xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” ประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ย้ำหลักปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวทุกประเทศเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองนายกฯ “อนุทิน” ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ย้ำ หลักปฏิบัติต่อนักท่องเที่ยวทุกประเทศเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 พร้อมปรับมาตรการหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

วันนี้ (5 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้เป็นประธานในการประชุมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและ พร้อมผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรับผู้เดินทางจากต่างประเทศสำหรับปี 2566 รวมถึงการเตรียมความพร้อมกรณีที่ประเทศจีนทยอยเปิดประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าทางการได้มีมาตรการรองรับที่รอบด้าน เพื่อจะให้ภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดดในระยะต่อไปสามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้

ทั้งนี้ ในภาพรวมการหารือมีความมั่นใจประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน เนื่องจากการได้เตรียมการมาระยะหนึ่งและมีมาตรการที่ครอบคุม ทั้งการคัดกรอง ป้องกัน และดูแลรักษานักท่องเที่ยว และในครั้งนี้ก็มีการเสนอมาตรการเสริมจากหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรค ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข จะนำแต่ละข้อเสนอไปกำหนดเป็นรายละเอียดต่อไป และยืนยันในหลักดำเนินการที่จะไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้การยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทุกประเทศ และเป็นการระบาดในมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่ควรให้โควิด-19 มาเป็นประเด็นการกีดกันประเทศใดประเทศหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้พิจารณาเป็นข้อมูลที่ทุกหน่วยงานมีอยู่ในปัจจุบัน หากในระยะต่อไปเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของโรค กระทรวงสาธารณสุขในฐานผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ก็พร้อมจะปรับมาตรการให้เหมาะสมต่อไป และเนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ดังนั้นภายใต้กฎหมายที่มีอยู่จะต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่น

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนหลักการและการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมโควิด19 ของประเทศไทยเพื่อรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ ปี 2566 ในภาพรวมตามที่คณะกรรมการด้านวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ให้แนวทาง โดยจะไม่ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขสำหรับโควิด-19 เพื่อกีดกันผู้เดินทางจากประเทศใด โดยไทยมีมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ตามหลักวิชาการซึ่งเป็น World standard protocol โดยประเทศไทยจะต้อนรับและดูแลผู้มาเยือนจากทุกประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และขณะนี้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีความพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ มีการเตรียมความพร้อมหากพบการระบาดรุนแรงขึ้น แต่จะมีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังโรคจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ การดูแลจัดการน้ำเสียจากเครื่องบิน รวมทั้งติตามประเมินผลสถานการณ์ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2566 เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมดตามสถานการณ์ต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขนั้น กรณีก่อนเข้าประเทศไทย จะต้องมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม และหากมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจแนะนำให้เลื่อนการเดินทางและรักษาให้หายก่อนเดินทางเข้าไทย แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพเดินทางที่ครบคลุมการรักษาโควิด-19 ก่อนเข้าไทย เพื่อลดภาระการใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงพำนักในประเทศไทย

ส่วนระหว่างพำนักในประเทศไทย จะมีการแนะนำให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศป้องกันตนเองเช่นสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในสถานที่สาธารณะ รถโดยสารขนส่งสาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ เน้นการตรวจคัดกรองด้วย ATK เมื่อมีอาการ ส่วนกรณีผู้เดินทางที่จะออกจากไทยไปยังประเทศที่มีนโยบายคัดกรองก่อนเข้าไทย จะมีการแนะนำให้ผู้เดินทางพักในโรงแรม SHA Plus ซึ่งจะมีบริการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์โรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กรณีพบการระบาดในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ มีการเพิ่มกลไกกการายงานสถานการณ์ผ่านเว็บไซต์ การควบคุมโรค ที่เน้นแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวและตรวคัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยทางเดินหายใจที่สนามบิน โดยมีการรายงานทุกสัปดาห์ มีการกำหนดเกณฑ์สำหรับการปรับมาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้ออัตราสูงขึ้น หรือมีการกลายพันธุ์ และมีการเฝ้าระวัง ตรวจสายพันธ์เชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเครื่องบิน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกประเทศที่มีการติดเชื้อ โดยสามารถติดต่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้ความช่วยเหลือในการประสานงานเข้ารับการรักษา อาทิ ตำรวจท่องเที่ยว โทร. 1155 , ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) โทร. 02 134 4077 สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด (สทกจ.) ทุกจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทร. 1672

ทางด้านกระทรวงคมนาคมได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในทุกท่าอากาศยาน ซึ่งขณะนี้สามารถรองรับผู้เดินทางจากต่างประเทศได้เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาประมาณร้อยละ 50-60 ของปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนปัญหาความแออัดที่พบขณะนี้เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเพิ่มผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เดินทาง โดยขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งรัดเพิ่มศักยภาพในการให้บริการให้กลับสู่ภาวะปกติ ควบคู่กับการบริหารจัดการในช่วงเวลาเร่งด่วน และมีการเตรียมแผนระยะสั้น กลาง ยาว สำหรับการให้บริการทั้งการเดินทางผ่านอากาศยาน การให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ณ ท่าอากาศยาน ระบบขนส่งสาธารณะในเมือง และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วม 3 กระทรวง สาธารณสุข คมนาคม การท่องเที่ยวและกีฬา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงประเด็นการซื้อประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยที่ประชุมได้มีการกำหนดหลักการว่าจะไม่มีการกำหนดมาตรการแบบเลือกปฏิบัติกับประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่จะกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรการของประเทศนั้นๆ เช่นหากประเทศใดมีการกำหนดว่าให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องตรวจ RT-PCR ก่อนกลับประไทย ไทยก็อาจต้องมีการกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศนั้นต้องซื้อประกันสุขภาพ เป็นต้น รวมถึงกรณีการให้วัคซีนแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่ว่าจะสัญชาติใดหากต้องการจะรับวัคซีนในไทย ก็จะมีการให้บริการเพื่อเน้นให้เห็นถึงการเป็นเมดดิคอลฮับของไทย แต่จะไม่ให้บริการฟรี ซึ่งทั้งส่วนของรายละเอียดประกันสุขภาพและการให้วัคซีนนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดข้อกำหนดและประกาศให้ทราบต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น