xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส ดีเดย์ 'ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์' จดแจ้งไม่เกิน 18 พ.ย. ไม่กระทบแม่ค้าออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส ประกาศดีเดย์เปิดให้ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถเข้ามาจดแจ้งการประกอบกิจการในประเทศไทย สามารถจดแจ้งได้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคมจนถึง 18 พฤศจิกายนนี้ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งสุดท้ายในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อประชาชนทั่วไปที่มีช่องทางในการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอส พร้อมด้วยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA นำโดย ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA และทีมผู้บริหาร นักกฎหมาย เกี่ยวกับความสำคัญของ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 หรือกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 และจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยเป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่ดีอีเอส โดยคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) และ ETDA ได้จัดทำและเร่งผลักดันขึ้น ภายใต้มาตรา 32 พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเข้ามาเป็นกลไกในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส และมีแนวทางในการคุ้มครองเยียวยาแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นกฎเกณฑ์กลางในการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

โดยมีวาระสำคัญ คือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแฟลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องมีหน้าที่แจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ และหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในราชอาณาจักร จะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในราชอาณาจักรด้วย โดยมีการกำหนดหน้าที่ให้เหมาะสมกับลักษณะของการให้บริการและผลกระทบที่อาจเกิดจากการให้บริการ

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ ETDA จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี (Best-practice) หรือมีกลไกในการคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

“กฎหมายฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อกำกับดูแลเฉพาะแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการซื้อขายสินค้าออนไลน์ให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ เนื่องจากมีการปัญหาด้านการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1212 เกี่ยวกับการฉ้อโกงประมาณ 30,000 เคส จึงจำเป็นต้องหาแนวทางการป้องกัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับประชาชนทั่วไปที่มีช่องทางหรือเพจในการซื้อขายผ่านทางออนไลน์และไม่ต้องเข้ามาจดแจ้งกับทาง ETDA”


สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะต้องเข้ามาจดแจ้ง ดังนี้

1.ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (platform digital) ที่มีผู้ใช้งาน (User) มากกว่า 5,000 รายต่อเดือน 2.บุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และ 3.นิติบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี ต้องเข้ามาจดแจ้งต่อสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้ประกอบการที่เข้าข่าย 1,000 ราย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย กลุ่มเสิร์ชเอนจิ้น (Search Engine) กลุ่มแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-commerce, e-service และ e-marketplace) จะต้องเข้ามาจดแจ้งภายใน 90 วันนับจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่เกินวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ส่วนผู้ที่จะเปิดให้บริการแพลตฟอร์มใหม่สามารถเข้าจดแจ้งได้ตั้งแต่นับจากวันประกาศใช้ หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไม่ได้เข้ามาจดแจ้งในระยะเวลาที่กำหนดมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ และจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะที่จะนำไปปรับปรุง “(ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการ” กฎหมายลำดับรองภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้ให้บริการในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการผ่านการลงทะเบียนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ได้บัญชีผู้ใช้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ ระบุตัวตนได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค ลดการฉ้อโกงออนไลน์

โดยเนื้อหาของร่างคู่มือฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการจัดประเภทผู้ใช้งานที่ควรพิสูจน์และยืนยันตัวตน กำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตน List ข้อมูลที่จะต้องเก็บรวบรวม แนวทางการตรวจสอบข้อมูลการแสดงสัญลักษณ์หรือข้อความว่าดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนแล้ว โดย (ร่าง) คู่มือฉบับดังกล่าวนับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการสร้างกลไกการดูแลตนเอง (Self-regulation) ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เหมาะสม สอดคล้องตามเจตนารมณ์ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย DPS เพิ่มเติมได้ที่ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx หรือที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand


กำลังโหลดความคิดเห็น