xs
xsm
sm
md
lg

แคสเปอร์สกี้พบ "ภัยคุกคามไทยทางเว็บ" เพิ่มปี 65 ทุบสถิติ 17.3 ล้านรายการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดสถิติภัยคุกคามทางเว็บแรงโฉดโหด แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) พบยอดการบล็อกภัยคุกคามทางเว็บต่างๆ จำนวนเกือบ 17.3 ล้านรายการที่กำหนดเป้าหมายโจมตีผู้ใช้ในประเทศไทย เตือนคนไทยระแวดระวังตัว เพื่อเลี่ยงกลโกงออนไลน์

นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565 สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบการร้องเรียนเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์บนเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 163,091 รายการ สร้างความเสียหายประมาณ 27,300 ล้านบาท การร้องเรียนที่พบบ่อยที่สุดคือ การขายของออนไลน์ฉ้อโกง การหลอกลวงให้โอนเงินจากที่ทำงาน เงินกู้ปลอม กลโกงการลงทุน และการหลอกลวงทางคอลเซ็นเตอร์

“เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว เราพบว่าในปี 2565 จำนวนความพยายามโจมตีในประเทศไทยโดยรวมมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ทั้งนี้ จำนวนที่ลดลงไม่ได้บ่งชี้ว่าเราปลอดภัยมากขึ้นและควรผ่อนคลายการป้องกัน เมื่อพิจารณาว่าภาพรวมของภัยคุกคามขยายตัวอย่างรวดเร็วเพียงใด และจำนวนอุปกรณ์ใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ จึงเป็นไปได้ที่เราจะพบไฟล์อันตรายและภัยคุกคามที่เป็นอันตรายมากขึ้นต่อวัน ผู้เชี่ยวชาญของแคสเปอร์สกี้จะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องคนไทยจากภัยคุกคาม จากความสูญเสียต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าประสบการณ์ออนไลน์ในแต่ละวันของผู้ใช้จะปลอดภัยอย่างสมบูรณ์” นายคริส กล่าวเสริม

ผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ตรวจพบความพยายามในการคุกคามเว็บจำนวน 17,295,702 รายการ
แคสเปอร์สกี้รายงานถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำปีสำหรับประเทศไทยในปี 2565 ว่าผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ตรวจพบความพยายามในการคุกคามเว็บ จำนวน 17,295,702 รายการบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ที่เข้าร่วม Kaspersky Security Network หรือ KSN ในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าปีที่แล้ว 0.46% (17,216,656 รายการ) คิดเป็นผู้ใช้ชาวไทยจำนวน 29.1% ที่จะถูกโจมตีจากภัยคุกคามทางออนไลน์ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 109 ของโลก

รายงานย้ำด้วยว่า การโจมตีผ่านเว็บเบราว์เซอร์เป็นวิธีการหลักในการแพร่กระจายโปรแกรมที่เป็นอันตราย การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในเบราว์เซอร์และปลั๊กอิน (ไดรฟ์บายดาวน์โหลด) รวมถึงวิศวกรรมสังคม เป็นวิธีที่อาชญากรไซเบอร์ใช้ในการเจาะระบบโดยทั่วไปมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการตรวจจับภัยคุกคามบนเว็บในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลการตรวจจับภัยคุกคามออฟไลน์กลับลดลง โดยแคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์โจมตีแบบออฟไลน์ จำนวน 21,339,342 รายการ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 35.74% (33,205,557 รายการ) โดยรวมแล้วผู้ใช้ในประเทศไทย จำนวน 35.1% เกือบถูกโจมตีจากภัยคุกคามออฟไลน์ และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 85 ของโลก

"โดยส่วนใหญ่แล้ว เวิร์มและไฟล์ไวรัสเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเครื่อง ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความถี่ที่ผู้ใช้ถูกโจมตีโดยมัลแวร์ที่แพร่กระจายผ่านไดรฟ์ USB แบบถอดได้ ซีดี ดีวีดี และวิธีการออฟไลน์อื่นๆ" แคสเปอร์สกี้ระบุในรายงาน "เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ประชาชนในประเทศจึงตระหนักถึงปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาจากแอปที่ดึงเงินจากโทรศัพท์"


เพื่อความปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ แคสเปอร์สกี้แนะนำให้ประชาชนระวังการขอรายละเอียดหรือขอเงิน และระวังการหลอกลวงแบบฟิชชิงหรือการคลิกลิงก์ หรือเปิดไฟล์แนบในอีเมล หรือข้อความที่น่าสงสัย โดยไม่ตอบรับโทรศัพท์ที่ขอการเข้าถึงระยะไกลไปยังคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกัน ควรรักษาอุปกรณ์พกพาและคอมพิวเตอร์ให้ปลอดภัยเสมอ พร้อมกับใช้รหัสผ่านที่รัดกุม ร่วมกับการตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยบนโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงการสตรีมจากเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก โดยไม่ลืมที่จะปฏิเสธแรงกดดันที่ต้องการให้คุณดำเนินการต่างๆ ทันที

"วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวเองจากการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต คือ การติดตั้งซอฟต์แวร์ความปลอดภัยทางไซเบอร์บนอุปกรณ์ทั้งหมด และอัปเดตให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ" แคสเปอร์สกี้ทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น