ชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เอ่ยกับผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวแพลตฟอร์มธุรกิจรับซื้อ-ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่มือสองชื่อ ‘สบายชัวร์มาร์เก็ต’ (SABUY Sure Market) ว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีใครสนใจทำแพลตฟอร์มรับซื้อ-ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่มือสองในไทยอย่างจริงจัง เพราะตลาดนี้เป็นงานหินที่มีความยากอยู่ในตัว แต่ SABUY ตัดสินใจทำเต็มที่ด้วยเหตุผลเดียว
แม้จะมีการขยายความว่าเหตุผลนั้นคือความอยากให้ผู้บริโภค ‘สบายใจ-สบายกระเป๋า’ เมื่อต้องตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือมือสอง แต่ความจริงคือศักยภาพของตลาดที่ SABUY เชื่อว่าจะมีโอกาสเติบโตสูงมาก และตลาดยังมีช่องที่จะทำให้ SABUY โกยยอดขายเบาๆ ปีแรก 200 ล้านบาท
ช่องว่างนั้นพิสูจน์ได้จากสถิติภาพรวมตลาดมือถือไทยปี 2560-2565 ที่มีอัตราเติบโตราว 20% ต่อปี จนปัจจุบัน ยอดขายสมาร์ทโฟนตลาดไทยนั้นพุ่งเป็น 120 ล้านเครื่อง แต่ตัวเลขผู้ใช้งานจริงกลับมีเพียง 56 ล้านคน แปลว่าตลาดมีช่องว่างระหว่างสมาร์ทโฟนมือหนึ่งและมือสองค่อนข้างชัดเจน กลายเป็นโอกาสทองที่ SABUY หวังจะขยายไปคู่กับธุรกิจขายตรง ซึ่งหากทำได้จริง SABUY อาจจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือมือสองของไทย ให้เป็นไปในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
***ผ่าศักยภาพ ‘มือถือมือสอง’
ก่อนจะไปดูรายละเอียดการลงทุนของ SABUY ในตลาดมือถือมือสอง เราควรรู้ถึงศักยภาพของตลาดจากอัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากแต่เดิมที่มีอยู่ประมาณ 60% ของประชากรไทย วันนี้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนในไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 82% ซึ่งส่งผลให้ยอดขายสมาร์ทโฟนมือหนึ่งในไทยช่วงปี 2565 มีจำนวนราว 4-5 ล้านเครื่องต่อไตรมาส หรือคิดเป็นประมาณ 20 ล้านเครื่องต่อปี
‘สุธี สุคันธาภรณ์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สบาย ชัวร์ มาร์เก็ต จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดมือถือไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตราว 20% ต่อปี แบรนด์ที่ถูกใช้งานมากคือแอปเปิล และซัมซุง อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณจากการใช้งานจริงในประเทศไทย พบว่าจากการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 141% ของประชากร กลับมีสมาร์ทโฟนเพียง 56 ล้านเครื่องเท่านั้นที่ถูกใช้งาน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ทิ้งห่างจำนวนสมาร์ทโฟนรวมในตลาดไทยที่มีกว่า 120 ล้านเครื่องในปัจจุบัน
‘แปลว่าตลาดมีช่องว่างระหว่างมือถือมือหนึ่งและมือสอง ทุกวันนี้มีมือถือมากกว่า 70% ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ อีก 20% ถูกนำไปรีไซเคิล เราตั้งเป้าจะทำให้ 20% นี้กลับมาใช้ใหม่ได้ เชื่อว่าสบายชัวร์จะเป็นคำตอบ’
สุธี เล่าว่า ประเทศไทยยังไม่มีบริษัทที่โฟกัสกับการทำธุรกิจรับซื้อและขายโทรศัพท์มือถือมือสองอย่างจริงจัง จึงมีแนวคิดอาสารับซื้อและขาย ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อมือถือมือสองได้รับเครื่องที่ ‘ไม่ย้อมแมว’ เชื่อถือได้ ในราคาสมเหตุสมผล เป้าหมายหลักคือการทำให้ปัญหาความไม่เชื่อมั่นในสินค้ามือสองหมดไป ด้วยการตอบจุดเจ็บปวดของกลุ่มคนที่จะซื้อมือถือมือสอง ผ่านผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยตรวจสอบให้
งบลงทุนที่ชูเกียรติ และพันธมิตรจะเทปูทางให้สุธี สร้างโอกาสในธุรกิจนี้ผ่าน SABUY นั้นอยู่ที่ราว 20 ล้านบาท งบที่สูงเช่นนี้ครอบคลุมกลยุทธ์การพุ่งเป้าทำตลาดออฟไลน์มากขึ้น โดยวางแผนเปิดศูนย์รับซื้อขายเครื่องที่ย่านเซ็นเตอร์พอยต์ เนื่องจากการปักหลักบนโลกออนไลน์เท่านั้นอาจเรียกความเชื่อถือได้ไม่มากพอ
‘เราจะมีดีลกับพาร์ตเนอร์มากขึ้น SABUY มีจุดดรอปออฟเกินหมื่นจุดทั่วประเทศ เชื่อว่าจะตอบโจทย์ให้ลูกค้าเข้าถึงสบายชัวร์ได้มากขึ้น และอนาคตจะมีแอปพลิเคชันให้ผู้ซื้อและขายได้ตรวจสอบข้อมูล และประเมินราคาเบื้องต้น จะทำให้เป็นมาตรฐานใหม่ในวงการมือถือมือสอง’ ชูเกียรติ ระบุ ‘ช่วงแรกเราลงทุน 20 ล้านบาท แต่จะเพิ่มขึ้นอีก การคืนทุนจะเร็วตามปริมาณการขาย และการบริหารจัดการ’
***200 ล้านมาแน่
เป้าหมายเฟสแรกที่บริษัทวางไว้สำหรับปี 2566 คือการทำยอดขาย 25,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าราว 150-200 ล้านบาท คาดว่าสบายชัวร์มาร์เก็ตจะเป็นช่องทางให้ร้านค้าตู้มือถือมือสองมีลู่ทางคว้ามือถือมือสองราคาดีไปจำหน่ายต่อได้อีก ซึ่ง SABUY กำลังเตรียมขยายช่องทางจำหน่ายไปที่ร้านสะดวกซื้อได้ด้วย
‘การซื้อขายมือถือมือสองจะเป็นเรื่องสบายๆ’ ชูเกียรติกล่าว ‘ตลาดนี้มีศักยภาพ สบายชัวร์มาร์เก็ตจะเป็นแพลตฟอร์ม จะไม่มีแค่หน้าร้านสาขา แต่จะเป็นเครือข่าย ที่ผ่านมาเรามีธุรกิจไดเร็กต์เซลล์ขายเครื่องกรองน้ำ อนาคตเราจะเพิ่มไลน์มือถือมือสองลงไป ได้ทั้งซื้อและขายครบเลย’
กลุ่มเป้าหมายของสบายชัวร์มาร์เก็ตคือนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้ใช้สมาร์ทโฟนครั้งแรกและองค์กร SME ที่ต้องแจกอุปกรณ์ให้พนักงานใหม่ รวมถึงโรงงานภาคการผลิต
เมื่อถามถึงภาวะราคาสมาร์ทโฟนรุ่นเริ่มต้นต่ำลง จนทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อหาสมาร์ทโฟน 5G กับโอเปอเรเตอร์แบบผูกสัญญาในราคาไม่ถึง 2 พันบาท สุธีเชื่อว่าภาวะนี้ไม่มีผลกระทบ เพราะสบายชัวร์มาร์เก็ตจะเน้นกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาเกินหมื่น โดยเฉพาะไอโฟนและซัมซุง คาดว่าราคาไอโฟนและกาแล็คซี่มือสองจะต่ำกว่าราคามือ 1 ราว 20-30% ขึ้นอยู่กับรุ่น
นอกจากนี้ ชูเกียรติวางแผนให้ SABUY ต่อยอดไปสู่ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เสริม เช่น สายชาร์จ ฟิล์มกันรอย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ร้านเล็กมีรายได้เพิ่มอีก โดยแพลตฟอร์มจะรับซื้อขายแท็บเล็ตมือสองร่วมด้วย และไม่เพียงมือถือ-แท็บเล็ตมือสอง ชูเกียรติวางแผนจะขยายเซกเมนต์ไปธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น รวมถึงกระเป๋าแบรนด์เนม ซึ่งอาจจะเป็นซีรีส์ที่จะมีการเทรดเพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าราคาสูงได้ง่ายขึ้น
‘ปริมาณจะไม่หยุดเท่านี้ แต่จะไปทั่วอาเซียน’
บทสรุปของ SABUY ในธุรกิจสินค้ามือสองยังอยู่ที่ความยั่งยืนต่อโลก ด้วย SABUY เชื่อว่าการรับรองงานซ่อม และศูนย์ซ่อมครบวงจร จะทำให้เพิ่มสัดส่วนการใช้มือถือมือสองและสินค้ามือสองอื่นๆได้ดีขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัท SABUY ที่ตั้งใจนำนวัตกรรมมาสร้างความยั่งยืน ลดขยะให้โลกได้ พร้อมกับทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงวิถีชีวิตดิจิทัลได้
ตอกย้ำความยากแต่คุ้มของธุรกิจสินค้ามือสองจริงๆ