xs
xsm
sm
md
lg

Facebook ควง Instagram อ้าแขนรับโฆษณาเลือกตั้ง 66 ส่งหลักฐานยืนยันตัวรู้ผล 48 ชม. อนุมัติใน 3 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อิง ศิริกุลบดี (ซ้าย) แคลร์ อมาดอร์ (กลาง) และขวัญชนก เรืองขำ (ขวา)
เมต้า (Meta) ประกาศ 5 มาตรการป้องกันข้อมูลเท็จแพร่กระจายช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ในประเทศไทย มั่นใจโฆษณาการเมืองได้โปร่งใสบนเครือข่ายสังคมเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม (Instagram) ด้วยการกำหนดให้ผู้ลงโฆษณาต้องยืนยันข้อมูลระบุตัวตนผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล วางกรอบส่งหลักฐานเข้าระบบอัตโนมัติจะรู้ผลใน 48 ชม. และโฆษณาจะได้รับการอนุมัติใน 3 วัน เบื้องต้นไม่ฟันธง 5 มาตรการช่วยลดขบวนการ IO หรือปฏิบัติการด้านข่าวสาร แต่มีเป้าหมายเน้นปกป้องการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสได้มากขึ้น

น.ส.แคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวว่า Meta มีประสบการณ์จัดการเนื้อหาด้านการเมืองบนเครือข่ายสังคมในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2016 ทั้งการเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกา ประเทศกลุ่มยุโรป แคนาดา อินเดีย และล่าสุดคือฟิลิปปินส์ Meta จึงมีเทคโนโลยี เครือข่าย หลักเกณฑ์ และการตรวจสอบเนื้อหาในลักษณะเดียวกับที่ตำรวจไล่จับโจร โดยมีการจับตาตลอดเวลา และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

“การเลือกตั้งทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต Meta ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์การทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงและสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย เราตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของเราในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนไทย และลดความเสี่ยงในการแทรกแซงกระบวนการการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์มของเรา”

ตัวอย่างการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ระวังการแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 66
เพื่อปกป้องการแทรกแซงและส่งเสริมความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 บริษัท Meta จะดำเนินงานเชิงรุก 5 แนวทาง ได้แก่ 1.การจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง 2.การพัฒนานโยบายที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อจัดการกับเนื้อหาและเครือข่ายที่อันตราย 3.การต่อสู้กับข้อมูลเท็จ 4.การเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาที่เกี่ยวกับการเมือง และ 5.การดำเนินโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและโครงการเพื่อส่งเสริมบทบาทพลเมือง

***แนวทาง 1-3 ใช้คนคู่ AI

เบื้องต้น Meta ไม่เปิดเผยจำนวนทีมงานตรวจสอบที่เป็นคนไทย ระบุเพียงว่าได้จัดเตรียมทีมงานที่เข้าใจและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แบบเรียลไทม์ ทั้งหมดนี้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วโลก ผ่านการจัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 อัตราในการทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ และในปี 2564 บริษัทได้ลงทุนด้วยงบประมาณมูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติและขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมไปถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จและต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ

Meta ยกตัวอย่างข้อมูลเท็จที่เป็นอันตรายที่อาจสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ เช่น การโฆษณาที่บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับวันที่ สถานที่ เวลา และวิธีการในการลงคะแนนเสียงหรือการลงทะเบียนเลือกตั้ง หรือข้อเสนอในการซื้อขายเสียงด้วยเงินสดหรือของกำนัลต่างๆ โดย Meta ได้ใช้เทคโนโลยี AI ที่เข้าใจภาษาท้องถิ่นเพื่อตรวจจับและกำจัดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ในเชิงรุก รวมถึงการกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) และเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายความรุนแรงและการยั่วยุในมาตรฐานชุมชนของ Meta ซึ่งถูกบังคับใช้ในชุมชนระดับโลกของ Meta ทั้งหมด พร้อมกับการดำเนินงานของผู้ตรวจสอบดูแลเนื้อหาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาต่างๆ บนแพลตฟอร์มเป็นภาษาไทย

ศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะที่คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลโฆษณาที่กำลังแสดงผลอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองย้อนหลัง 7 ปีบน Facebook ซึ่งระบุวันเวลา แพลตฟอร์มที่โพสต์ และผู้สนับสนุนโฆษณานั้นๆ
ที่ผ่านมา Meta สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมนับล้านบัญชี สถิติถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 พบว่ามีบัญชีปลอมจำนวนกว่า 1.3 พันล้านบัญชีที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม

***โฆษณาโปร่งใส

ในขณะที่แพลตฟอร์มอย่าง TikTok ประกาศก่อนหน้านี้ถึงจุดยืนไม่อนุญาตให้นักการเมืองซื้อโฆษณาบน TikTok แต่ Meta เลือกที่จะเปิดรับโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อให้ Meta เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง โดยได้เพิ่มกฎให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองผู้โฆษณาบน Facebook และ Instagram จะต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องยืนยันตนเองด้วยบัตรประชาชนพร้อมรูปภาพที่ออกบัตรโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” บนโฆษณา เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว

นอกจากนี้ คนไทยยังสามารถค้นหาโฆษณาที่ถูกดำเนินการอยู่บน Facebook ได้จากคลังโฆษณา (Ad Library) ที่ให้บริการแก่บุคคลทั่วไป เพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาถูกโพสต์ลงเมื่อใด ในแพลตฟอร์มใด และใครเป็นคนสปอนเซอร์โฆษณานั้นๆ รวมถึงฟีเจอร์เกี่ยวกับบัญชีนี้ (About This Account) บน Instagram ที่จะช่วยให้บริบทข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้ได้ดีขึ้น

ตัวอย่างการแสดงข้อมูลเพิ่มเติมในการสร้างความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและดูแลเพจต่างๆ บน Facebook
น.ส.ขวัญชนก เรืองขำ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้เหตุผลในการเปิดรับโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า Meta ต้องการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง โดยเชื่อว่ายูสเซอร์มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่เพียงพอ โดยเฉพาะการรับข้อมูลทางการเมืองเพื่อนำไปประกอบการพิจารณา

"ทั้งหมดนี้มีนโยบายตรวจสอบอย่างรัดกุมชัดเจน ไม่ใช่ว่าใครอยากพูดอะไรก็พูด เรามีมาตรฐานชุมชนอยู่แล้ว ชัดเจนว่าอะไรอนุญาตและไม่อนุญาต”

***เครือข่ายตรวจสอบเพียบ

Meta ยืนยันว่าการต่อสู้กับข้อมูลเท็จถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นระยะยาว โดยบริษัทได้มีการทำงานกับเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยองค์กรผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระจำนวนกว่า 90 ราย เพื่อตรวจสอบเนื้อหากว่า 60 ภาษารวมถึงภาษาไทย สำหรับข้อมูลเท็จประเภทที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ข้อมูลเท็จที่มีวัตถุประสงค์ในการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิหรืออาจก่อให้เกิดความรุนแรงและอันตรายต่อร่างกาย เนื้อหาประเภทนี้จะถูกลบออกจากแพลตฟอร์มของ Meta ในกรณีที่เนื้อหาไม่ละเมิดมาตรฐานเหล่านี้ แต่ได้รับการตรวจสอบและประเมินว่าเป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกลดการเผยแพร่และถูกติดป้ายแจ้งเตือนที่มาพร้อมการแสดงข้อมูลเพิ่มเติม ในประเทศไทย บริษัทยังได้ร่วมมือกับ AFP Thailand ในฐานะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกด้วย

5 แนวทางนี้เป็นส่วนเดียวของหลายโครงการที่ Meta สร้างขึ้นเพื่อปกป้องคนไทยจากข้อมูลเท็จ โดย Meta ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (International Fact Checking Network หรือ IFCN) ที่ให้บริการใน 15 ภาษา รวมถึงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้และอบรมทักษะขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบและยืนยันข้อเท็จจริง รวมถึงการลบล้างคำกล่าวอ้างที่ผิด และการจัดการกับข้อมูลที่บิดเบือนและข้อมูลเท็จที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้ง องค์กรไม่แสวงผลกำไร และผู้สมัครเลือกตั้งต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือความโปร่งใสด้านการโฆษณา และเครื่องมือที่ใช้ในการรายงาน รวมถึงการจัดอบรมให้ทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ Meta จะไม่มีการร่วมมือกับ กกต.เนื่องจากทุกคอนเทนต์จะดูแลจัดการโดย Meta

"เรามีเทคโนโลยีสำหรับตรวจอยู่แล้ว แต่มีความร่วมมือเพื่อให้ความรู้สำหรับการหาเสียงอย่างถูกต้องผ่านแพลตฟอร์ม โทษสูงสุดของการตรวจสอบจะขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ โดยบัญชีใดที่ทำผิดกฎบ่อย อาจจะมีการปิดกั้นไม่อนุญาตให้โฆษณา การระงับบัญชี หรือระงับเพจ และอาจปิดเพจและปิดบัญชีต่อไป"

น.ส.อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย จาก Meta กล่าวถึงอีกโครงการที่ Meta ดำเนินการเพื่อปกป้องคนไทยจากข้อมูลเท็จอย่าง We Think Digital Thailand ว่าเป็นโครงการเรือธงสำหรับประเทศไทยของ Meta ที่มุ่งสนับสนุนความรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยนับตั้งแต่การเปิดตัวในปี 2562 โครงการ We Think Digital Thailand ได้มีความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรภาคีในประไทยแล้วกว่า 40 หน่วยงาน เพื่อร่วมผลักดันให้คนไทยมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนก่อนแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบในชุมชนของเรา มีผู้เข้าถึงข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้โครงการแล้วกว่า 32 ล้านคน


กำลังโหลดความคิดเห็น