xs
xsm
sm
md
lg

"ยูจีน แคสเปอร์สกี้" เชื่อภาคอุตสาหกรรมยังแชมป์ถูกเจาะพรุนต่อปีนี้ กระตุ้นไทยตื่นตัวรับแพลตฟอร์มภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ก่อตั้งบริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก “ยูจีน แคสเปอร์สกี้" (Eugene Kaspersky) ยืนยันแพลตฟอร์มภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของเครือข่ายไอทีอัจฉริยะที่ปลอดภัยในอนาคต ระบุการโจมตีส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์นั้นไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานที่สำคัญได้ ประเมินภาคอุตสาหกรรมยังนั่งอันดับ 1 ถูกเจาะพรุนปีนี้หลังจากคว้าแชมป์ 2 ปีซ้อน เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินที่เชื่อว่าจะเป็นเป้าหมายใหญ่ของเหล่านักเจาะไม่เปลี่ยน

นายยูจีน แคสเปอร์สกี้ (Eugene Kaspersky) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท แคสเปอร์สกี้ ย้ำถึงแนวคิด “ภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์” ขณะขึ้นบรรยายเรื่อง “Cyber Immunity for a Secure Digital World” ในงานสาธารณะ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ของประเทศไทย ว่าภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์จะเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริงในการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าการป้องกันตั้งแต่กำเนิดของระบบไอที และสามารถต้านทานการโจมตีทางไซเบอร์โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม โดยการโจมตีส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์นั้นไม่ได้ผล และไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานที่สำคัญ

"วันนี้ซิเคียวริตีไม่ได้สำคัญแค่กับซอฟต์แวร์ แต่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ” ยูจีน ระบุ “ภัยโจมตีนั้นเติบโตทุกปี ล่าสุดที่พบคือ 4 แสนภัยต่อวัน เพิ่มขึ้นทุกชาติ ทุกภาษา ปี 2023 จะเติบโตเหมือนกัน และเราเป็นบริษัทเดียวในโลกที่รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ครอบคลุมทุกจุดในโซลูชันเดียว ด้วยแพลตฟอร์มเดียว"

***Cyber Immunity ต้องเข้าแล้ว

คำกล่าวของยูจีนนั้นสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่จำนวนอุปกรณ์ซึ่งเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เช่นเดียวกับความสนใจของอาชญากรไซเบอร์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์สามารถก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพได้ เช่น ความเสียหายต่อโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งอำนวยความสะดวกด้านพลังงาน ระบบเมืองอัจฉริยะ 

Cyber Immunity ต้องเข้าแล้วนะ
แม้อุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัยข้อมูลจะกำลังสร้างเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น แต่บ่อยครั้ง เทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตีกลับเป็นเพียงการไล่ตามผู้โจมตี แคสเปอร์สกี้จึงตัดสินใจปฏิวัติด้วยการหาวิธีพัฒนาระบบไอทีด้วยการป้องกันตั้งแต่กำเนิด นั่นคือ “Cyber Immunity” หรือภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นแนวคิดลดพลังให้การโจมตีทางไซเบอร์ไร้พิษสง และไม่สามารถส่งผลกระทบต่อฟังก์ชันที่สำคัญของระบบในสถานการณ์การใช้งาน ซึ่งกำหนดไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ

แคสเปอร์สกี้โอเอส (KasperskyOS) จะเป็นหนึ่งในแกนหลักของแพลตฟอร์ม Cyber Immunity ซึ่งจะต้องทำคู่ไปกับการปฏิบัติตามวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยในขณะที่สร้างโซลูชัน เช่น การกำหนดเป้าหมายและสมมติฐานด้านความปลอดภัย และตรวจสอบให้แน่ใจว่าบรรลุผลสำเร็จในทุกสถานการณ์การใช้งาน การแยกโดเมนความปลอดภัยและการควบคุมการโต้ตอบระหว่างกัน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโซลูชันที่เชื่อถือได้ทั้งหมด

อาชญากรไซเบอร์ทำร้ายองค์กรธุรกิจด้วยการโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคไอที
ยูจีนเชื่อว่าแนวคิดภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์จะเป็นทางออกของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีภาพรวมความซับซ้อนและความชำนาญเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจโลกไม่มีภาคส่วนใดที่ปลอดภัย 100% พบว่าอาชญากรไซเบอร์ทำร้ายองค์กรธุรกิจด้วยการโจมตีที่มุ่งเป้าไปที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคไอที โดย Top 3 คือ โครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันทางการเงิน จุดนี้พบว่าโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมเป็นแชมป์ถูกโจมตีมากที่สุดมาหลายปีโดยเฉพาะปี 2020 คาดว่าปีนี้ 2023 จะมีสัดส่วนการโจมตีในทิศทางเดียวกัน

***KasperskyOS นำร่องผลิตที่เวียดนาม

ซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ย้ำว่า บริษัทต้องการร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และอุปกรณ์ IoT อีกจำนวนมากเพื่อฝังระบบปฏิบัติการ KasperskyOS ที่พัฒนาขึ้นสำหรับสร้างโลกดิจิทัลให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยจากการสอบถามผู้บริหารแคสเปอร์สกี้ประเทศไทย พบว่า KasperskyOS กำลังมีโครงการนำร่องในเอเชียกับผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เวียดนาม เบื้องต้น ยังไม่มีความคืบหน้าในตลาดไทยจนกว่าจะสามารถจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ผู้ให้บริการ ในการรับอุปกรณ์จากผู้ผลิตที่ติดตั้ง KasperskyOS มาให้บริการแก่ผู้ใช้

แคสเปอร์สกี้ย้ำว่าต้องการหาความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และอุปกรณ์ IoT อื่น เพื่อฝังระบบปฏิบัติการ KasperskyOS ลงในอุปกรณ์
หลักการทำงานของ KasperskyOS คืออุปกรณ์ในเครือข่ายจะไม่มีการต่ออินเทอร์เน็ตเอง ซึ่งไม่ว่าอุปกรณ์จะมีระบบปฏิบัติการใด จะสามารถต่อผ่านระบบปฏิบัติการ KasperskyOS ได้ วิธีนี้ทำให้การโจมตีไม่เกิดการแพร่กระจายทั่วเครือข่าย ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ปัญหาถูกโจมตีได้รวดเร็ว

ยูจีน แคสเปอร์สกี้ ผู้ก่อตั้งบริษัทความปลอดภัยไซเบอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
KasperskyOS เป็นเพียง 1 ในองค์ประกอบสำคัญของแนวคิดภูมิคุ้มกันไซเบอร์ หากไม่นับโซลูชันอย่าง Kaspersky Secure Remote Workspace มีความตื่นตัวอย่างมาก โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแนวคิด Kaspersky Cyber Immunity ในสหรัฐอเมริกาและในสหภาพยุโรป ซึ่งเอกสารระบุว่าเป็นแนวคิดซึ่งแสดงถึงระบบที่ปลอดภัยโดยการออกแบบที่ช่วยให้สร้างโซลูชันที่แทบจะไม่ถูกรุกล้ำและลดจำนวนช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับสถิติน่าสนใจที่แคสเปอร์สกี้หยิบมาเผยในงาน คือ ในปี 2022 ระบบตรวจจับของแคสเปอร์สกี้ค้นพบไฟล์ที่เป็นอันตรายใหม่โดยเฉลี่ย 400,000 ไฟล์ต่อวัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2021 โดยรวมแล้วมีการตรวจพบไฟล์ที่เป็นอันตรายประมาณ 122 ล้านไฟล์ในปี 2022 ซึ่งมากกว่าปีก่อน 6 ล้านไฟล์

ในส่วนประเทศไทย แคสเปอร์สกี้มองเห็นความเสี่ยงของการโจมตีซัปพลายเชนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็น 1 ในปัญหาสำคัญ 4 ประการที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่ 1.ฟิชชิง 2.คอมพิวเตอร์ OT ที่ไม่มีการป้องกันแพร่ไวรัสและเวิร์ม 3.ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดของการโจมตีเรียกค่าไถ่ภายในขอบเขต OT และ 4.ความเสี่ยงสูงในการโจมตีซัปพลายเชน เนื่องจากระบบวิศวกรรมและบูรณาการ OT มีความเสี่ยงสูงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์




กำลังโหลดความคิดเห็น