xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส-ETDA พร้อมตอบข้อสงสัย กฎหมาย DPS ลงทะเบียนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส - ETDA หารือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เปิดช่องทางให้คำปรึกษา ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) 17 ก.ค. ระบุผู้ให้บริการส่วนใหญ่พร้อมจดแจ้ง

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ โดยผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ

“จากการหารือผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่มีความเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการจะเข้ามาจดแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ ซึ่งจะเป็นกรอบแนวปฏิบัติที่ดี ที่ทำให้การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น”

ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแต่ละบริษัทยังได้แบ่งบันแนวทางการลงทะเบียนผู้ใช้ เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะเข้ามาช่วยในการแก้ไขและปรับปรุง (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางระบบกลางทางกฎหมายที่ลิงก์ https://bit.ly/3XD4QFL จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นี้ 

“เป้าหมายของกฎหมาย DPS มุ่งเน้นการดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการ ภายใต้การส่งเสริมและการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการพัฒนาให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) เพื่อช่วยเป็นกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการ”


ที่ผ่านมา ได้มีการสื่อสารถึงลักษณะของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมาย DPS มาอย่างต่อเนื่องว่าจะต้องเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการอื่นๆ มาพบกันและเกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ ทั้งที่ให้บริการอยู่ประเทศไทย หรือให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่อยู่ประเทศไทย

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจและมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมาย DPS ได้แก่ กรณีผู้ให้บริการเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือมีผู้ใช้บริการในไทยเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 5,000 รายขึ้นไป


หากเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่นอกประเทศไทย แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทยจะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในประเทศไทยและต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ยังมีผู้ให้บริการบางรายที่ยังมีความกังวล และเกิดความสงสัยอย่างต่อเนื่องว่า บริการแพลตฟอร์มของตนเองเข้าข่ายต้องแจ้งข้อมูลให้ ETDA ทราบหรือไม่

“เพื่อเป็นการตอบประเด็นข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool ช่วยประเมินเบื้องต้นว่าเป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน https://eservice.etda.or.th/dps-assessment/ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหญ่และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง”

ในเร็วๆ นี้ ETDA เตรียมขยายผลสู่การจัดกิจกรรม Pre-consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมในการจดแจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุมทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 โดยในระยะแรกนี้ตั้งเป้ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าร่วมแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA นับ 1,000 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น