xs
xsm
sm
md
lg

‘Safer Songkran’ แคมเปญ Google เสริมความรู้คนไทยเท่าทันภัยออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Google จัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ผ่านงาน ‘Safer Songkran ปีที่ 2’ ชวนคนไทยใช้ช่วงเวลาอยู่กับครอบครัวช่วงสงกรานต์ เสริมภูมิคุ้มกันดิจิทัลผ่านเนื้อหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในทุกช่วงอายุ

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา คนไทย รวมถึงทั่วโลกกำลังต้อนรับประชากรดิจิทัลที่เป็นทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคดิจิทัล (Digital Native) รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่งเข้าถึงออนไลน์เป็นครั้งแรก

“เพื่อส่งเสริมให้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนทั้งผู้ที่ใช้เป็นประจำ และผู้ที่เข้าใช้งานใหม่ ทำให้กูเกิลเน้นย้ำในการให้ข้อมูลเพิ่มเสริมทักษะความปลอดภัยทางดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้งาน ร่วมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งานตั้งแต่เริ่มต้น”

ข้อมูลจากการสำรวจพบว่า 3 ความกังวลที่ผู้ใช้งานออนไลน์รู้สึกไม่ปลอดภัยจะมีทั้งการแฮกข้อมูล กลโกงออนไลน์ และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งทุกอย่างสามารถป้องกันได้ถ้ามีความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน และความรู้เท่าทันภัยออนไลน์

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วงเดือนมีนาคม 65-กุมภาพันธ์ 66 พบว่ามีคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงออนไลน์ถึง 189,363 คดี โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับการหลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงินที่สร้างความเสียหายมากกว่า 3,000 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม รูปแบบของภัยคุกคามที่สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลที่เกิดขึ้นในโลกนี้ พบว่า 91% ของภัยไซเบอร์มาจาก Email Phishing ที่ใช้การส่งอีเมลหลอกลวงเข้ามาหลอกผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่อยู่ในองค์กรธุรกิจทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายสูงมาก

“การเพิ่มทักษะให้เท่าทันจะช่วยลดความเสี่ยงของกลโกงออนไลน์ ซึ่งจากสถิติการค้นหาในประเทศไทย เมื่อมีการหลอกลวงมากขึ้น คนไทยสนใจความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้นเช่นเดียวกัน จากปริมาณการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภัยออนไลน์มากขึ้น”

สายใย สระกวี หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและมวลชนสัมพันธ์ Google ประเทศไทย เสริมข้อมูลว่า กูเกิลมี 3 แนวทางหลักในการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตั้งแต่การมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องผู้ใช้งาน มีการออกนโยบายที่กระตุ้นให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจในการใช้งาน รวมถึงการส่งเสริมทักษะดิจิทัลร่วมกับพันธมิตร

“โปรดักต์ของ Google มีความปลอดภัยเป็นค่าเริ่มต้นเสมอ ที่ผ่านมาระบบของ Gmail ช่วยกรองอีเมล Spam ได้ถึง 99.9% และมีการป้องกันอีเมลกว่า 10 ล้านฉบับต่อนาที ซึ่งเป็นการตรวจจับ และป้องกันภัยคุกคามก่อนเกิดเหตุเสมอ”

ในส่วนของเบราว์เซอร์ Chrome มีเทคโนโลยี Safe Browsing ที่ช่วยปกป้องเครื่องของผู้ใช้กว่า 5 พันล้านเครื่องโดยอัตโนมัติ อย่างการแจ้งเตือนเมื่อเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่อันตราย หรืออาจจะไม่ปลอดภัย

ฝั่งของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน Android ใน Play Store มีการสแกนแอปพลิเคชันจำนวนกว่า 1.25 แสนล้านแอป เพื่อทำให้ผู้ใข้มั่นใจว่าเมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากสโตร์จะปลอดภัย และยังมี Play Protect ในการสแกนแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อตรวจจับความผิดปกติ และให้คำแนะนำกรณีที่ตรวจพบมัลแวร์ หรือภัยคุกคาม

“วิธีป้องกันการโจมตีสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดคือเลือกที่จะลงแอปพลิเคชันจาก Play Store เสมอ ไม่ใช้วิธีการติดตั้งแอปพลิเคชันในรูปแบบอื่นที่จะก่อให้เกิดช่องโหว่ในการใช้งานสมาร์ทโฟน


นอกจากนี้ ในมุมของนโยบายการใช้งาน กูเกิลมีเครื่องมืออย่าง Security Check Up ในการเพิ่มความปลอดภัยของกูเกิล ด้วยการเปิดใช้งานระบบยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอนแบบอัตโนมัติ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคนทั่วโลกเปิดใช้ และกำหนดให้ยูทูปครีเอเตอร์อีกกว่า 2 ล้านคนเปิดใช้งาน เพื่อป้องกันให้ปลอดภัยต่อการโดนแฮก และพบว่าจำนวนบัญชีที่ถูกบุกรุกลดลงถึง 50%

ยังมีโครงการที่ทำงานร่วมกับพันธมิตร อย่างในหน้าค้นหาของ Google สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมของเว็บไซต์ในส่วนของ About this result ที่จะรองรับภาษาไทยในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ครอบคลุมการบอกแหล่งที่มาของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ก่อนเข้าไปยังเว็บไซต์จากการค้นหาผ่าน Google Search


กำลังโหลดความคิดเห็น