ฟอร์ติเน็ต (Fortinet) ประกาศแผนธุรกิจปี 2023 ตะลุยเน้นทำตลาดระบบการรักษาความปลอดภัยสำหรับคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมระบบปฏิบัติงาน "OT" (Operational Technology) ในกลุ่มธุรกิจไทยเข้มกว่าเดิม พร้อมกระตุ้นธุรกิจคลาวด์ซิเคียวริตีให้ขยายตัวขึ้นอีก มั่นใจฟอร์ติเน็ตได้ประโยชน์จากเทรนด์องค์กรคลิกซื้อซิเคียวริตีเองบนคลาวด์ วางเป้าหมายเติบโตทั่วโลก 30% ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว คาดว่ายอดขายในไทยจะทยาน 30% เท่ากัน
น.ส.ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์และโอที ถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นพิเศษกับฟอร์ติเน็ตในปี 2023 โดยเฉพาะตลาดโอทีที่มีขนาดใหญ่มากจนอาจจะเหนือกว่าตลาดเครือข่ายแบบดั้งเดิมถึง 3 เท่าตัว และการสำรวจพบว่า 88% ของสภาพแวดล้อมด้านระบบควบคุมอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยี OT ต่างเคยมีประสบการณ์กับการบุกรุก ทำให้ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น เบื้องต้น ตั้งเป้าการเติบโตของทั้ง 2 ตลาดไว้ที่ 30% สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตระดับโลกที่ฟอร์ติเน็ตสามารถดันยอดขายรวมให้โตขึ้นอีก 32%
"ในเป้าหมายเติบโตปีนี้ 30% ตลาดโอทีอาจจะโตมากกว่า 30% เพียงแต่การปรับใช้ยังไม่เกิด" ภัคธภา กล่าว "เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวจริง แต่ไม่ทุกส่วน เพราะการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ประนีประนอมไม่ได้ เศรษฐกิจมีผลต่อการลงทุนแน่นอน แต่อย่างไรองค์กรก็ต้องลงทุน เช่น ภาครัฐที่ยังลงทุนต่อเนื่อง ภาคการเงินที่ไม่ลงทุนไม่ได้เพราะอาจเกิดความเสียหาย ส่วน SMB นั้นยังโตต่อเนื่อง แม้อาจจะมีภาวะช้าลงเพราะต้องตั้งงบประมาณ เรียกว่าทุกส่วนตื่นตัวและตั้งงงบส่วนนี้"
ภัคธภาเชื่อว่าการลงทุนเพื่อรักษาความปลอดภัยจะเพิ่มขึ้นในปี 2023 ปัจจัยบวกมีตั้งแต่การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมีส่วนใน GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศไทยถึง 30% ภายในปี 2030 ขณะเดียวกัน ในปี 2022 ที่ผ่านมา มัลแวร์และแรนซัมแวร์ยังคงเป็นภัยคุกคามหลักที่องค์กรทั้งหลายต้องเตรียมรับมือ ซึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือรูปแบบการโจมตีที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยไม่ใช่เพียงแต่ตัวมัลแวร์และแรนซัมแวร์เท่านั้น แต่วิธีการในการส่งมัลแวร์ไปยังเป้าหมายมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดข้อมูลท็อป 3 ของการบุกรุกที่องค์กรในประเทศไทยต้องเผชิญได้แก่ มัลแวร์ แรนซัมแวร์ และแฮกเกอร์
ในส่วนของประเทศไทย การสำรวจช่วงไตรมาส 4 ของปี 2022 พบเหตุการณ์ (Incident) ที่เกี่ยวข้องกับไวรัสเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 1.5 ล้านครั้งต่อวัน หรือประมาณ 132 ล้านครั้งตลอดทั้งไตรมาส ซึ่งนับเป็น 2.25% ของการเกิดมัลแวร์ที่ตรวจพบทั่วโลก
ขณะเดียวกัน กลุ่มบอทเน็ตนั้นมีจำนวนตรวจพบมากกว่า 224 ล้านครั้ง นับเป็น 2.45% ที่ตรวจพบทั่วโลก โดยช่องโหว่ที่ถูกตรวจพบทั้งซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ต่างๆ นั้นมีมากถึง 57,651 ล้านครั้ง ซึ่งนับเป็น 1.94% จากการตรวจพบทั่วโลก ทั้งหมดนี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเนื่องบนความรุนแรงที่จะทวีคูณมากขึ้นด้วย
หากมองภาพกว้างในตลาดซิเคียวริตีปีนี้ แนวโน้มที่ ภัคธภาเห็นในไทยคือการที่บริการด้าน SI หรือบริการติดตั้งระบบนั้นยังมีบทบาทสำคัญต่ออค์กรที่ลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ เนื่องจากการซื้อซิเคียวริตีนั้นไม่ได้มีองค์ประกอบเฉพาะแค่การคลิกซื้อ แต่ยังต้องออกแบบและวางแผนกับองค์กร ดังนั้น แผนการขายของฟอร์ติเน็ตจึงเน้นให้ครอบคลุมการซื้อขายทั้งแบบซื้อผ่านที่ปรึกษา และการซื้อระบบซิเคียวริตีโดยตรงบนคลาวด์ ซึ่งฟอร์ติเน็ตจะได้ผลเชิงบวกไม่แพ้กันเพราะการเป็นบริษัทซิเคียวริตีที่มีรายการสินค้าให้บริการบน AWS มากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม ภาพกว้างนี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจฮาร์ดแวร์ อย่างเช่นไฟร์วอลล์ในเครือข่ายข้อมูล ที่ฟอร์ติเน็ตเป็นเจ้าตลาดมานาน เนื่องจากหลายองค์กรจะเริ่มมองว่าการลงทุนระบบซิเคียวริตีนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับอุปกรณ์ใดมาติดตั้งในบริษัท แต่ควรต้องสามารถเรียกใช้ซิเคียวริตีได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยที่ผ่านมา ฟอร์ติเน็ตสามารถกวาดส่วนแบ่งในตลาดจำหน่ายไฟร์วอลล์ได้มากกว่า 1 ใน 3 และปัจุบันมีส่วนเพิ่มเป็นมากกว่า 50% แล้ว
"คลาวด์ซิเคียวริตีทำให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่สัดส่วนการซื้อผ่านพาร์ตเนอร์ของเรายังสูงกว่า สะท้อนว่าองค์กรมองการซื้อซิเคียวริตีผ่านที่ปรึกษาว่าเป็นเรื่องสำคัญ"
ปัจจุบัน ฟอร์ติเน็ตมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI และ ML ที่ทำให้พบเจอภัยมากกว่า 2 แสนล้านภัยต่อวัน ขณะเดียวกัน ฟอร์ติเน็ตสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีกว่า 1,285 สิทธิบัตร ซึ่งมากกว่าผู้เล่นในตลาด 3 เท่า โดยในช่วงเวลาที่บริษัทก่อตั้งมากว่า 22 ปี ผู้ก่อตั้งยังคงนั่งเป็นผู้บริหารอยู่ปัจจุบัน ส่งให้ฟอร์ติเน็ตสามารถคว้าใจลูกค้าได้กว่า 6 แสนราย ถือเป็นสถิติที่ใหญ่สุดในตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตีโลกและไทย ผลักดันให้รายได้รวมปี 65 ของฟอร์ติเน็ตมีมูลค่าสูงถึง 5,590 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราเติบโตมากกว่า 32% ต่อปี