xs
xsm
sm
md
lg

ปรับทัพใหม่ ‘เลอโนโว’ แยกซับแบรนด์ LOQ เจาะตลาดเกมมิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่เลอโนโว (Lenovo) ขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดพีซีประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ก่อนโดนเบียดแซงกลับไปจากเอชพี (HP) ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ทำให้กลายเป็นว่าปัจจุบันการแข่งขันในตลาดพีซีกลับมาดุเดือดอีกครั้ง แม้ว่าสภาพตลาดโดยรวมจะลดลง แต่ทุกแบรนด์มองไปในทิศทางเดียวกันว่าครึ่งปีหลังกำลังซื้อจะกลับมา

สำหรับข้อมูลส่วนแบ่งตลาดพีซีในไทยช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีปริมาณลดลงถึง 20.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคธุรกิจที่เริ่มกลับมาอย่างชัดเจน

ข้อมูลจากไอดีซี ระบุว่า ในไตรมาส 1 พีซีภาคธุรกิจเติบโตขึ้น 4.1% ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการใช้งบประมาณของหน่วยงานภาครัฐก่อนการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับรอบการเปลี่ยนเครื่องของภาคเอกชนอย่างกลุ่มธนาคารที่มีการปรับตัวสู่ดิจิทัล พร้อมไปกับการลงทุนทางด้านความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น

ทำให้ปัจจุบัน เอชพีถือเป็นผู้นำในตลาดพีซีด้วยส่วนแบ่งกว่า 18.5% ตามมาด้วยเลอโนโวที่ 17% แต่กลายเป็นว่าถ้ามองเฉพาะในตลาดภาคธุรกิจเลอโนโวถือเป็นผู้นำในตลาดคอมเมอร์เชียล ส่วนเอซุสที่ครองส่วนแบ่ง 15.8% เป็นผู้นำในตลาดคอนซูเมอร์ ขณะที่เดลล์มีส่วนแบ่งตลาด 13.1% และเอเซอร์อยู่ในลำดับที่ 5 ด้วยส่วนแบ่ง 10.7%

***เลอโนโวยังแข็งแกร่งในตลาดองค์กร


ธเนศ อังคสิริสรรพ ผู้จัดการทั่วไป เลอโนโว อินโดจีน กล่าวว่า แม้ภาพรวมตลาดพีซีในปีนี้จะไม่เติบโตจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งสภาพเศรษฐกิจ และแนวโน้มในการลงทุนต่างๆ ทำให้ธุรกิจยังได้รับสัญญาณเชิงบวกจากทั้งอัตราการว่างงานที่ลดลง และจีดีพีที่เพิ่มขึ้น

“ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจองค์กรในไทยยังมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มของไอทีที่ต้องทำการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เลอโนโวจึงยังสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจองค์กรได้ต่อเนื่องพร้อมกับการเพิ่มโซลูชันเข้าไปช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้”

ขณะเดียวกัน ในฝั่งของคอนซูเมอร์เริ่มเห็นปัจจัยบวกที่เข้ามาในไตรมาสนี้ ทั้งกำลังซื้อจากช่วงเปิดเทอม รวมถึงในกลุ่มของเกมมิ่งโน้ตบุ๊กที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อกลับมาอย่างที่คาดการณ์ไว้

ธเนศ ยังชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้วจากการทำงานในลักษณะของไฮบริดเวิร์ก ดังนั้น ดีไวซ์ที่เข้ามาจะต้องเข้าไปตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานในยุคใหม่และที่สำคัญต้องเข้าไปช่วยให้ผู้บริโภคมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังเห็นสัญญาณเชิงบวกหลังการเลือกตั้งจากนโยบายที่มุ่งสู่ดิจิทัล ทำให้เอื้อต่อเศรษฐกิจโดยรวม และเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้านไอทีทั้งในส่วนของดีไวซ์ และโซลูชันเพื่อทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ดิจิทัล

อีกส่วนที่เริ่มเห็นการตอบรับที่เพิ่มมากขึ้น คือการให้บริการในส่วนของการคำนวณคาร์บอนเครดิต จากองค์กรธุรกิจที่ต้องการก้าวสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางเลอโนโวมีทั้งดีไวซ์ที่ออกแบบมาภายใต้แนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิล การใช้พลังงานที่ต่ำลง ให้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติม

***เสริมแหล่งรายได้ใหม่จากธุรกิจบริการ


ที่ผ่านมา เลอโนโวเตรียมตัวเข้าสู่การหาแหล่งรายได้ใหม่ที่ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะก้าวเข้าสู่การให้บริการที่จะสร้างสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

ธเนศ ชี้ให้เห็นจากรายได้ทั่วโลกของเลอโนโวในปีที่ผ่านมา (1 เม.ย.65-31 มี.ค.66) มีรายได้ 6.2 หมื่นล้านเหรียญ ที่ปรับตัวลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากความต้องการสินค้าไอทีที่ลดลง แต่ยังสามารถรักษาสัดส่วนกำไรไว้ที่ 3% ของรายได้ หรือราว 1.9 พันล้านเหรีญได้

ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจพีซีที่คิดเป็นสัดส่วนราว 61% และมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจบริการเพิ่มขึ้นมาเป็น 39% เทียบจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ราว 32% เท่านั้น ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากการเข้าไปให้บริการโซลูชันแก่องค์กรธุรกิจ พร้อมกับธุรกิจคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ

“ด้วยกลยุทธ์ที่มีความชัดเจน ระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการวิจัย และพัฒนา ทำให้เชื่อว่าเลอโนโวจะกลับมามีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่เพิ่มความแข็งแรงจากรายได้ในกลุ่มธุรกิจบริการ”

ผู้บริหารเลอโนโว ระบุว่า กลุ่มธุรกิจบริการ (SSG) จะกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างกำไรให้แก่องค์กร และในทางกลับกันโซลูชันต่างๆ ที่เลอโนโวนำเข้ามาให้บริการจะเข้าไปช่วยเปิดทางให้ลูกค้าองค์กรธุรกิจ และผู้ประกอบการสามารถต่อยอดธุรกิจจากโซลูชันเหล่านั้นได้

สำหรับการให้บริการโซลูชันของเลอโนโว จะเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ให้บริการแพลตฟอร์มและโซลูชันเข้าไปผสมผสานกับความเชี่ยวชาญในการส่งมอบงานและดีไวซ์ที่เลอโนโวมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มธุรกิจ

ส่งผลให้นอกจากรายได้ในการขายสินค้า และอุปกรณ์ ยังรวมถึงบริการหลังการขายและการให้บริการโซลูชันที่สร้างรายได้ประจำให้แก่ธุรกิจ ทำให้กลายเป็นหนึ่งในโอกาสการขยายฐานธุรกิจของเลอโนโวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในส่วนของธุรกิจคลาวด์ (ISG) เลอโนโว มีการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับการใช้งานของลูกค้า ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลของภาคธุรกิจ

ขณะที่ในฝั่งของธุรกิจดีไวซ์ (IDG) ที่ปัจจุบันยังสร้างรายได้หลักให้แก่ธุรกิจจะเน้นการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำเสนอดีไวซ์ที่มีความหลากหลาย ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดที่ทำให้พฤติกรรมการใช้งานเปลี่ยนแปลงไป

***เน้นตลาด ‘คอนซูเมอร์’

ความท้าทายในตลาดคอนซูเมอร์ยังคงเป็นจุดที่เลอโนโวต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันและขยับกลับขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันทั้ง 5 แบรนด์ใหญ่ที่แข่งขันในตลาดนี้ต่างมีจุดแข็งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ในมุมของเลอโนโว ยังคงเน้นที่การนำเสนอคอมพิวเตอร์ที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพื่อตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมพีซี และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทำให้ในปีที่ผ่านมา เลอโนโวมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาไปกว่า 2.2 พันล้านเหรียญ


วรพจน์ ถาวรวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจคอนซูเมอร์ เลอโนโว เอเชียแปซิฟิกกลาง กล่าวถึง 3 กลยุทธ์หลักของเลอโนโวในการทำตลาดคอนซูเมอร์ ประกอบด้วย การลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างมาตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค ต่อเนื่องถึงการทำงานร่วมกับคู่ค้าให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกัน และพัฒนาโซลูชันที่จะเข้าไปสร้างอีโคซิสเต็มให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ใช้งานที่แตกต่าง และมั่นใจกับการใช้งานสินค้าของเลอโนโว

“ด้วยการที่ตลาดคอนซูเมอร์ยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ทำให้เลอโนโวมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าในทุกกลุ่มตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงผู้ที่ต้องการนวัตกรรมเข้าไปช่วยให้ชีวิตดีขึ้น”

โดยปัจจุบันเลอโนโวมีส่วนแบ่งในตลาดพีซีกลุ่มคอนซูเมอร์อยู่ที่ 23% ทั่วโลก และ 24% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง และการตอบรับของผู้บริโภคทั่วโลกที่เลือกใช้งาน และคาดหวังว่าจะสามารถกลับขึ้นเป็นผู้นำในตลาดไทยด้วยเช่นกัน

“ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคที่กลับมาในตลาดคอนซูเมอร์ หลังจากปีที่ผ่านมาที่มีการชะลอซื้อ ประกอบกับในช่วงนี้จะเริ่มกลับมาเปิดเทอม หรือแม้แต่สภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ทำให้เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดจะคึกคักมากกว่าเดิม”


ปัจจุบัน เลอโนโวมีสินค้าพีซีในกลุ่มคอนซูเมอร์ ครอบคลุม 5 เซกเมนต์ เริ่มตั้งแต่ 1.Lenovo Ideapad ที่มีตั้งแต่โน้ตบุ๊กบางเบา พับได้ และถอดจอออกมาใช้งานเป็นแท็บเล็ต ซึ่งนับเป็นเซกเมนต์หลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้งาน 2.Lenovo IdeaCentre ในกลุ่มของคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป

3.Lenovo Yoga โน้ตบุ๊กในเซกเมนต์ที่เน้นนำเสนอนวัตกรรมอย่างตัวเครื่องบางเบา ประสิทธิภาพสูง รองรับการทำงานที่หลากหลาย รวมถึงมีรุ่นไฮไลต์อย่างโน้ตบุ๊ก 2 หน้าจอ Yoga Book 9i ที่เปลี่ยนฟอร์มเฟกเตอร์ในการใช้งานโน้ตบุ๊กให้มีโปรดักทิวิตี้มากยิ่งขึ้น 4.Lenovo Legion กลุ่มผลิตภัณฑ์เกมมิ่งที่เน้นประสิทธิภาพในการใช้งานเป็นหลัก โดยระดับราคาในกลุ่มนี้จะอยู่ที่สูงกว่า 50,000 บาทขึ้นไป และ 5.Lenovo LOQ ซับแบรนด์ใหม่ที่มาเน้นเจาะโน้ตบุ๊กเกมมิ่งเมนสตรีมในระดับราคา 20,000-50,000 บาท

“การแยกซับแบรนด์ LOQ เพื่อเข้าไปเจาะตลาด Entry Gaming ถือเป็นแนวทางใหม่ที่เลอโนโวนำมาใช้เพื่อให้ขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ ด้วยการทำแบรนด์ให้มีความชัดเจน จากที่ก่อนหน้านี้เลอโนโวใช้ IdeaPad Gaming ทำตลาดมาก่อน”

Lenovo LOQ
โดยเหตุผลสำคัญที่เลอโนโวตั้งใจแยกซับแบรนด์ LOQ มาเนื่องจากกลุ่มโน้ตบุ๊กเกมมิ่งระดับเริ่มต้นยังเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง แม้ในช่วงที่ตลาดหดตัวก็ตาม ทำให้เชื่อมั่นว่าสินค้ากลุ่มนี้ยังมีความต้องการต่อเนื่องไปในอนาคต ทั้งจากกลุ่มผู้ที่เล่นเกม และบรรดาครีเอเตอร์รุ่นใหม่ที่ต้องการเครื่องประสิทธิภาพสูงในระดับราคาที่จับต้องได้


กำลังโหลดความคิดเห็น