“อะไรที่มีคุณประโยชน์ก็อาจมีอันตรายแฝงอยู่ อย่างเทคโนโลยีทางการเงินที่ทำให้การใช้ชีวิตของเราสะดวกสบายก็มาพร้อมกับมิจฉาชีพออนไลน์ที่มากขึ้นทุกวัน แล้วโจรพวกนี้ก็ขยันสรรหาสารพัดวิธีที่จะมาขโมยเงิน หลอกลวง และต้มตุ๋นจนหลาย ๆ คนตกเป็นเหยื่อ จากการขโมยเงินออนไลน์ผ่านบัตรเดบิต/เครดิต (BIN attack) มาสู่การใช้คอลเซนเตอร์และการส่ง SMS หรือการเพิ่มเพื่อนทาง Line ลวงให้กดลิงก์ไปยังเว็บไซต์และติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อดูดข้อมูลส่วนตัว ภัยการเงินเหล่านี้มักปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย และใช้จุดอ่อนของความเป็นมนุษย์เข้ามาหลอกล่อ ทำให้เราโดนฉกเงินไปโดยไม่รู้ตัว”
ภัยทางการเงินในยุคดิจิทัลที่พบบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง”รับมือ Phishing ของปลอมก๊อปเกรดเอ
Phishing คือ การแอบอ้างว่าตนเองเป็นผู้ให้บริการ เพื่อหลอกให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลบัตรเครดิต เลขที่บัญชีธนาคาร ชื่อผู้ใช้งาน หรือรหัสผ่าน เพื่อให้มิจฉาชีพสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปสวมรอยทำธุรกรรมต่อไป
โดยทั่วไป มิจฉาชีพจะวางเหยื่อล่อโดยการส่ง SMS หรืออีเมลปลอมที่ออกแบบให้ดูคล้ายกับอีเมลของผู้ให้บริการที่เราใช้บริการอยู่ โดยมิจฉาชีพมักใช้ความตกใจของเราเป็นเครื่องมือ เช่น อ้างว่าเราถูกอายัดบัญชี หรือข้อมูลถูกแฮก และขอให้เราเข้าไปกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นให้ดูคล้ายกับเว็บไซต์จริงของผู้ให้บริการ เมื่อเราหลงเชื่อกรอกข้อมูลไป ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังมิจฉาชีพทันที
การรับมือภัย Phishing ง่ายมาก แค่เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เช่น เมื่อได้รับอีเมลหรือ SMS ที่อ้างว่าเป็นผู้ให้บริการ ควรดูว่ามาจากผู้ให้บริการจริงหรือไม่ และไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมลหรือ SMS ที่เราไม่รู้จัก เก็บข้อมูลส่วนตัวไว้เป็นความลับ หรือหากไม่แน่ใจให้โทรศัพท์สอบถามผู้ให้บริการโดยตรง
BIN attack เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มิจฉาชีพใช้หลอกลวง BIN attack คืออะไร
BIN attack ก็คือการที่มิจฉาชีพใช้โปรแกรมสุ่มเลขบัตรไปเรื่อย ๆ แล้วลองกดซื้อของดู ถ้าไม่ได้ก็ลองเลขใหม่ ถ้าได้ก็เก็บข้อมูลบัตรนั้นไว้ เพราะสามารถเอาไปใช้ได้อีกหลายรอบจนกว่าเจ้าของหรือสถาบันการเงินจะรู้ตัว
การทำ BIN attack นี้ ไม่ซับซ้อนเหมือนที่หลายคนเข้าใจ (ว่าต้องทราบทั้งเลขบัตร ชื่อผู้ถือบัตร วันหมดอายุ รหัสหลังบัตร และมี OTP) เพราะข้อมูลที่จำเป็นจริง ๆ คือเลขบัตรและวันหมดอายุเท่านั้น ข้อมูลเพื่อตรวจสอบอื่น ๆ เป็นส่วนที่ร้านค้าสามารถเลือกได้เองว่าจะใช้หรือไม่ (เพราะร้านค้าเป็นคนรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการสวมรอยใช้บัตร) ร้านค้าส่วนหนึ่งไม่ได้ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะกรณีที่ธุรกรรมมีมูลค่าไม่มากเพื่อความสะดวกของลูกค้า เมื่อมิจฉาชีพพบร้านค้าออนไลน์ที่ระบบการตรวจสอบไม่เข้มงวดมากนัก ก็สามารถลองสุ่มเลขบัตรเพื่อใช้งานได้ หากสำเร็จก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ
การป้องกัน BIN attack
หลายธนาคารมีการป้องกัน BIN attack คือเมื่อพบรายการชำระเงินที่ถูกปฏิเสธหลายครั้งติดต่อกันจากร้านค้า (เพราะมิจฉาชีพสุ่มเลขแล้วผิด) ระบบเตือนจะทำงาน และอาจจะหยุดการให้บริการร้านค้านั้นชั่วคราวเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม โดยสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการแต่ละรายสามารถปรับการตั้งค่าได้ เช่น ตั้งค่าจำนวนการกรอกข้อมูลของบัตรผิด หากเกินกี่ครั้งต่อนาทีจะหยุดให้บริการร้านค้านั้นชั่วคราว หรือถ้ามีการใช้บัตรซ้ำ ๆ ถี่ ๆ เกินกี่ครั้ง จะระงับการใช้บัตรนั้นไปก่อน
สำหรับประชาชนก็สามารถดูแลความปลอดภัยให้ตัวเองเพิ่มขึ้นได้อีก โดยหมั่นตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรายการในบัตร เพื่อดูว่ามีรายการผิดปกติบ้างหรือไม่ และอาจกำหนดวงเงินของบัตรให้ไม่สูงมาก หากต้องใช้จ่ายรายการใหญ่ ๆ ก็สามารถโทรไปหาธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อขอเพิ่มวงเงินชั่วคราวได้ รวมถึงอาจกำหนดให้บัตรบางใบใช้จ่ายออนไลน์ไม่ได้ นอกจากนี้ ไม่ควรผูกบัญชีบัตรกับร้านค้าออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงที่ข้อมูลบัตรจะรั่วไหลผ่านร้านค้าเหล่านั้น
แอปฯ เงินกู้ปลอม
การกู้เงินในยุคปัจจุบันทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไป ยิ่งหากได้รับ SMS หรือมีคนโทรศัพท์ หรือแอดไลน์มาแล้วอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือบริษัทที่จะให้เงินกู้หรือให้เงินช่วยเหลือ อย่ารีบกดลิงก์หรือกรอกข้อมูลเด็ดขาด ควรเช็กให้แน่ใจก่อน จะได้ไม่ถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวง สิ่งที่ทำให้เรารู้ทันและไม่หลงเชื่อมีง่าย ๆ 4 ข้อ ดังนี้
1. แยกแยะผู้ให้เงินกู้
แอปฯ เงินกู้ปลอม จะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทรหาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปฯ หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่าง ๆ คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น
2. ไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งคลิก
ควรตรวจสอบรายชื่อแอปฯ และชื่อผู้ให้บริการก่อนตัดสินใจ โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ ธปท. ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ ธปท. กำกับดูแล และมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว หรือควรสอบถามหรือหาข้อมูลด้วยตัวเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าเป็นแอปฯ ของผู้ให้บริการจริงหรือไม่
3. เลือกแหล่งดาวน์โหลดแอปฯ ดาวน์โหลดจากแหล่งที่ปลอดภัย เชื่อถือได้
4. อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้ ไม่ต้องรีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเราโดยควรกู้เท่าที่จำเป็น
ธปท.แนะรับมือให้ปลอดภัยจากกลโกงทางการเงินและโจรไซเบอร์
จากการขโมยเงินออนไลน์ผ่านบัตรเดบิต/เครดิต (BIN attack) มาสู่การใช้คอลเซนเตอร์และการส่ง SMS หรือการเพิ่มเพื่อนทาง Line ลวงให้กดลิงก์ไปยังเว็บไซต์และติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อดูดข้อมูลส่วนตัว ภัยการเงินเหล่านี้มักปรับเปลี่ยนให้ทันสมัย และใช้จุดอ่อนของความเป็นมนุษย์เข้ามาหลอกล่อ ทำให้เราโดนฉกเงินไปโดยไม่รู้ตัวยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาก็ยิ่งเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงบูมของธนาคารดิจิทัล ผู้คนมักทำธุรกรรมผ่าน mobile application ทำให้มิจฉาชีพนำมาใช้เป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน
"สาเหตุที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ง่ายก็มาจาก รัก โลภ กลัว หลง เช่น ถูกหลอกล่อให้เราสนับสนุนเงิน โดยอาศัยความรัก (romance scam) หลอกให้กลัวหรือตกใจโดยอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการ หรือใช้ความหลงหลอกให้เรารีบโอนเงินโดยไม่ทันได้ฉุกคิด พฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มิจฉาชีพนำมาใช้จนทำให้ต้องสูญเสียเงินจากกลโกงต่าง ๆ”
แจ้งเหตุทันทีที่ตกเป็นเหยื่อ
เมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือรีบติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งเหตุ ปัจจุบัน ธปท. ได้ออกมาตรการให้ทุกธนาคารต้องมีสายด่วนหรือมีเบอร์เฉพาะให้ประชาชนเข้ามาแจ้งเรื่องภัยการเงิน และต้องพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จากนั้นติดต่อไปยังสถานีตำรวจของแต่ละท้องที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือในการระงับธุรกรรมหรืออายัดเงินและดำเนินคดี แต่ถ้าจะให้เร็วขึ้นก็สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com โดยเก็บหลักฐานต่าง ๆ ไว้เพื่อให้กระบวนการติดตามคนร้ายง่ายขึ้น หากยังขาดความราบรื่นแนะนำให้ติดต่อมายังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน สายด่วน 1213 ของ ธปท. ที่จะคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวปฏิบัติต่าง ๆ และรับเรื่องร้องเรียน
ป้องกันตัวจากกลลวงหลอก
จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ในช่วงเดือนมีนาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า 22.77% ของเรื่องที่รับแจ้งเป็นคดีการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม และหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซนเตอร์ซึ่งอยู่อันดับสองรองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย กรณี BIN attack พุ่งสูงในช่วงปี 2564 เมื่อถึงปี 2565 สถิติความเสียหายในเรื่องนี้ก็ลดลงอย่างมาก โดยความเสียหายจากช่องทางให้บริการผ่านบัตรเดบิตลดลง 47.62% และบัตรเครดิตลดลง 66.58% แต่กลับพบความเสียหายจาก mobile application โดยเฉพาะแอปฯ ดูดเงินเพิ่มขึ้นแทน โดยมีตัวเลขความเสียหายรวมกว่า 511 ล้านบาท เป็นการสะท้อนว่าคนร้ายได้พัฒนาการโจมตีโดยปรับรูปแบบการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินเองก็พยายามพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อป้องกันไม่ให้แอปฯ ดูดเงินทำงานได้ ซึ่งล่าสุดระบบแอปพลิเคชันของธนาคารสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการรีโมตหรือเปิดสิทธิ์การใช้งานผิดปกติบนโทรศัพท์มือถือของลูกค้าหรือไม่ หากตรวจพบก็จะหยุดให้บริการ mobile banking ทันที ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดการโจมตีของคนร้ายไปได้
ทั้งนี้วิธีป้องกันตัวเองอย่างง่าย ๆ เช่น กรณีบัตรเดบิต/เครดิต ให้หมั่นดู SMS แจ้งเตือนจากธนาคาร เมื่อพบความผิดปกติก็รีบติดต่อธนาคารเพื่อระงับธุรกรรมนั้น กรณีได้รับลิงก์ผ่าน SMS ให้พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือทั้งตัวผู้ส่งและเนื้อหาที่ส่งมา มาตรการล่าสุดของ ธปท. ที่ธนาคารได้ดำเนินการแล้วคือไม่แนบลิงก์ใน SMS สำหรับกรณีแก๊งคอลเซนเตอร์ส่วนใหญ่ติดต่อมาจากต่างประเทศ จึงไม่ควรรับสายที่มีเครื่องหมายบวกขึ้นมา เช่น +697 +698 ก็จะช่วยสกัดกั้นไม่ให้เกิดการพูดคุยที่นำไปสู่การหลอกลวงได้ และในกรณีแอปฯ เงินกู้ ให้สังเกตดูว่าเป็นแอปพลิเคชันของบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.
(https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx) และสุดท้าย กรณีแอปฯ ดูดเงิน ให้สังเกตถึงแหล่งที่มาในการกดลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หากอยู่นอก official store ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ เช่น Play Store หรือ App Store ก็ควรระมัดระวังตัวไว้
ยกระดับเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ให้สามารถรับมือภัยการเงิน
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปปง. กสทช. TB-CERT สมาคมธนาคารไทย พยายามผลักดันมาตรการ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองรับมือ เพื่อความมั่นใจในระบบสถาบันการเงิน การกำหนดแนวนโยบายที่จะช่วยลดความเสี่ยงหรือนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำผิดใน 4 ขั้นตอน โดยมี พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรมทางเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพที่หลอกลวง ประกอบด้วย
1. การติดต่อของคนร้ายผ่านโทรศัพท์มือถือ เป้าหมายของมาตรการในกลุ่มนี้คือ ลดโอกาสในการติดต่อเหยื่อได้สำเร็จ ได้แก่ การปิดกั้น SMS โดย ธปท. และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ทำงานร่วมกับ กสทช. ในการลด SMS หลอกลวงที่แอบอ้างชื่อธนาคาร และการปิดกั้นเว็บไซต์ปลอมที่จะเป็นช่องทางของคนร้ายหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เพื่อให้เกิดกระบวนการที่รวดเร็วขึ้นในการปิดกั้นเว็บไซต์
2. การทำธุรกรรมโอนเงินให้คนร้าย มาตรการที่จะช่วยป้องกันในขั้นตอนนี้คือ การแจ้งเตือนผ่าน pop-up message บนโทรศัพท์มือถือในขณะที่ผู้โอนกำลังทำธุรกรรมทาง mobile banking ซึ่งจะช่วยเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบน mobile banking ให้ทันสมัย เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่เสมอ และยังมีการเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนด้วย biometrics หรือการสแกนใบหน้าในกรณีที่มีการโอนเงินตามจำนวนที่กำหนดเงื่อนไขไว้ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภัยใหม่ ๆ
3. การโอนเงินเป็นทอด ๆ ของบัญชีม้า ในส่วนนี้มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งเดิมธนาคารไม่มีอำนาจระงับธุรกรรมได้ แต่ พรก.ฯ ได้กำหนดให้ธนาคารสามารถระงับธุรกรรมได้ชั่วคราว เมื่อตรวจพบว่าบัญชีเงินฝากถูกใช้ทำธุรกรรมต้องสงสัยหรือได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย และยังสามารถระงับธุรกรรมที่ดำเนินการเป็นทอด ๆ จนถึงทอดสุดท้ายได้อีกด้วย
4. การดำเนินคดีและการช่วยเหลือเยียวยา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อธนาคาร นอกจากที่ ธปท. ได้ออกมาตรการให้ธนาคารมีสายด่วนที่ประชาชนสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง และการติดตามให้การดูแลรับผิดชอบลูกค้าของธนาคารในกรณีพิสูจน์ข้อเท็จจริงพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของธนาคารแล้ว พรก.ฯ ก็ได้ให้สิทธิประชาชนสามารถไปแจ้งความได้ทั่วราชอาณาจักร ทำให้การติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับผู้ร้ายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น นอกจากนี้ พรก.ฯ ดังกล่าวก็ยังกำหนดบทลงโทษผู้รับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือผู้ที่ประกาศขายบัญชีม้าและหมายเลขโทรศัพท์ที่จะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอีกด้วย
คาถาระวังภัย'มีสติ อย่าเชื่อ อย่ากด อย่าโอน'
“ธปท. ได้พยายามสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงภัยทางการเงินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที เพื่อไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อรายถัดไป โดยช่องทางหลักของ ธปท. ที่ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร แจ้งเหตุ รวมถึงร้องทุกข์ด้านการเงินเข้ามาได้ นอกจากสายด่วน 1213 ของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินแล้ว ยังมีบริการผ่านแพลตเว็บไซต์ (https://www.1213.or.th) เฟซบุ๊ก (ศคง. 1213) รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ และยังร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลฯ กสทช. รวมทั้งหน่วยงานผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ในการยกระดับการเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการระมัดระวังตัวเอง รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เข้าใจทริกที่คนร้ายพยายามเข้ามาหลอกลวง โดยระลึกไว้เสมอว่าต้อง 'มีสติ อย่าเชื่อ อย่ากด อย่าโอน' อันจะเป็นคาถาง่าย ๆ ที่จะทำให้ชีวิตเราปลอดภัยจากภัยการเงินหรือจากมิจฉาชีพต่าง ๆ ได้"