xs
xsm
sm
md
lg

ชวนพนักงานทบทวนเป้าหมายชีวิต!! เคล็ดลับ “ฟูจิตสึ” พาองค์กรสู่ดิจิทัล (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ทุกอย่างจะดูทันสมัยไปหมดในวันที่โลกหมุนเข้าสู่ปี 2023 แต่ความจริงคือหลายองค์กรยังคงไม่ประสบความสำเร็จกับการทำ DX หรือดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเท่าที่ควร องค์กรเหล่านี้อาจขัดข้องเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญแบบลงลึกที่ถูกจุดเหมือนอย่างที่เจ้าพ่อไอทีสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “ฟูจิตสึ” ได้ลงลึกไปถึงขั้นกระตุ้นให้พนักงานคิดว่า “แต่ละคนเกิดมาเพื่ออะไร? และทำไมบริษัทต้องเกิดมา?” จนสามารถดันให้ฟูจิตสึถูกยกเป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดในโลก

“กนกกมล เลาหบูรณะกิจ” กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารหญิงและคนไทยคนแรกของฟูจิตสึอธิบายว่าการชวนให้คิดถึงเป้าหมายชีวิตนั้นทำให้พนักงานฟูจิตสึเห็นภาพใหญ่ว่าองค์กรจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรในอนาคต ส่งให้เกิด empathy หรือความเข้าอกเข้าใจว่าทุกคนลงแรงทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันไปเพื่ออะไร

แทนที่จะมองว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นผลดีกับบริษัท กนกกมล วางหมากสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คนฟูจิตสึมองดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นสิ่งทำให้พนักงานเติบโตโดยจะเป็นทักษะใหม่ในอาชีพของทุกคน หลักคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด “FUJITRA” ที่บริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FTH บอกว่าได้ใช้เป็นเครื่องมือผลักดันองค์กรเพื่อสังคมยั่งยืน โดย FUJITRA เป็นบันไดที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในการสำรวจความผูกพันของพนักงาน และ FUJITRA ถูกวางตัวให้แทรกอยู่ในทุกโอเปอเรชันของบริษัทในอนาคตด้วย

***FUJITRA ทรานส์ฟอร์เมชันสไตล์ญี่ปุ่น

กนกกมล ให้ข้อมูลว่า FUJITRA หมายถึง Fujitsu Transformation หรือการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อสังคมยั่งยืนด้วยการนำดิจิทัล (Digital Transformation) มาช่วยปรับเปลี่ยน หน่วยงาน วัฒนธรรมองค์กร ผลิตภัณฑ์ บริการและโมเดลทางธุรกิจให้ฟูจิตสึ ที่ก่อตั้งมานาน 90 ปี และเป็นหนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งให้บริการในกว่า 180 ประเทศทั่วโลก

“ช่วงแรกฟูจิตสึทำธุรกิจด้านอุปกรณ์สื่อสารและเครือข่าย จนปี 2010 บริษัทเปลี่ยนมาทำเซอร์วิสบนอินเทอร์เน็ต และเริ่มขยับเข้าสู่อุตสาหกรรมความยั่งยืน เพราะบริษัทมองว่าเทคโนโลยีต้องมีส่วนช่วยมนุษย์ จนปัจจุบันบริษัทเข้าสู่ยุค DX Era ทำให้ต้องปรับองค์กรเพื่อสร้างประโยชน์และส่งต่อประโยชน์ให้ลูกค้าของลูกค้าอีกที”

ความเป็นคนไทยคนแรก และการเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้นั่งเป็นเอ็มดี ทำให้กนกกมลต้องการแสดงศักยภาพว่าสามารถนำพาองค์กรที่ปัจจุบันมีพนักงาน 408 คนให้เติบโตในประเทศไทยได้ ท่ามกลางกลุ่มบริษัทในเครือมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีธุรกิจเครื่องปรับอากาศด้วย สิ่งที่กนกกมล ทำคือนำ FUJITRA มาช่วยปรับเปลี่ยนฟูจิตสึ ประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นแบบ Hybrid Working ที่พนักงานทุกคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก หรือการนำเครื่องมือทาง IT ต่างๆ มาใช้ในการทำงานแต่ยังมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร

กนกกมล เลาหบูรณะกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารหญิงและคนไทยคนแรกของฟูจิตสึ
หลักคิดของเรื่องนี้คือ ฟูจิตสึมองการเปลี่ยนแปลงองค์กรภายในเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญโดยพนักงานทุกคนเป็นแกนหลักที่จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กร และสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบยั่งยืนได้ดียิ่งขึ้น ในอีกด้านฟูจิตสึเชื่อในหลักการในการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนที่จะไปช่วยเปลี่ยนแปลงให้ลูกค้า ฟูจิตสึ จึงต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าการทำ Digital Transformation ให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่มากกว่าเทคโนโลยีและข้อมูล แต่ต้องอาศัยผู้นำองค์กรในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไปพร้อมกัน

“สิ่งที่ ฟูจิตสึ เน้นคือองค์ความรู้ในการทำ DX ที่ชื่อ FUJITRA เหตุที่องค์กรต้องทำ DX เพราะบริษัทยุคเก่าถูกดิสรัป องค์กรจึงต้องทำทรานส์ฟอร์ม เป็นการตอบสนองเพื่อเอาเทคโนโลยีมาเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ DX ทำให้เกิดผลที่ดีต่อลูกค้าหรือสังคม แต่การทำ DX มักเข้าใจผิดว่าเป็นการนำไอทีเข้ามา ซึ่งที่จริงไม่ใช่มันคือการเปลี่ยนก่อนที่จะนำเอาไอทีเข้ามา ดิจิทัลเป็นเพียงตัวเสริมต้องไม่มองที่การใช้เทคโนโลยีเท่านั้นแต่ต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน วัฒนธรรมทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดคุณค่า”

การเปลี่ยนแปลงตัวเองของฟูจิตสึด้วยกรอบความคิด “FUJITRA” จึงประกอบด้วย 4 แกนคือ Leadership, Culture, Data-driven และ DX (Digital Transformation) ซึ่งหมายถึงจะต้องมีผู้นำต้องมีความเชี่ยวชาญและที่สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนวัฒนธรรม โมเดล FUJITRA จะเน้นผล 6 ส่วนที่แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ ความเสถียรการเติบโตและประสบการณ์ที่จะเกิดทั้งพนักงานและลูกค้า

ในส่วนประสบการณ์พนักงาน ฟูจิตสึ ใช้วิธีขับเคลื่อนจุดประสงค์การทำงานของพนักงาน เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เปิดให้พนักงานรู้สึกถึงการทรานสฺฟอร์มที่จับต้องได้ ขณะเดียวกัน ก็สร้างวัฒนธรรม “First Penguin” เพื่อให้เกิดค่านิยมที่พนักงานยอมรับความเสี่ยงและกล้าที่จะล้มเหลว เพราะแนวคิดนี้หมายถึงเพนกวินตัวแรกที่กระโดดลงไปจับปลานั้นมีโอกาสที่จะได้ปลาและถูกฆ่า (ผู้นำเสนอแนวคิดนี้คือศาสตราจารย์ Randy แห่งมหาวิทยาลัย Carnegie Melon)

นอกจากการถามว่าพนักงานรู้สึกไหมว่ามีการทรานส์ฟอร์มองค์กร ฟูจิตสึ ยังกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องทำ Purpose Carving โดยเริ่มจากให้พนักงานคิดว่าทำไมบริษัทต้องเกิดมา แต่ละคนเกิดมาเพื่ออะไร ทำให้เกิดภาพใหญ่ว่าองค์กรจะเปลี่ยนเป็นอะไร ในช่วงแรกจะทำให้เกิดในผู้บริหารก่อนขยายไปถึงพนักงานทุกคน

“เราจะถามเรื่องอะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำงานที่นี่ แต่ละคนคิดว่าเกิดมาทำไม อะไรที่จะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคไปได้ การถามแบบนี้จะทำให้จดจำได้” กนกกมล เล่า “ท่ามกลางการทำมากมาย แม้จะไม่มีตัววัดที่แน่นอน แต่รางวัลที่เราได้รับน่าจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำมาสำเร็จ เราเป็น 1 ในบริษัทน่าทำงานด้วยประจำปี 2022 ถูกจัดเป็นบริษัทที่น่าชื่นชมมากที่สุดของโลก 4 ปีซ้อน และผลสำรวจการมีส่วนร่วมกับพนักงานก็ได้คะแนเพิ่มขึ้น แปลว่าสิ่งที่พยายามปรับวัฒนธรรมนั้นพนักงานรับรู้ได้”

ประสบการณ์พนักงานนำไปสู่การยกระดับประสบการณ์ลูกค้าด้วย กนกกมล ย้ำว่าการสำรวจภาพลักษณ์ ฟูจิตสึ ในสายตาลูกค้านั้นได้คะแนนดีขึ้น ลูกค้ามองเป็นพาร์ตเนอร์ด้านไอซีที และเป็น DX Company ยังมีคะแนนความพึงพอใจที่ได้รับมาเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าลูกค้าต้องพอใจเกิน 85% ทั้งหมดนี้แม้จะถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ ฟูจิตสึ จะไม่หยุดและมีแผนทำ FUJITRA ไปต่อเนื่องเพราะทุกองค์กรอื่นก็เดินต่อเนื่องไม่มีพักเช่นกัน

กนกกมล ยอมรับว่า ฟูจิตสึไม่ใช่องค์กรแรกที่สร้างวัฒนธรรมว่า “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันทำให้พนักงานเติบโต” เนื่องจากหลายองค์กรพบปัญหาขาดผู้อาสามารับหน้าที่ขับเคลื่อนโปรเจกต์ซึ่งแม้จะไม่ต่อต้านอย่างชัดเจน แต่องค์กรต้องไม่ลืมสนับสนุนว่าผู้ที่เข้ามาจัดการโครงการจะมีการเติบโตในการงาน และจะเป็นทักษะใหม่ในอาชีพ

สำหรับการทำสำรวจเป้าหมายชีวิต กนกกมลยืนยันว่าคนรุ่นใหม่บางคนชื่นชอบ แต่ที่กังวลมากกว่าคือคนรุ่นเก่าที่อาจมองไม่เห็นความสำคัญ ทั้งหมดนี้ ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้บนแนวทางของตัวเอง และฟูจิตสึ ยินดีให้คำปรึกษาเพิ่มเติม

***ฟูจิตสึยุคใหม่ ลุยเต็มสูบ

ปัจจุบันฟูจิตสึมีจุดยืนพร้อมช่วยองค์กรทั่วโลกสร้างการเปลี่ยนแปลง จุดยืนนี้เด่นชัดยิ่งขึ้นเมื่อฟูจิตสึตัดสินใจซื้อ 4 บริษัทใหม่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา โดยมีผลทำให้บริษัทเทโฟกัสเต็มที่กับบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและความปลอดภัยทำให้บริษัทสามารถให้บริการในขอบเขตที่สูงขึ้น

“วันนี้ความคาดหวังหลักของฟูจิตสึอยู่ที่ 7 คีย์โฟกัสแอเรียซึ่งเป็นการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ฟูจิตสึมีความแข็งแกร่ง บริษัทมีความชำนาญในการเข้าถึงข้อมูลชุดที่ทำให้ภาคการผลิตมีความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการทราบว่าข้อมูลชุดใดจะทำให้บริษัทค้าปลีกมีประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น”

โซลูชัน Fujitsu Uvance  หนึ่งในคีย์เทคโนโลยีที่ฟูจิตสึให้ความสำคัญในปีนี้
กนกกมลยกตัวอย่างโซลูชัน Fujitsu Uvance ที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรม 4 ด้าน คือ อุตสาหกรรมการผลิตแบบยั่งยืน (Sustainable Manufacturing) ประสบการณ์สำหรับผู้บริโภค (Consumer Experience) การใช้ชีวิตที่มีสุขภาพดี (Healthy Living) และสังคมที่เชื่อถือได้ (Trusted Society) โดยทั้ง 4 ด้านนี้จะขับเคลื่อนผ่านกลุ่มเทคโนโลยีสำคัญ 3 กลุ่มคือการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล (Digital Shifts) แอปพลิเคชันทางธุรกิจ (Business Applications) และระบบไอทีแบบไฮบริด (Hybrid IT)

สำหรับ ฟูจิตสึ ประเทศไทย บริษัทก้าวสู่ปีที่ 33 ในปีนี้ด้วยความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงในภูมิภาค และจากเดิมที่มีผู้นำเป็นชาวญี่ปุ่นและผู้ชายมาตลอด การเปลี่ยนมาเป็นผู้หญิงและคนไทยคนแรกถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญสำหรับองค์กรญี่ปุ่น ซึ่งแสดงว่า ฟูจิตสึ ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศไทยและต้องการส่งเสริมศักยภาพของคนไทยรุ่นใหม่และต้องการให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานยิ่งกว่าเดิม

กนกกมลนั้นเป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานกับฟูจิตสึมานาน 24 ปี ความท้าทายใหญ่ที่พบคือการบริหารจัดการคน แม้จะไม่มีแรงต้าน แต่การเป็น services company ทำให้มักพบเจอปัญหาเรื่องคนทุกวัน สำหรับปีนี้ กนกกมล วางนโยบายเพิ่มบุคลากรเต็มที่เนื่องจากมีหลายโครงการที่ต้องดำเนินการ แต่ยังขาดแคลนบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินการ ส่วนนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในช่วงโควิด ฟูจิตสึพบว่ามีการแย่งชิงบุคลากร การขาดแคลนแรงงานจึงเป็นความผันผวนของทรัพยากรในอุตสาหกรรมที่เห็นได้ชัดเจนช่วงปีนี้

ในภาพรวม กนกกมล สรุปว่าสัดส่วนรายได้ของ ฟูจิตสึ ในยุคใหม่จะเปลี่ยนไปเนื่องจากมีลูกค้าที่จะต้องทรานส์ฟอร์เมชันเพิ่มขึ้นคาดว่าสัดส่วนการเพิ่มขึ้นจะคำนวณได้มากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่แล้ว คาดว่าการเติบโตจะขยายผลถึงปี 2567 โดยนอกจากธุรกิจทรานส์ฟอร์เมชัน อีกกลุ่มที่จะเติบโตคือบริการวิเคราะห์ข้อมูล ผลจากการซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ข้อมูลทำให้สามารถวางระบบข้อมูลได้ตั้งแต่ต้น

แถมยังสานต่อเป้าหมายชีวิตของ “คนฟูจิตสึ” ได้ด้วย!!


กำลังโหลดความคิดเห็น