xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าวิชั่น ‘ชไนเดอร์’ ชูระบบไฟฟ้า AI ร่มใหญ่ปูทางองค์กรไปดิจิทัลยั่งยืน (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชไนเดอร์ อิเล็คทริค (Schneider Electric) เป็นแบรนด์อุปกรณ์ระบบไฟฟ้าที่พาตัวเองมาเป็นผู้นำตลาดดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันด้านการบริหารจัดการพลังงานและระบบออโตเมชัน ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้เปิดตัวดิจิทัลเซอร์วิสโดยดึงพลังจากระบบ IoT ที่อุปกรณ์สามารถเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลได้ มาทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI อัจฉริยะ แล้วสร้างเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ระดับโลกที่สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของระบบไฟฟ้าทั้งระบบ ความสามารถในการคาดการณ์แนวโน้มการเสื่อมสมรรถภาพของอุปกรณ์ทำให้มีบริษัทรายใหญ่ใช้งานในไทยเกิน 50 ไซต์งานแล้ว สำหรับปีนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค วางเป้าหมายว่าสัดส่วนนี้จะเติบโตอีกเท่าตัว

ความเชื่อมั่นนี้มาจากมุมมองต่อ “ดิจิทัลเซอร์วิส” บริการที่ทำให้ระบบไฟฟ้ามีพลัง AI ขึ้นมานี้ถูกวางแผนให้ติดปีกทำตลาดอย่างจริงจังในปี 2566 วิสัยทัศน์เบื้องหลังของความเคลื่อนไหวนี้คือความยั่งยืน ซึ่ง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้โหมโรงชูในแพกเกจใหม่ของบริการดิจิทัลจากชไนเดอร์ อิเล็คทริค ที่ประเดิมเปิดตัวไปแล้วในช่วงต้นปี

แน่นอนว่าการจัดการระบบไฟฟ้าด้วย AI นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ บริษัทจำนวนมากมีการลงทุนพัฒนาบริการเพื่อแข่งขันในตลาดระบบไฟฟ้าอย่างดุเดือด แต่ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เชื่อว่าการตัดสินใจทำแพลตฟอร์มระดับโลก (global platform) ขึ้นมาเพื่อลิงก์ทุกโซลูชันนั้นเป็นจุดเด่นที่ทำให้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เหนือกว่า เนื่องจากคู่แข่งยังคงพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มแบบแยก ทำให้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค สามารถสื่อสารกับลูกค้าทุกกลุ่มได้ง่ายกว่า และยังไม่เห็นการพัฒนาลักษณะนี้ในรายอื่น

การลิงก์ข้อมูลในทุกอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของชไนเดอร์ อิเล็คทริคนั้นไม่ใช่คำพูดเกินจริง แต่อาจมีข้อจำกัดว่าอุปกรณ์สามารถส่งข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มองว่าความผันผวนของเศรษฐกิจไม่ใช่ความท้าทายของดิจิทัลเซอร์วิส แต่เป็นการนำเสนอให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นประโยชน์ เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ใช้บริการแล้วไม่พบเจอความผิดปกติใน 1 ปี ทำให้เกิดความลังเลในการลงทุน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ความย้อนแย้งกับเงินทุนมูลค่าไม่น้อย ทำให้ชไนเดอร์ อิเล็คทริค รู้ดีว่าต้องพยายามพัฒนาระบบรายงานเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นประโยชน์มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการโฟกัสเรื่องความยั่งยืน ที่จะเป็นไฮไลตฺของตลาดดิจิทัลเซอร์วิสในวงการระบบไฟฟ้าตลอดช่วงปีนี้

***ยั่งยืนเยอะ ประโยชน์แยะ


วราชัย จตุรสถาพร รองประธานธุรกิจ Field Services ดูแลประเทศไทย ลาว และพม่า ย้ำว่าดิจิทัลเซอร์วิสคือร่มใหญ่ที่ทำให้องค์กร “ไปดิจิทัล” หรือลงมือทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้อย่างยั่งยืน เพราะดิจิทัลเซอร์วิสไม่เพียงแจ้งเตือนความล้มเหลวของอุปกรณ์ล่วงหน้าได้ ช่วยลดดาวน์ไทม์ ยืดอายุของอุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ยังแนะนำแผนการบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“digital service ถือเป็นร่มใหญ่ให้ทุกคนทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันได้ เพราะทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแล้วจะต้องยั่งยืนต่อโลกใบนี้”

วราชัย เล่าว่า วงจรการติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงาน หรือองค์กรใหญ่นั้นมีตั้งแต่การวางแผน และการติดตั้ง ซึ่งจะครอบคลุมช่วงการซ่อมบำรุง การทดแทนอุปกรณ์ที่เสีย การอัปเกรด และการเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อวางแผนอุปกรณ์ทั้งหมดของแบรนด์ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กลายเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ทำงาน 3 เลเยอร์ โดยชั้นแรกคือสินค้าทุกชิ้นที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จำหน่ายในขณะนี้จะพร้อมเชื่อมต่อกับระบบรับส่งข้อมูล ซึ่งแปลว่าเมื่อซื้ออุปกรณ์ใดแล้วจะสามารถลิงก์ข้อมูลได้ทันที

ชั้นที่ 2 คือการควบคุมที่เอดจ์ ทำให้องค์กรสามารถดึงข้อมูลจากอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ทันที ทำให้ตรวจติดตามการใช้พลังงานได้เต็มที่ แต่ชั้นนี้ หน่วยงานจะต้องมีห้องควบคุมเป็นห้องส่วนกลาง และต้องมีบุคลากรคอยตรวจสอบ

สุดท้ายชั้นที่ 3 คือแอปพลิเคชันบริการวิเคราะห์ ชั้นนี้จะมีการดึงข้อมูลเลเยอร์ 2 มาสู่เลเยอร์ 3 ผ่านแอปพลิเคชัน ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญของชไนเดอร์ อิเล็คทริค คอยช่วยวิเคราะห์ ความแตกต่างของชั้นนี้คือข้อมูลจะต้องถูกส่งขึ้นมาบนคลาวด์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศสามารถวิเคราะห์และตรวจจับปัญหาได้ ทำให้บริการนี้ไม่ต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญขององค์กรเท่านั้น แต่สามารถใช้ AI และผู้เชี่ยวชาญของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้

“หลักใหญ่คือข้อมูลต้องขึ้นคลาวด์ ให้ทุกคนทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาแบบออนไลน์และเรียลไทม์ โมดูลที่เราเน้นก็คือ Access Advisor คือดูแนวโน้มการใช้ไฟของพื้นที่การใช้งานนั้นและมีเกณฑ์ระดับโลกหรือ global benchmark ที่สามารถตรวจจับแนวโน้มการผิดปกติ และสามารถแจ้งเตือนที่ลูกค้า และทีมงานชไนเดอร์ อิเล็คทริคในไทย”

กลุ่มเป้าหมายของบริการ Asset Advisor คือกลุ่มผู้ให้บริการไฟฟ้า หรือ electric distributor จุดนี้วราชัย อธิบายว่าในอดีตการบำรุงรักษาขององค์กรมักจะเป็นแบบไร้ข้อมูล คือการใช้งานไปเรื่อยๆ เมื่อเสียหายจึงค่อยเปลี่ยนซ่อม กระบวนการนี้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการตรวจตามตารางเวลา โดยไม่ต้องคำนึงว่าอุปกรณ์เริ่มเสียหายหรือไม่ เพราะเป็นการตรวจสอบทั้งหมดตามระยะเวลาที่กำหนด แต่แนวโน้มในขณะนี้เริ่มเปลี่ยนไปเป็นการตรวจสอบตามความจำเป็นโดยจะอิงจากข้อมูลเซ็นเซอร์ IoT ทำให้ข้อมูลมีส่วนเข้ามาปรับปรุงการซ่อมบำรุงให้ดีขึ้น

“ปลายทางคือทำให้เราคาดการณ์อนาคตได้ว่ามีสัญญาณผิดปกติใดในระบบ ทำให้เจอปัญหาได้ก่อนและแก้ปัญหาได้ทันที ไม่ให้เกิดปัญหาหยุดชะงักที่ทุกองค์กรความพยายามหลีกเลี่ยง”

ด้วยดิจิทัลเซอร์วิส ชไนเดอร์ อิเล็คทริค สามารถเปลี่ยนจากเดิมที่ต้องให้บริการตรวจสอบลูกค้าตามสัญญา มาทำให้การตรวจปัญหาดีขึ้นโดยที่องค์กรไม่ต้องปิดระบบทั้งหมดทำให้ลดต้นทุน ไม่ต้องตรวจสิ่งที่ยังไม่จำเป็น

***ปีนี้ขยายคน รับตลาดโตเท่าตัว

วราชัย ย้ำว่า การลิงก์ข้อมูลในทุกอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของชไนเดอร์ อิเล็คทริคนั้นไม่ใช่คำพูดเกินจริง แต่อาจมีข้อจำกัดว่าอุปกรณ์สามารถส่งข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด โดยยังต้องมีการออกแบบร่วมกับองค์กร และการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ยี่ห้ออื่นในภาพรวมการจัดการระบบไฟฟ้าด้วย AI นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากที่เดินหน้าลงทุนพัฒนาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ชไนเดอร์ อิเล็คทริคตั้งเป้าว่าจะเพิ่มฐานองค์กรที่ใช้งานจาก 50 ไซต์งานให้มากขึ้นอีก 1 เท่าตัวภายในปี 2566

“เป้าหมายนี้ยังจำกัดอยู่เฉพาะในตลาดไทย เนื่องจากตลาดลาวและพม่ายังมีระดับการรับรู้ต่ำ และยังไม่ค่อยมีการลงทุน เราวางแผนจะเพิ่มบุคลากรในประเทศไทยอีกเท่าตัวเพื่อรองรับลูกค้าที่มาเซ็นสัญญาใช้บริการ รวมถึงการขยายตลาดในอนาคต”

การจัดการระบบไฟฟ้าด้วย AI นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ และปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากที่เดินหน้าลงทุนพัฒนาต่อเนื่อง
วราชัย ย้ำว่า ความใหม่ของการทำตลาดดิจิทัลเซอร์วิสในปีนี้ คือการเน้นประโยชน์เรื่องความยั่งยืนและการเห็นสถานะของทุกอุปกรณ์ในไซต์งาน เบื้องต้นยอมรับว่าการแข่งขันในตลาดนี้ถือว่าสูงมากในช่วง 4 ปีที่บริษัทประเดิมให้บริการเป็นเจ้าแรกในตลาด จนขณะนี้มีการเริ่มต้นดำเนินการในหลายเจ้าแล้ว

“4 ปีที่แล้วดิจิทัลเซอร์วิสถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ลูกค้ายังไม่เชื่อมั่น เหมือนแอปพลิเคชันธนาคารที่ประชาชนยังไม่กล้าลง แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ความเชื่อมั่นสูงขึ้น พบว่าลูกค้ามีความสนใจเปลี่ยนไป ดิจิทัลเซอร์วิสของชไนเดอร์ อิเล็คทริค จึงเติบโตเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

ความผันผวนของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง วราชัย มองว่าโควิด-19 ช่วยเร่งให้ตลาดเกิดการเติบโตที่รวดเร็ว และองค์กรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ช่วยลดต้นทุนได้ สำหรับช่วงปีนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทยมีนโยบายทำโครงการนำเสนอกับลูกค้ารายใหญ่ เพื่อให้เข้าใจและเห็นประโยชน์มากขึ้น โดยโฟกัสของบริษัทไม่ใช่กลุ่มโรงไฟฟ้ารายใหญ่ เนื่องจากองค์กรกลุ่มนี้มีบุคลากรพร้อมอยู่แล้ว จึงไม่มีความสนใจในดิจิทัลเซอร์วิส บริษัทจึงวางแผนโฟกัสไปที่กลุ่มซึ่งขาดแคลนบุคลากร เช่น ภาคการผลิตอย่างธุรกิจอาหาร ธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ และโรงพยาบาล ซึ่งแม้จะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากเป็นพิเศษ แต่ไฟฟ้ามีส่วนสำคัญต่อธุรกิจและอาจจะสูญเสียมหาศาลหากไฟดับ

“เหตุที่ลูกค้าในบริการดิจิทัลเซอร์วิสยังใช้เวลาตัดสินใจ เนื่องจากบางองค์กรเชื่อมแล้วแต่ยังไม่เจอความผิดปกติใน 1 ปี ทำให้เกิดความลังเล เราจึงพยายามพัฒนาระบบรายงานเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นประโยชน์มากขึ้น”

วราชัยให้รายละเอียดว่าการลงทุนใช้งานดิจิทัลเซอร์วิสในระบบไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามการวางแผน รวมถึงขนาดไซต์งาน ซึ่งบริษัทจะแนะนำให้ลงทุนตามจำนวนอุปกรณ์ การลงทุนจะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์เดิม โดยที่มูลค่าการลดต้นทุนจะยังไม่สามารถคำนวณได้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนจากการลดดาวน์ไทม์ เป็นการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้น จุดนี้บริษัทยอมรับว่าองค์กรที่มอง ROI หรือการคืนทุนอย่างเดียวจะตัดสินใจลำบาก แต่หากเป็นองค์กรที่มองมูลค่าต้นทุนการเป็นเจ้าของโดยรวมจะสามารถตัดสินใจได้ง่ายกว่า

“ในปี 2021 ที่ผ่านมาดิจิทัลเซอร์วิสของเราช่วยให้องค์กรราว 5 ถึง 10 รายพบเจอปัญหาล่วงหน้า มีทั้งที่เป็นปัญหาในอุปกรณ์ของชไนเดอร์เองและอุปกรณ์ของบริษัทอื่นมักเป็นการพบเจอปัญหาที่องค์กรพบมาตลอดหลายปี แม้ส่วนหนึ่งระบบนี้จะทำให้ชไนเดอร์ขายสินค้าได้มากขึ้น แต่บริษัทไม่ต้องการให้เกิดและดีใจที่ลูกค้าได้ค้นเจอต้นตอของปัญหา”

ซึ่งทำให้องค์กรได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้อย่างยั่งยืนจริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น