xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส ‘TRUE’ มุ่งสร้างแบรนด์คู่ เพิ่มประโยชน์ให้คนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่านมา 1 สัปดาห์หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไทย เมื่อ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ผ่านขั้นตอนการควบรวมแล้วเสร็จ และประกาศตั้งบริษัทใหม่ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ พร้อมทำตลาดภายใต้ 2 แบรนด์ คือ ทั้งทรู และดีแทคต่อเนื่องไปอีก 3 ปีข้างหน้า

จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คำถามสำคัญที่ตามมาคือการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร ในเมื่อหลังจากที่ทั้ง 2 ค่ายประกาศควบรวม แพกเกจราคาค่าบริการรายเดือนของผู้ให้บริการทั้ง 2 บริษัท 3 แบรนด์ในเวลานี้มีการปรับราคาแพกหลักเท่ากันหมด และหันมาแข่งขันกันในแง่ของบริการเสริมที่เข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ใช้งาน

ก่อนอื่นต้องเห็นถึงสภาพตลาดโทรคมในเวลานี้ ‘ต้นทุน’ หลักในการให้บริการอยู่ที่การขยาย และดูแลโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ฐานผู้ใช้งาน หรือจำนวนประชากรที่มีโอกาสเข้ามาใช้งานบริการเลขหมายไม่ได้อยู่ในช่วงที่เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้ว

ข้อมูลจากเทเลนอร์ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันสัดส่วนการใช้งานโทรศัพท์มือถือเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 175% ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการจะมาจากการใช้งานของผู้บริโภคที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นแทน แต่กลายเป็นว่าปัจจุบัน ARPU หรือค่าบริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนกลับลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง

เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของดีลนี้ ที่ทาง ‘ซีพี’ และ ‘เทเลนอร์’ เห็นร่วมกันว่าการอยู่ร่วมกันดีกว่า และมีโอกาสที่จะทำให้การลงทุนที่เกิดขึ้นมีประโยชน์สูงที่สุดทั้งในแง่ของการมีเครือข่ายที่มีคุณภาพ มีเทคโนโลยีล่าสุดที่เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตอบรับกับการที่คนไทยนับเป็น ‘Tech Savvy’ มากที่สุดในภูมิภาคนี้

เยอเก้น โรสทริป รองประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชีย เทเลนอร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นก้าวสำคัญของเทเลนอร์อีกครั้งในประเทศไทย หลังจากที่เมื่อ 20 ปีก่อนเริ่มเข้ามาลงทุนในไทย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ขณะเดียวกัน เทเลนอร์ เอเชีย จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีก 20 ปีข้างหน้า จากการที่เข้าไปลงทุนในหลายประเทศทั้งในไทย บังกลาเทศ และมาเลเซีย จนทำให้กลุ่มเทเลนอร์ขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของภูมิภาคนี้ จากจำนวนลูกค้ากว่า 200 ล้านรายทั่วภูมิภาค

จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นได้ว่า กลยุทธ์ของเทเลนอร์ในภูมิภาคนี้ เปลี่ยนแปลงไปสู่การเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์ ร่วมลงทุนในธุรกิจดิจิทัลที่มีโอกาสเติบโต ขณะเดียวกัน ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางด้านราคาในตลาดของแต่ละประเทศด้วย

เบื้องต้น เทเลนอร์พร้อมที่จะเข้ามาซัปพอร์ตกลุ่มทรู ทั้งการนำความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีจากพันธมิตรระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น 5G 6G AI Cloud รวมถึง IoT การทำสมาร์ทซิตี และสมาร์ทโลจิสติกส์ต่างๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งมากขึ้น

“ทุกคนไม่อยากให้คนไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน โดยเฉพาะการทรานสฺฟอร์มธุรกิจไทยให้มีรากฐานอยู่บนดิจิทัล ซึ่งในการที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ต้องอยู่บนเหตุผลของความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เตรียมพร้อมเพื่อรับกับอนาคต รวมถึงเข้าไปลงทุนเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้”

***สร้าง 2 แบรนด์ให้แข็งแกร่งไปด้วยกัน


มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า แบรนด์ดีแทค และทรูยังคงอยู่ในตลาด ทำให้ลูกค้าสบายใจได้ว่าลูกค้าของทั้ง 2 แบรนด์จะได้ประโยชน์จากการที่รวมธุรกิจกันทันที และสร้างโอกาสที่ไม่มีวันสิ้นสุดเพื่อคนไทย

“เชื่อมั่นว่าแบรนด์จะเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้าง 2 แบรนด์ให้แข็งแกร่งไปด้วยกัน และให้คำสัญญาว่าบริการจะไม่แย่ลงแน่นอน ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ และมุ่งมั่นให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงที่สุด”

โดยทันทีที่ประกาศตั้งบริษัทเสร็จปัจจุบันทั้งลูกค้าทรู และดีแทคจะสามารถเข้าถึงโครงข่ายผ่านการโรมมิ่งตามการอนุญาตของทาง กสทช. พร้อมกับการเดินหน้าขยายโครงข่าย 5G ในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ครอบคลุม 98% ภายในปี 2026

การเลือกใช้แบรนด์ทรู หลังการควบรวม เพราะเป็นแบรนด์ที่มีนวัตกรรม และธุรกิจที่ครอบคลุมมากกว่า


ประโยชน์แรกที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าดีแทคจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงบนคลื่น 2600 MHz ในขณะที่ลูกค้าทรูมูฟ เอช จะเข้าถึงเน็ต 5G ที่ครอบคลุมจากคลื่น 700 MHz ที่ทั้ง 2 ย่านความถี่มีจุดแข็งที่แตกต่างกัน และในอนาคตเมื่อสามารถส่งผ่านสัญญาณข้ามเครือข่ายที่มีมาใช้งานร่วมกันจะทำให้ได้เครือข่ายที่มีทั้งความครอบคลุม และหลากหลายย่านความถี่มากที่สุด

ไม่ใช่แค่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือเท่านั้น สิ่งที่ตามมาอีกคือการเข้าถึงเครือข่าย Wi-Fi ร่วมกันมากกว่า 1.3 แสนจุด ทำให้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูงได้ และที่สำคัญคือลูกค้าดีแทคสามารถใช้เลขหมายในการรับส่วนลดเพื่อสมัครใช้งานทั้งทรูออนไลน์ และทรูวิชั่นส์ได้แล้ว

พร้อมกันนี้ จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดของเน็ตบ้านกลับมาแข่งขันกันรุนแรงขึ้น จากเดิมที่จะเห็นแพ็กเกจราคา 1 Gbps ที่เริ่มต้นในราคา 590 บาท แต่ได้ความเร็วในการอัปโหลดแค่ 100 Mbps หรือ 500 Mbps/500 Mbps ในราคา 539 บาท

ทรู ออนไลน์ เริ่มเปิดเกมดึงฐานลูกค้าดีแทค ที่เดิมอาจใช้งานเน็ตค่ายอื่นให้ย้ายมาใช้งานทรู ออนไลน์ ด้วยแพกเกจ True Gigatex Fiber 1 Gbps/1 Gbps ในราคา 499 บาท พร้อมกล่องทรูไอดี ทีวี ให้รับชมคอนเทนต์เพิ่มเติมด้วย

ประโยชน์ต่อมาคือเรื่องของสิทธิพิเศษที่ทั้ง 2 แบรนด์ต่างมีพันธมิตรร้านค้าที่แตกต่างกันระหว่าง True Black และ dtac Platinum Blue Member ที่จะได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มเติม ทั้งการแลกรับชมแพกเกจ EPL สิทธิในการรับชม TrueID+ และ TrueVision Now Lite แลกเครื่องดื่มฟรี และเน็ต 10 GB ทั้งลูกค้ารายเดือน และเติมเงิน

เมื่อดูจากฐานลูกค้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ามือถือ 55 ล้านราย ทรู ออนไลน์ 4.97 ล้านราย ทรู วิชั่นส์ 3.2 ล้านราย ทำให้รวมๆ แล้วกลุ่มทรูมีฐานลูกค้าในมือกว่า 60 ล้านราย และยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้บริการอย่างทรู ออนไลน์ และทรู วิชั่นส์ เติบโตเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ทำให้หลังจากนี้จะเห็นการทำโปรโมชันที่เป็นการแข่งขันชิงลูกค้าในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรในการให้สิทธิพิเศษแก่ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เหมือนที่ในปัจจุบันนี้เริ่มเห็นจากการให้บริการไฟเบอร์บรอดแบนด์ที่เมื่อใช้เลขหมายโทรศัพท์จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมไปด้วย

***สร้างโอกาสการแข่งขันให้คนไทย


นอกจากรูปแบบการทำตลาดที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว เมื่อดูจากแนวทางกลยุทธ์ทั้ง 7 ของทรู จะเห็นว่ามีทั้งการเร่งขยายโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล พร้อมไปกับการขยายธุรกิจให้มากกว่าบริการพื้นฐานอย่างโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และบริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกที่มีในปัจจุบัน

ยังมีการนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ และสิทธิพิเศษเฉพาะบุคคลตามพฤติกรรมการใช้งาน การทำงานร่วมกับพันธมิตร รวมถึงทรูเฮลท์ที่จะช่วยยกระดับชีวิตคนไทยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นจากบริการดิจิทัล

ขณะเดียวกัน การที่มีคลื่นความถี่ 5G ย่านความถี่สูง 26 GHz เพิ่มมากขึ้นจะช่วยปลดล็อกศักยภาพให้แก่ลูกค้าในฝั่งขององค์กรธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการนำจุดแข็งจากทั้ง 2 แบรนด์โดยเฉพาะการที่มีพันธมิตรทางธุรกิจที่ครอบคลุมมาช่วย

อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการ ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า เป็นโอกาสที่หาได้ยากที่จะมีองค์กรที่มีความสำคัญ และมีขนาดใหญ่ มีวิสัยทัศน์ ความเชื่อที่สอดคล้องกันร่วมกันในการจัดตั้งบริษัทโทรคมนาคม เทคโนโลยี ที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำมาใช้พัฒนาธุรกิจ สร้างนวัตกรรม และบริการให้แก่ประเทศไทย

“บริษัทใหม่นี้จะช่วยนำดิจิทัลมาสร้างประโยชน์อย่างก้าวกระโดดด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นกลไกส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติ ทั้งประเทศชาติ สังคม ประชาชน องค์กร พนักงาน และผู้ถือหุ้น”

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ และมากพอในการขับเคลื่อนสิ่งที่ในอดีตมีข้อจำกัด เพื่อให้ศักยภาพขององค์กรธุรกิจ และผู้บริโภคนำความสามารถของเทคโนโลยีมาช่วยให้แข่งขันได้กับองค์กรในระดับนานาชาติ

พร้อมฉายถึงภาพในอนาคตที่จะเกิดขึ้นว่า ตลาดการแข่งขันของทรู ไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทยแล้ว แต่มีศักยภาพที่จะก้าวไกลออกไปยังตลาดในระดับภูมิภาคในการให้บริการทางด้านดิจิทัล พร้อมกับดึงดูดทรัพยากรบุคคล และนักลงทุนเข้ามาให้ประเทศไทย

“จากคุณภาพของโครงข่ายที่มีความครอบคลุม เร็ว แรงของสัญญาณ มีคอนเทนต์ที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลาย จับต้องได้มากขึ้น และกลุ่มทรูต้องนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาเพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น