ปลัด สธ.ยันไทยไม่ประมาท ออกมาตรการรองรับ "นักท่องเที่ยว" ยึดหลักการแพทย์และสาธารณสุข ใช้มาตรฐานเดียวกันทุกประเทศ แจงเหตุผลซื้อประกันครอบคลุม "โควิด" เฉพาะประเทศที่กำหนดให้ตรวจ RT-PCR ก่อนเข้า ชี้คนละส่วนกับค่าเหยียบแผ่นดิน ย้ำมีความเหมาะสมตามสถานการณ์
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม 3 กระทรวง ได้แก่ สธ. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ถึงการเตรียมพร้อมรับผู้เดินทางเข้าประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า นโยบายต่างๆ ที่ออก ไม่ได้เจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยยึดตามหลักวิชาการ กฎหมายของประเทศ และกฎอนามัยระหว่างประเทศสอดคล้องกันในทุกมิติ โดยมีคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้คำปรึกษา ซึ่งการประชุมวันนี้ ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการฯ ก็เข้าร่วมด้วย
"ยืนยันว่ามาตรการที่ออก คำนึงถึงหลักการแพทย์และสาธารณสุข ยึดตามข้อมูลที่มีอยู่จริง ปฏิบัติจริง เข้าใจว่าที่เป็นประเด็นปัญหา คือ โซเชียลมีเดียมีการออกความเห็น โดยยึดข้อมูลจากต่างประเทศ ยึดข้อมูลจากโซเชียล ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง และใช้ความคิดความรู้สึกส่วนตัวไปพิจารณาเลยเกิดข้อกังวลให้กับประชาชน" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในแนวทาง คือ 1.การยึดถือปฏิบัติมาตรการอะไรจะยึดหลักมาตรฐานของประเทศไทย คือ ยึดความปลอดภัยทั้งคนเดินทางเข้ามาและคนไทยเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรค จะเห็นว่าเป็นโอมิครอนไม่กลายพันธุ์มาปีหนึ่งแล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยๆ จำนวนมากก็ให้นักวิทยาศาสตร์ดู แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นสายพันธุ์ย่อยที่จะรุนแรงขึ้น ดื้อยาหรือวัคซีน 2.ภูมิคุ้มกันของคนไทยและคนทั่วโลกค่อนข้างสูงไม่ว่าจากการติดเชื้อหรือฉีดวัคซีน 3.ระบบการจัดการของ สธ. มีทั้งการเฝ้าระวัง ดูแลรักษา เวชภัณฑ์ ยามีพร้อม เตียงมีเพียงพอ เรื่องนี้จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
4.การประเมินมาตรฐานของประเทศไทย ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีการฉีดวัคซีนโควิด เป็นมาตรฐานที่ดำเนินการตรงกับองค์การอนามัยโลก แต่หากประเทศใดมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มีข้อกำหนดว่าก่อนเข้าประเทศต้องตรวจ RT-PCR ซึ่งหากผลบวกก็กลับประเทศไม่ได้ ก็จะต้องค้างในประเทศไทยเพื่อรักษา เราจึงขอให้ผู้ที่มาจากประเทศที่มีข้อกำหนดเช่นนี้ มีการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาโควิด 19 ด้วยเพื่อไม่เป็นภาระของ สธ.กรณีเรียกเก็บเงินไม่ได้ โดยขั้นต่ำของประกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปหารือในรายละเอียด ให้มั่นใจว่าไม่เป็นภาระกับคนไทยและประเทศไทย ส่วนเรื่องค่าเหยียบแผ่นดินเป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียด ซึ่งได้มอบกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไปพิจารณา
"เราเคยมีปัญหาว่านักท่องเที่ยวกลับประเทศไม่ได้ ก็รักษาเมืองไทย ถ้ามีจำนวนเยอะประเทศไทยก็คงรับภาระตรงนี้ไม่ไหว ก็ตรงไปตรงมา ประเทศไหนไม่ประกาศก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้าประเทศไหนประกาศก็ต้องมีมาตรการเสริมขึ้นไป เรียกว่ามาตรการพ่วง ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือจีน หากมีการประกาศว่าเข้าบ้านเขาต้องตรวจ RT-PCR ก็จะให้มีการทำประกันสุขภาพพ่วงเข้าไป ย้ำว่าไม่เกี่ยวกับค่าเหยียบแผ่นดินที่เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ" นพ.โอภาสกล่าว
ถามว่าคนยังกังวลเรื่องการระบาดจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา นพ.โอภาสกล่าวว่า อาจารย์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้คำยืนยันตรงกันว่า ดูสถานการณ์แล้วไม่ได้น่าเป็นห่วงอะไร บางประเทศตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ไม่ต่างจากที่เรากังวลมากนัก บางประเทศติดเชื้อกันวันละ 2 แสนคน ก็ยังไปท่องเที่ยวโดยที่ไม่ได้มีความกังวลหรือมีความกลัวกัน ส่วนในประเทศไทยสายพันธุ์โอมิครอนก็ไม่ได้กลายพันธุ์มากมาย สายพันธุ์ย่อย BA ต่างๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก และภูมิคุ้มกันคนไทยก็ค่อนข้างเยอะมากแล้ว ฉีดวัคซีนกันเยอะ จึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล
"เข้าใจว่ากังวลเรา ซึ่งก็มีมาตั้งแต่ ต.ค. 2565 ที่ประกาศจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง คนก็กลัวกันเยอะว่าจะเกิดปัญหา สธ.ก็ยืนยันในข้อมูลหลักวิชาการ ซึ่งพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วก็ไม่ได้มีสถานการณ์ที่รุนแรง สถานการณ์เป็นไปตามที่ สธ.และผู้เชี่ยวชาญคาดไว้ ขอว่าไม่ต้องกังวลมากนัก ในโซเชียลมีทั้งข่าวจริงข่าวไม่จริง ส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เป็นความเห็น ไม่ได้ยึดตามข้อมูลที่ สธ.มีอยู่จริง" นพ.โอภาสกล่าว
ถามว่าคนไทยที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วก็ไม่ต้องเป็นกังวลมาก นพ.โอภาสกล่าวว่า ไม่ได้แปลว่าจะไปลั้นลาได้ตลอด การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นหลักประกันว่า หากติดเชื้อหรือเจ็บป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงเกิดขึ้นแต่ที่ใดมีความเสี่ยงก็ให้ระมัดระวังตัว ใส่หน้ากากอนามัยในจุดเสี่ยงต่างๆ ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไม่ให้การติดเชื้อเกิดขึ้น
ถามถึงการตรวจระบบน้ำเสียในเครื่องบิน นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้ ซึ่งการตรวจ RT-PCR มีความไวมาก แค่มีตัวโมเลกุลของเชื้อไม่เท่าไร มี DNA เศษซากเชื้อก็ยังสามารถตรวจได้เป็นอีกวิธีหนึ่งในการดูว่า มีเศษชิ้นส่วนของเชื้อปนเปื้อนมาในชุมชนหรือเครื่องบิน ก็สามารถเอามาใช้เป็นตัวบอกได้ว่า คนที่มากับเครื่องหรือบนเครื่องมีตัวเชื้อปนเปื้อน แต่จะเป็นเชื้อที่มีชีวิตหรือเป็นซากเชื้อก็บอกไม่ได้ จึงมีประโยชน์อยู่ส่วนหนึ่ง แต่ก็จะแปลผลได้เท่านี้ ส่วนตัวมองว่าเชื้อกระจายทั่วโลกแล้ว การตรวจจะบอกอะไรได้ไม่เยอะ เหมือนไปตรวจที่ รพ.ก็ต้องเจอเชื้อ เพราะคนติดเชื้อไป รพ. แต่ไปเมื่อไรไม่ทราบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเฝ้าระวัง คือ กรมควบคุมโรคมีการตรวจอยู่ ไม่ได้ตรวจเฉพาะเครื่องบินลำใดลำหนึ่ง แต่มีการสุ่มตรวจตามมาตรการ
เมื่อถามว่าคนกังวลที่ไม่ได้ตรวจเชื้อนักท่องเที่ยว นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้เชื้อมีทั่วโลก พิสูจน์ยากว่า ติดเชื้อก่อนมาหรือติดเชื้อเมื่อมาเมืองไทย เราจึงใช้มาตรการเหมือนกันทั่วโลก สายพันธุ์ BA.5 ที่เจอในจีนนั้น ไทยก็เจอมาหมดแล้ว คนไทยจำนวนไม่น้อยก็มีภูมิต้านทานต่อ BA.5 จึงต้องมองภาพรวมของทั่วโลกด้วย ตอนนี้โควิดเข้าปีที่ 4 แล้วจะกลับไปคิดแบบเดิมเหมือนช่วงแรกไม่ได้ สายพันธุ์ก็อ่อนลงไปเยอะ คนมีภูมิต้านทานเยอะ จึงอย่าคิดแบบเดิม ต้องดูตามข้อมูลหลักฐานที่มี อย่าคิดโดยใช้ความรู้สึกเมื่อ 3 ปีที่แล้วเรามีความรู้มากพอ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็เห็นตรงกันว่า ไม่น่ากังวล สายพันธุ์คนไทยก็มีภูมิต้านทานเยอะ คนทั่วโลกฉีดวัคซีนในระดับ 80 กว่า% คงจะไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเยอะ
"เข้าใจที่คนส่วนใหญ่กลัว แต่ สธ.ไม่ได้ประมาท มีการเตรียมพร้อมดูข้อมูลและวางมาตรการที่เหมาะสม สมเหตุสมผล เรื่องนี้เราคงมีมาตรการและติดตามประเมินผลที่ออกเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์อะไรผิดปกติเกิดขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว
ถามว่าจะมีมาตรการพิเศษสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า มาตรการที่เคยใช้ได้ดี เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ที่มีระบบ SHA+ ก็ให้เอามาทำให้เข้มข้นขึ้นเหมือนเดิม เช่น ฉีดวัคซีนพนักงาน การระบายอากาศ และมีมาตรการการเฝ้าระวัง กรมควบคุมโรคก็มีมาตรการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น ชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว บุคลากรทางสาธารณสุข ก็เป็นระบบเฝ้าระวังปกติที่มีอยู่แล้ว
ถามว่ามีการหารือถึงวัคซีนที่จะฉีดให้ชาวต่างชาติหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยมีวัคซีนเพียงพอ ไม่ว่านักท่องเที่ยวประเทศใดถ้ามีความประสงค์มาฉีดวัคซีนที่ประเทศไทย เรายึดถือนโยบาย medical Hub การฉีดวัคซีนเป็นบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบหนึ่ง เราก็จะฉีดให้โดยคิดค่าบริการ ไม่ได้ฉีดฟรี