AQUA เล็งยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ซุ่มเจรจาพันธมิตรสถาบันการเงิน รวมกับมีความพร้อมด้านฟินเทคและเทคโนโลยี รอจังหวะแบงก์ชาติประกาศหลักเกณฑ์ชัดเจน ตั้งเป้าปี 2566 รายได้โต 6-10% จากธุรกิจ Lending ที่จะเพิ่มพอร์ตกว่า 3,000 ล้านบาท เร่งดัน “ไทยพาร์เซิล” เข้า mai ช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ เน้นโลจิสติกส์สินค้าขนาดใหญ่ที่ไม่มีใครทำและเร่งเจรจาปิดดีลธุรกิจโลจิสติกส์เสริมทัพ และธุรกิจด้านเทคโนโลยีอีก 1 ราย แย้มออกหุ้นกู้ 1,000 ล้านบาท รูปแบบใหม่ของตลาดกลางปีหน้า โดยแบ่งเงิน 500 ล้านบาทไปชำระหุ้นกู้เพิ่อบริหารต้นทุน และอีก 500 ล้านบาทไปลงทุน
นายชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์ กรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AQUA) เปิดเผยว่า บริษัทสนใจที่จะเข้ายื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจากับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงินที่จะเข้ามาเสริมด้านเงินทุนและกลุ่มเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมการเงินสมัยใหม่ไว้แล้ว โดยบริษัทมีความแข็งแกร่งด้านฟินเทค เป็นการต่อยอดให้บริษัทเดินหน้ารุกธุรกิจฟินเทคเต็มกำลัง หลังจากร่วมมือกับ บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) เจ้าของ บล.ลิเบอเรเตอร์ เพื่อให้บริการ P2P Lending ในชื่อของ “Peer for All” จะเปิดตัวภายในครึ่งปีแรกนี้ โดยตั้งเป้าพอร์ตปล่อยกู้ในรูปแบบที่ใช้หุ้นมาค้ำประกันในปีแรกราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะคัดหุ้นที่ราคาไม่ผันผวนและมีสภาพคล่องสูงใน 300 อันดับแรก และมีระบบควบคุมความเสี่ยงในการปล่อยกู้
“บริษัทเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากแบงก์ชาติ และกระทรวงการคลัง หลังใช้ระยะเวลากว่า 3 ปี จึงสามารถผ่านการทดลองใน Sandbox ของแบงก์ชาติได้ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาใช้บริการเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการสินเชื่อไปใช่จ่ายอะไรก็ได้ เพราะไม่มีขั้นต่ำในการกู้และสามารถปล่อยกู้ได้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อคน ช่วงแรกจะเปิดให้ผู้กู้ใช้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บริษัทได้คัดกรองอย่างดีแล้วนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และลิเบอเรเตอร์ ดูแลและจัดเก็บหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นในการนำมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อของลูกค้า” ชัยพิพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง คาดว่าปี 2566 นี้จะสามารถปิดดีลได้ 2 ราย รายแรกจะปิดดีลในเดือนมีนาคม เป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่ต่อยอดกับธุรกิจเดิม เป็นสินค้าขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครทำ รวมถึงยังมีแผนออกหุ้นกู้มูลค่า 1,000 ล้านบาท เป็นการระดมทุนในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในตลาดทุน โดยจะนำเงินไปใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนด 500 ล้านบาท และอีก 500 ล้านบาท ไปใช้ลงทุนดีล M&A ใหม่ๆ ส่วนไทยพาร์เซิล ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนแล้ว ประกอบธุรกิจด้านโลจิสติกส์นั้น เตรียมที่จะนำเข้าจดทะเบียนใน mai ช่วงเดือนมิถุนายน IPO จำนวน 120 ล้านหุ้น เพื่อระดมทุนไปใช้สร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งาน และลงทุนระบบไอที
จากแผนธุรกิจดังกล่าวของบริษัท ทำให้ในปี 2566 จะเป็นปีที่เติบโตอย่างมาก ตั้งเป้ารายได้จะขยายตัว 5-10% จากปีก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากกลุ่มธุรกิจฟินเทคที่คาดว่าปีนี้จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้จำนวนมาก หลังจากบริษัทมีแผนจะเริ่มเปิดดำเนินการธุรกิจ Lending หรือการให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ รายได้จากการลงทุนและการบริหารธุรกิจเดิมเพิ่มขึ้นตามลำดับ