาสใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับทุกเซกเมนต์ สำหรับไซเบอร์จีนิคส์ที่มีเทคโนโลยีและทีมงานคุ้นเคยสอดคล้องกับตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นหลัก บริษัทจึงกำลังเตรียมความพร้อมในด้านอื่นเพื่อเจาะตลาดภาครัฐในช่วงขวบปีถัดไป โดยจะมีการตั้งทีมงานเพื่อตอบความต้องการพิเศษของตลาดภาครัฐ


ภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป้าหมายหลักที่ไซเบอร์จีนิคส์วางทิศทางธุรกิจไว้สำหรับปีนี้ ทั้งธุรกิจการเงิน-ธนาคาร ประกันภัย พลังงาน การผลิต ค้าปลีก รวมถึงเฮลธ์แคร์ โดยอีกเซกเมนต์ที่ไซเบอร์จีนิคส์หวังจะขยายฐานลูกค้าเป็นพิเศษคือกลุ่มโซโห (SOHO) เช่น กลุ่มบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม หรือบริษัทเทคโนโลยีที่มีทีมงานไม่มาก และการลงทุนด้านซิเคียวริตียังไม่เต็มที่ บริษัทกลุ่มนี้มักซื้อลิงก์อินเทอร์เน็ต ลงทุนซิเคียวริตีเบื้องต้น และติดตั้งแอนติไวรัส หรือไฟร์วอลล์ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มลูกค้าของบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP ที่มักตัดสินใจซื้อลิงก์เพื่อรับระบบซิเคียวริตีเป็นออนท็อปเท่านั้น

จุดนี้ ไซเบอร์จีนิคส์หวังให้ตัวเองเป็นเทคสปินออฟที่ทำให้องค์กรต่างๆ ปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสถิติชี้ว่าองค์กรไทยมากกว่า 367 องค์กรถูกแฮกเว็บไซต์ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์โจมตีที่ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ในองค์กร ทุกสถิติสะท้อนว่าธุรกิจที่ต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ล้วนจำเป็นต้องมีการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบ

ในภาพรวม สุธีย้ำถึงวิสัยทัศน์และแนวคิดของไซเบอร์จีนิคส์ ว่าต้องการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจผ่านการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้อย่างปลอดภัย โดยบริษัทมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ พร้อมกับบุคลากรที่มีความรอบรู้เรื่องความปลอดภัยอยู่ในทุก DNA

‘เรามั่นใจในจุดแข็งของทีมงานมืออาชีพของไซเบอร์จีนิคส์ ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งรับรองด้วยมาตรฐานด้านโซลูชันระดับโลกจากพันธมิตรชั้นนำของเรา เพื่อรองรับการให้บริการทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ไซเบอร์จีนิคส์เอง ยังผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 27001 ที่เป็นตัวการันตีคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศอีกด้วย’


วันนี้ การให้บริการของไซเบอร์จีนิคส์ครอบคลุมทั้งบริการให้คำปรึกษา บริหารจัดการความปลอดภัยและเฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีในรูปแบบต่างๆ ทุกบริการสอดคล้องกับแนวโน้มภัยไซเบอร์ที่ถูกมองว่าจะเกิดขึ้นในปี 2023-2024

***ตอบทุกภัยการโจมตี

สุธีมองว่า ‘แรนซัมแวร์’ ยังคงเป็นเบอร์ 1 เรื่องแนวโน้มการโจมตีไซเบอร์ซิเคิยวริตีไทยในช่วงปีนี้-ปีหน้า รองลงมาเป็นภัยเจาะระบบออนไลน์ของสิ่งต่างๆ หรือ IoT (Internet of things) และระบบเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน OT (Operation Technology) นอกนั้นคือภัยแทรกแซงระบบยืนยันตัวบุคคล ภัยจากการรักษาความปลอดภัยด้วยการให้สิทธิการใช้งานระบบ รวมถึงระบบป้องกันภัยบนคลาวด์และการทำงานจากระยะไกล

‘แรนซัมแวร์ ยังเป็นเรื่องฮอตอันดับ 1 การคลิกอะไรก็ไม่รู้ แล้วทำให้ไฟล์ในเครื่องเราใช้ไม่ได้ ต้องไปจ่ายเงิน’ สุธีเล่า ‘อีกเรื่องคือ IoT และ OT และเรื่องการยืนยันตัวตน การกำหนดว่าใครใช้อะไรได้บ้าง คนที่ออกจากองค์กรต้องไม่มีสิทธิใช้งาน เมื่อลงทุนไปแล้ว ทำอย่างไรให้องค์กรมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจริง ลงทุนแล้วคุ้มค่า อีกส่วนคือการทำงานจากที่บ้านและที่ใดก็ตาม ซิเคียวริตีจะมีบทบาทอย่างยิ่ง เป็น 5 เทรนด์ที่ร้อนแรงแน่นอน’

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจซิเคียวริตีเติบโต สุธีอธิบายว่าคือความซับซ้อนของภัยที่มีมากขึ้นทุกวัน โดยยกตัวอย่างเคสล่าสุดที่มีเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน 66 ซึ่งมีผู้เสียหายขับรถไปยังจุดที่แฮกเกอร์ทำการ เมื่อมีการคลิกลิงก์แล้วเงินถูกดูดหายพร้อมกับการส่งข้อความสั้นเข้ามาตรงกับธนาคาร จุดนี้แสดงถึงความสำคัญของการมีเทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตี พร้อมกับที่ผู้ใช้ทุกคนควรระวังไม่คลิก SMS ที่มีลิงก์แนบโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ยังมีภาวะที่หลายองค์กรย้ายระบบขึ้นคลาวด์ ทำให้เกิดความเสี่ยงเพราะการเชื่อมต่อเป็นช่องทางให้แฮกเกอร์เข้าไปได้ ยังมีความเสี่ยงจากการใช้ฟรีอินเทอร์เน็ตตามร้านกาแฟที่อาจไม่มีการเข้ารหัส ทำให้แฮกเกอร์อาจปล่อยสัญญาณเพื่อปลอมตัวแอบอ้าง ทั้งหมดล้วนเป็นภัยที่ทำได้ง่ายในปัจจุบัน


ขณะเดียวกัน หลายองค์กรจำเป็นต้องลงทุนไซเบอร์ซิเคียวริตีเพื่อปฏิบัติตามกฎหรือมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น ในกลุ่มธนาคารที่มีการตั้งกลุ่ม TBCert เพื่อแชร์ความรู้และการพูดคุยระหว่างกลุ่มธนาคาร โดยมีการสร้างข้อปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยและเชื่อถือได้ในกลุ่มธนาคารไทย อีกส่วนคือมาตรฐานอุตสาหกรรมในภาคการผลิต ซึ่งไซเบอร์ซิเคียวริตีจะมีบทบาททำให้ระบบการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น

‘บ้านเราทำได้ดี เราโชคดีมากที่มีหน่วยงานขับเคลื่อนเรื่องนี้เข้มข้น มี พ ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีภัยโจมตีเกิดขึ้น ซีอีโอจะต้องรับผิดชอบ จะไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้’ สุธีเล่า ‘กฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังเป็นตัวขับเคลื่อนชั้นดีที่ทำให้องค์กรไทยตระหนักรู้ ทั้งหมดจะทำให้องค์กรไทยตื่นตัว’

สุธีย้ำว่าปัจจุบัน กว่าครึ่งของธนาคารไทยเป็นลูกค้าของไซเบอร์จีนิคส์ในขณะนี้ อีกกลุ่มคือบริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับกลุ่มโรงงานและค้าปลีก ที่มีบางส่วนถูกแรนซัมแวร์จนไม่สามารถผลิตและสร้างความเสียหาย ***ปีหน้าแจ้งเกิดแพลตฟอร์ม-โกยลูกค้าใหม่นอกจากการดูแลลูกค้ากลุ่มเดิมของจีเอเบิล และหาโอกาสในลูกค้ากลุ่มเดิม ด้วยการหาเทคโนโลยีใหม่มานำเสนอ และการหาลูกค้าใหม่ เช่น ภาครัฐ ที่จะขับเคลื่อนผ่านการเป็นพันธมิตรกับหลายองค์กร 

อีกส่วนที่ไซเบอร์จีนิคส์ให้ความสำคัญเพื่อการเติบโตที่ต่อเนื่องคือการสรรหาเทคโนโลยีใหม่ขั้นสูง บริษัทจึงส่งตัวแทนไปร่วมงานแสดงเทคโนโลยีทั้งที่สหรัฐฯ และอิสราเอล ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ได้รับการยอมรับในวงการไซเบอร์ซิเคียวริตี ทำให้บริษัทมีโซลูชันใหม่เพื่อช่วยป้องกันลูกค้าโดยตอนนี้บริษัทพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเอง คาดว่าจะเริ่มต้นให้บริการในปี 67

‘เราวางแผนชิงส่วนแบ่งตลาดด้วยจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยี เราไม่อยู่เฉยรอให้เทคโนโลยีเข้ามาในประเทศ แต่เราออกไปหาเทคโนโลยีมาบริการ อีกจุดคือการทำแพลตฟอร์มเราเอง จะทำให้เราก้าวล้ำเกินบริษัทอื่นในไทย อีกส่วนคือทีมงานที่จะรองรับได้ ต่างจากเอสไอบางบริษัทที่ไม่มีทีมงานของตัวเอง ต้องใช้คนของซัปพลายเออร์ อาจจะทำให้ไม่ต่อเนื่อง เรื่องที่ 3 คือการบริการ ที่เข้าใจความต้องการ เป็นสิ่งที่ท้าทาย และยังพัฒนาให้ต่อเนื่อง การส่งมอบงานตรงเวลาก็เป็นคีย์สำคัญ ส่งให้ได้และต้องไม่ทิ้งงาน’

ในภาพรวม สุธีกล่าวถึงจีเอเบิลว่า การมีบริษัทแม่เป็น ‘แบ็กอัป’ นั้นไม่ได้มีข้อดีเรื่องการเป็นส่วนเสริมเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่บริษัทสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียว สร้างความเชื่อมั่นจากลูกค้าได้เต็มที่ เบื้องต้นบริษัทยังไม่มีแผนพัฒนาธุรกิจในต่างประเทศ และเดินหน้าโฟกัสธุรกิจในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้หนูน้อยวัย 10 เดือนที่ได้แชมป์ TOP5 ซิเคียวริตีไทยในวันนี้ กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อนาคตไกลต่อไปอีกหลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น