xs
xsm
sm
md
lg

สรุปประเด็น พิพากษายกฟ้อง กสทช.กรณีรับทราบ “ทรู” ควบรวม “ดีแทค” ชี้ทำตามกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้องกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีมีมติรับทราบการควบรวมธุรกิจของบริษัท “ทรู” และบริษัท “ดีแทค” ชี้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ กสทช.ไม่มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวมกิจการ และหากออกประกาศหรือกฎใดๆ มาอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็จะเป็นอันใช้ไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 199/2565 ระหว่าง น.ส.ธนิกานต์ บำรุงศรี โจทก์ ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ที่ 1 นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ 2 พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ 3 ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต ที่ 4 รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย ที่ 5 เป็นจำเลยเรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (ชั้นตรวจฟ้อง)

สรุปประเด็นข้อกฎหมายตามคำวินิจฉัยของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาในชั้นตรวจฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อท 199/2565 ระหว่าง น.ส.ธนิกานต์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กสทช. ทั้ง 5 ราย ซึ่งศาลฯ มีคำพิพากษายกฟ้องเพราะฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 (กสทช.) กระทำความผิดตามฟ้อง เนื่องจาก

1.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดให้จัดรับฟังความคิดเห็นฯ เฉพาะการออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป แต่สำหรับกรณีการพิจารณารายงานรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” มีผลเฉพาะรายคือ “ทรู-ดีแทค” เท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป กสทช. จึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ กสทช. ต้องรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาต่างประเทศก่อนออกประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่ง

2.การแต่งตั้งและการให้ความเห็นของบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาอิสระรวมถึงความเป็นกลางและความเป็นอิสระของบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนตามกฎหมาย ทุกประการ


3. กสทช. ต่อพงศ์ฯ ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับกลุ่มบริษัททรู และไม่ได้ขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการในการเข้าร่วมพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของทรู-ดีแทคได้

4. การรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจของผู้ได้รับใบอนุญาตอันส่งผลให้เกิดนิติบุคคลขึ้นใหม่ซึ่งตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 3(1) และข้อ 5(1) ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจต้องรายงายการรวมธุรกิจต่อ กสทช. โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตในการรวมธุรกิจแต่อย่างใด อันเป็นการสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสาม ที่กำหนดให้รัฐต้องใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น ประกอบกับ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจ เพียงแต่ให้อำนาจ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น และที่ผ่านมา 9 กรณี กสทช. ได้มีการลงมติเพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น ดังนั้นการที่กสทช ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคโดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

5. ประกาศ ระเบียบหรือกฎใดๆ ของ กสทช.จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มาตรา 21 และมาตรา 22 ซึ่งมิได้บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตแต่อย่างใด ดังนั้น กสทช. ไม่อาจออกประกาศ ระเบียบกฏหรือหลักเกณฑ์ใดๆ ที่เป็นการเพิ่มเติมหรือขัดแย้งกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้มิฉะนั้นจะเท่ากับ กสทช.เป็นผู้บัญญัติกฎหมายขึ้นมาใหม่เสียเองและอาจจะส่งผลให้ระเบียบกฎหลักเกณฑ์ใดๆ ที่ประกาศออกมา ไม่สามารถใช้บังคับได้เพราะเป็นการขัดต่อกฎหมาย


6. ประธานของคณะกรรมการ กสทช. มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ตามระเบียบ กสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555

7. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มิได้มีข้อกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องออกเสียงทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม การที่ กสทช.ธนพันธุ์ฯ งดออกเสียงไม่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

8. มาตรการเฉพาะที่ กสทช.กําหนดสอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และ 22 แล้ว

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 5 ราย กระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป พิพากษายกฟ้อง

สรุปได้ว่า พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21, 22 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช.ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด และไม่ได้ให้อำนาจ กสทช.ในการกำหนดประกาศ กฎหรือหลักเกณฑ์ ที่ให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ให้อำนาจ กสทช.เฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น และที่ผ่านมา กสทช.เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี โดย 9 กรณีดังกล่าวมีการลงมติเพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาต หรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด จำเลยที่ 1-2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง “ทรู-ดีแทค” จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายทุกประการ


กำลังโหลดความคิดเห็น