เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวกลับมามีทิศทางที่สดใสมากขึ้นในปี 2566 ทำให้ถึงเวลาแล้วที่กลุ่ม SKY จะกลับมาสร้างรายได้ หลังจากใช้ระยะเวลากว่า 2 ปี ในการเข้าไปลงทุน และพัฒนาระบบเทคโนโลยีเกี่ยวกับธุรกิจการบิน และซิเคียวริตีอย่างต่อเนื่อง
นับจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นของ SKY นับว่ามีอัตราการเติบโตเท่าตัวจากราคาเฉลี่ยที่ราว 9-10 บาท จนปัจจุบันพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 18-20 บาท จากสัญญาณฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะส่งผลให้ SKY สามารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตลาดในประเทศไทยเท่านั้นที่กลุ่ม SKY มองไว้ เพราะด้วยประชากรกว่า 70 ล้านคนในประเทศไทย ถือว่าเป็นตลาดที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่ SKY ลงทุน และโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบินระดับโลก ซึ่งจะช่วยเสริมให้ SKY สามารถขยายตลาดไปยังภูมิภาคเอเชียได้ต่อไปในอนาคต
***ประเทศไทยเล็กไปแล้วสำหรับ SKY
สิทธิเดช มัยลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY กล่าวถึงธุรกิจของกลุ่ม SKY ในปีนี้ว่ามีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
“ปีนี้ SKY ICT กลับมาโฟกัสที่อุตสาหกรรมการบินด้วยเทคโนโลยี Aviation ที่ครอบคลุมทั้งระบบบริหารจัดการภายในสนามบิน และการให้บริการในสนามบินต่างๆ รับกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศของไทย”
สิทธิเดช ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันสนามบินในหลายๆ ประเทศที่มีขนาดรองรับผู้โดยสารระดับ 100 ล้านคนต่อปี มีเทคโนโลยีน่าสนใจที่ SKY ICT สามารถนำมาพัฒนาให้ใช้งานกับสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประเทศไทยคือการผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสนามบินแห่งชาติของไทยที่เคยติดอันดับให้กลับมาเป็นท็อป 10 ให้ได้
“การจะทำให้สนามบินกลับมาติดอันดับได้นั้นมีตัวชี้วัด (KPI) ที่รองรับอยู่ทั้งเรื่องของการให้บริการ เรื่องเทคโนโลยี และเรื่องความปลอดภัย ตามลำดับในการจัดลำดับของสนามบินทั่วโลก”
สิ่งที่ SKY ICT เข้าไปช่วยได้คือเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งมีอีกหลายส่วนที่สามารถนำมาเสนอให้ AOT ได้ใช้งาน เพิ่มเติมจากระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่องหรือระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง (CUPPS : Common Use Passenger Processing System) ระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS : Advance Passenger Processing System) รวมถึงทีมที่คอยให้บริการในสนามบินอีกไม่ต่ำกว่า 200 คน รวมทั้งการให้บริการไวไฟ ระบบรักษาความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด จนถึงการนำ AI เข้ามาใช้ในสนามบิน รวมถึงทีมงานที่คอยดูแลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน SAWASDEE by AOT เจ้าหน้าที่ดูแลรถเข็นกระเป๋าผู้โดยสาร
เมื่อเข้าไปในสนามบินจะเห็นทีมงานของ SKY ICT คอยดูแลในส่วนต่างๆ ของสนามบิน ทำให้ในปีนี้ SKY ICT จะสามารถเติบโตได้ด้วยการนำเทคโนโลยีการบินที่ดีที่สุดในโลกนำมาเสนอให้ AOT ได้นำไปใช้งาน อย่างระบบบริหารจัดการสนามบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“ในสนามบินจะมีซิสเต็มที่ทำงานแยกกันมากกว่า 40 ระบบ เพื่อบริหารจัดการภายในสนามบิน ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในส่วนนี้จะทำให้การบริหารจัดการบุคคลที่เข้ามาทำงานในสนามบินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมข้อมูลของแต่ละระบบนำมาแสดงผลให้ชัดเจนขึ้น จนถึงการเขียนอัลกอรึธึมขึ้นมาช่วยตรวจวิเคราะห์บิ๊กดาต้าที่เกิดขึ้นในสนามบิน”
โดยภาพรวมแล้วการเติบโตของ SKY ICT จะมาจากโครงการที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ร่วมกับบริษัทลูกราว 22,800 ล้านบาท ในช่วง 8 ปีข้างหน้า โดยภายในปี 2566 นี้ จะทยอยรับรู้รายได้ไม่ต่ำกว่า 2,200 ล้านบาท รวมกับบริษัทลูกอย่าง Pro Inside (บริษัท โปร อินไซด์ จำกัด) ที่จะเข้าประมูลโครงการภาครัฐในปีนี้กว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ทำให้ในปีนี้ SKY ICT จะสามารถเติบโตจากจำนวนผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยจากบริการ CUPPS และ APPS ส่วน Pro Inside จะมีโครงการภาครัฐที่ดำเนินการต่อเนื่อง เสริมด้วย GFIN (จีฟินน์) ที่จะหันไปโฟกัสทางด้านซิเคียวริตีโดยเฉพาะซึ่งมีบิสิเนสโมเดลที่แตกต่างกันไป
เบื้องต้น จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่คาดการณ์ว่าในปีนี้มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 30 ล้านคน โดยเฉพาะหลังจากที่จีนเปิดประเทศให้ประชาชนสามารถเดินทางออกท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าภายในปี 2567 สถานการณ์ท่องเที่ยวจะกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน
“ในตอนนี้ SKY ICT จะทำธุรกิจในแง่ของการจ้างเหมาให้บริการจากสัมปทานของภาครัฐในระยะยาว ขณะที่ Pro Inside จะเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้แก่บริษัทจากการเข้าประมูลโครงการภาครัฐระดับร้อยล้าน และหลักพันล้านบาท ที่จะสร้างรายได้จากการส่งมอบงวดงาน ขณะที่ GFIN จะเป็นโครงการที่ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ภาคเอกชนนำไปใช้ในกลุ่มของสมาร์ทซิเคียวริตี และระบบริหารจัดการการเข้าใช้พื้นที่”
หลังจากนี้ GFIN จะเน้นการสร้างรายได้แบบ SaaS (Security as a Service) ในการเข้าไปให้บริการระบบรักษาความปลอดภัยทั้งการจัดสรรคน และเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด ระบบ AI ตรวจจับความเคลื่อนไหว การเชื่อมต่อข้อมูลไปศูนย์ควบคุมสั่งการ ไปจนถึงการให้บริการ VMS (Visitor Management Systems) ในกลุ่มอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยต่างๆ
ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด SKY ICT และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีฟินน์ (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ในปีที่ผ่านมา SKY ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มซิเคียวริตีอย่าง ‘ทศกัณฐ์’ (TOSSAKAN) และระบบ VMS ในชื่อ VIMARNN ขึ้นมา และเริ่มนำไปให้บริการแก่ภาคเอกชนแล้ว
“ภายในกลางปีนี้ทาง GFIN จะมีการรีแบรนด์ใหม่ เพื่อให้ภาพของธุรกิจมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะตั้งแต่ทาง SKY เข้าไปถือหุ้น ก่อนเพิ่มทุนในการซื้อกิจการ GFIN ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่ม SKY ได้กลายเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีซิเคียวริตีที่สำคัญในการให้บริการ และมีโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจในอนาคต”
จุดแข็งของ GFIN ในตอนนี้คือการมีแพลตฟอร์มความปลอดภัยที่ครอบคลุมด้วยการนำความสามารถของกล้องวงจรปิดมาทำงานร่วมกับ AI และ Cloud ทำให้สามารถตรวจจับภาพการเคลื่อนไหว ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลชีวมิติ (Biometric) อย่างใบหน้า ทำให้สามารถใช้จดจำ และเปรียบเทียบใบหน้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถนำไปใช้กับการอ่านข้อมูลป้ายทะเบียนรถยนต์ เพื่อให้บริการที่จอดรถอัตโนมัติ ซึ่งเริ่มมีภาคเอกชนที่สนใจนำไปติดตั้งใช้งานแล้ว
สิทธิเดช กล่าวต่อว่า เมื่อทั้ง 3 บริษัทภายใต้กลุ่ม SKY มีบิสิเนสโมเดลที่แตกต่างกัน จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ และยังมีบริษัทลูกอย่างแอสโตร โซลูชั่นส์ ที่ดูแลทางด้านการตลาดของแอปพลิเคชัน SAWASDEEbyAOT ที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้แก่ SKY ในอนาคตเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้งานมากขึ้น
***เตรียมยกเครื่อง SAWASDEEbyAOT
ขยล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงการทำตลาดแอปพลิเคชัน SAWASDEEbyAOT หลังจากที่เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศใช้งานในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และมีผู้เข้ามาใช้งานแล้วราว 5 หมื่นราย จากเป้าหมายที่วางไว้หลักแสนราย ทำให้ในปีนี้ SKY จะมีการปรับเป้าหมายจำนวนผู้ใช้ในปีนี้ไว้ที่ราว 1.5 ล้านราย ซึ่งในความเป็นจริงมีโอกาสที่จะเพิ่มมากกว่านั้นถ้าทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้ามาทำงานร่วมกันในการโปรโมตกับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น
“ตอนนี้การโปรโมตแอปส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ แต่จริงๆ แล้วควรประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโหลดตั้งแต่ก่อนเดินทางมาประเทศไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ในสนามบินได้สะดวกขึ้น และต่อยอดไปถึงการพัฒนาบริการนอกสนามบินที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว”
ตอนนี้ใน SAWASDEEbyAOT มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจหลากหลายมาก ทั้งการติดต่อคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสื่อสารได้ถึง 8 ภาษา เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในอนาคตถ้าสามารถร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จะสามารถใช้แอปเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ จากการใช้ตำแหน่งที่อยู่ของสมาร์ทโฟนมาช่วย
ขณะที่ปัจจุบันความนิยมในการใช้งานแอปพลิเคชันจะอยู่ที่การเข้าไปดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ของจุดให้บริการต่างๆ ในสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นจุดเช็กอิน จุดตรวจค้นที่สามารถแจ้งระยะเวลาในการใช้บริการได้ รวมถึงเพิ่งเปิดให้บริการพรีเมียมเซอร์วิสอย่างรถบักกี้รับส่งภายในสนามบิน และผู้ช่วยส่วนตัวในการอำนวยความสะดวกอย่างการรับกระเป๋าต่างๆ
บริการเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งใน 64 ฟีเจอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และยังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงาน และภาคเอกชนต่างๆ อย่างบริการ SAWASDEE Pay ที่เป็นระบบชำระเงิน ที่กำลังอยู่ในช่วงหาผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์เข้ามาเชื่อมกับระบบให้สามารถใช้ชำระเงินกับร้านค้า ร้านอาหารที่อยู่ภายนอกสนามบินได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามารถนำเสนอข้อมูลการท่องเที่ยวอีกมากมายภายในแอป
“จากการสอบถามความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือข้อมูลเทศกาลงานท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงที่เขาเดินทางเข้ามา เพื่อที่จะสามารถวางแผนในการท่องเที่ยวได้ รวมถึงการแนะนำทั้งสถานที่ ร้านอาหารยอดนิยมต่างๆ ซึ่งถ้าภายในแอปสามารถทำให้รองรับการจองต่างๆ ก็ทำให้มีโอกาสเพิ่มยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการได้”
พร้อมกันนี้ เพื่อให้การใช้งานแอปพลิเคชัน SAWASDEEbyAOT ง่ายขึ้น ทาง SKY เตรียมที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีบุคลากรเชี่ยวชาญในแง่ของการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX/UI) เข้ามาร่วมพัฒนาให้ดีขึ้นในช่วงกลางปีนี้