xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอส-สตช. รณรงค์ “ร่วมใจต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ 20 กระทรวง รัฐวิสาหกิจ เอกชน ร่วมรณรงค์ “ร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” กวาดล้างจับกุมซิมม้า บัญชีม้า และขยายครูไซเบอร์ พร้อมพัฒนาแอปไซเบอร์วัคซีนให้ความรู้ประชาชน

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นกรอบของพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 เป็นการจัดการปัญหาในเบื้องต้น เพื่อยับยั้งให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่กฎหมายนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง กระทรวงดิจิทัลฯ จึงต้องทำหน้าที่ในการสร้างมาตรการต่อไป

พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 หรือ พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ 2566 จะทำหน้าที่จัดการกับปัญหาของแต่ละหน่วยงาน สิ่งแรกคือ การเปิดบัญชีม้า ซิมม้า ที่ผ่านมาจะมีผลตามกฎหมายก็ต่อเมื่อมีความผิดเกิดขึ้นก่อนจึงดำเนินคดีได้

เนื่องจากกฎหมายนี้จะสามารถดำเนินคดีได้ตั้งแต่เปิดบัญชี หรือเปิดใช้ซิม รวมถึงเอาผิดคนที่เป็นธุระจัดหาในการโฆษณา กฎหมายสามารถดำเนินการได้ทันที เป็นมาตรการยับยั้งการกระทำผิดในขั้นต้น โดยมีการประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นไม่ให้ผู้รับจ้างเปิดบัญชีเห็นแก่เงินเล็กน้อย เพื่อลดปัญหาที่จะตามมา

จุดสำคัญคือ “การโอนเงิน” เพราะการดำเนินการทุกกรณีเน้นที่เงิน สิ่งที่ระบบสร้างขึ้นมาต้องการให้ธนาคารมีอำนาจหน้าที่ในการหยุด หรือยับยั้งตลอดสาย ตั้งแต่ธนาคาร 1-3 กระบวนการนี้ทำให้มีการยับยั้งได้เร็วขี้น เมื่อมีการแจ้งโดยเจ้าของบัญชี

“อยากให้ธนาคารสามารถยับยั้งพฤติกรรมการโอนที่ผิดปกติ แต่ธนาคารมีข้อจำกัด เพราะตรวจสอบได้เฉพาะธนาคารของตัวเอง ไม่สามารถตรวจต่างธนาคารได้ แต่ในกฎหมาย ธนาคารสามารถส่งต่อความผิดปกติ และตรวจสอบเป็นวงกว้างได้ ส่วนกรณีการแจ้งความที่ยังเป็นปัญหา คือ จะต้องขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทำความผิดตามกฎหมายอาญา แต่ตัว พ.ร.ก.นี้เป็นอาชญากรรมด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีการปรับรูปแบบการแจ้งความ เพื่อความสะดวกของประชาชน โดยสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้”

กระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมสนับสนุน ในการเข้ามาช่วยดูแลระบบและโครงสร้างรับแจ้งความออนไลน์ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบคลาวน์ของตำรวจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างวัคซีน เกิดภูมิต้านทานให้ประชาชนเข้าใจ

สำหรับการรณรงค์ “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” มีมาตรการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 1.ร่วมกับทุกภาคส่วน และ กต.ตร.ในการสร้างการรับรู้ ต้านภัยออนไลน์ โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระเดียวกันทุกหน่วยงานเป็น “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อสื่อสารข้อความดังกล่าวไปยังบุคลากรในหน่วยงาน ประชาชนที่มาติดต่อราชการ หรือลูกค้าที่มาใช้บริการหรือซื้อสินค้า

2.ร่วมกับภาคการศึกษา อบรมให้ความรู้ภัยโกงทางไซเบอร์ พัฒนาหลักสูตรการเตือนภัยไซเบอร์ให้เหมาะสมกลุ่มเป้าหมายและอายุ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนต้านภัยไซเบอร์สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาในสถานบันการศึกษา

3.ร่วมกับภาคสื่อมวลชน นำเสนอข่าวเกี่ยวกับภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะรายละเอียดขั้นตอนการโกง เพื่อเป็นแนวทางการป้องกัน รวมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่ข้อความ ข่าว รูป ป้ายประชาสัมพันธ์ เนื้อหาเกี่ยวกับเตือนภัยออนไลน์ระหว่างออกอากาศของช่องสื่อ

และ 4.ร่วมกับภาครัฐ ผลิตแอปไซเบอร์วัคซีน ให้คนไทยมีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น