เปิดวิสัยทัศน์ “เดวิด หลี่” ประธานกรรมการบริหารคนใหม่ของหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กางแผน 6 แกนงานสำคัญพร้อมต่อยอดคู่ขนานพาไทยขึ้นดิจิทัลฮับอาเซียน ปัดบอกแผนการลงทุนปี 66 ที่อาจต้องเปลี่ยนเพื่อรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ย้ำไทยเป็นตลาดสำคัญที่หัวเว่ยต้องการเติบโตไปพร้อมกัน มั่นใจความต้องการในตลาดไอซีทีไทยยังแรงดีสวนทางความต้องการอุปกรณ์ดีไวซ์ส่วนตัวที่อาจมีภาวะยอดขายหดตัว โดยเฉพาะความต้องการพลังงานสะอาด และคลาวด์ที่เชื่อว่าจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงทิศทางบริษัทในงานประกาศการแต่งตั้งซีอีโอใหม่ในรอบ 3 ปี ว่าปีนี้หัวเว่ยจะมุ่งขยายความครอบคลุมของโครงข่ายแบบไฟเบอร์ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย และทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อให้สามารถส่งมอบบริการ 5G ที่มีคุณภาพและมีราคาที่สามารถเข้าถึงได้
“5G เป็นเรื่องสำคัญ ไทยเป็นผู้นำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในระดับโลก ไม่ใช่แค่อาเซียน และมีโครงสร้างครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว ที่หัวเว่ยจะทำต่อยอดจากปี 2022 คือการขยายความร่วมมือกับองค์กรไทยเพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศทั้งด้านขนส่ง เฮลท์แคร์ และสมาร์ทซิตี” หลี่ระบุ "ไทยอยู่แถวหน้าอยู่แล้ว แต่ยังมีทางนำเทคโนโลยีอื่นมาปรับใช้ได้อีก ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ที่นำเทคโนโลยี AR, VR และความบันเทิงอื่นๆ รวมถึงการต่อยอดการเชื่อมต่อดิจิทัลให้เข้าถึงอุปกรณ์มากขึ้น หัวเว่ยจึงวางแผนเพิ่มคุณค่าการใช้งานในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล นี่คือวิสัยทัศน์ที่เรากำลังจะไป"
5G เป็นเพียง 1 ใน 6 แกนหลักที่ CEO คนใหม่วางแผนจะพาหัวเว่ยประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า โดย 6 แกนนี้ประกอบด้วย 1.การเสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีของประเทศ เพื่อให้ 5G ที่ครอบคลุมทุกจังหวัดในไทยอยู่แล้ว สามารถขยายไปสู่พื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น 2.ธุรกิจคลาวด์ โดยหัวเว่ยวางเป้าหมายให้บริการโซลูชันไอซีทีบนคลาวด์เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ดีขึ้น 3.การต่อยอดธุรกิจ Enterprise Business Group (EBG) ที่หัวเว่ยจะร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยแบบเชิงลึกในหลายกลุ่ม ทั้งหน่วยงานรัฐ โรงพยาบาล และการขนส่งต่อไป
4.ด้านความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของหลายหน่วยงานไทยที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หัวเว่ยจึงจะเดินหน้าพัฒนาโซลูชันพลังงานดิจิทัลอย่างเต็มที่ 5.ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ หัวเว่ยย้ำว่าจะยกระดับซิเคียวริตีที่มีความสำคัญมากกับธุรกิจไทย โดยวางเป้าหมายทำให้ไทยมีดัชนีความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับโลก (GCI) ที่น่าเชื่อถือติดอันดับต้นของโลก ทำให้มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในประเทศสูงขึ้น และ 6.การบ่มเพาะบุคลากรดิจิทัลไทย แผนที่วางไว้คือการฝึกอบรมนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีให้ได้ถึง 20,000 คน ภายในระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นแผนที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรในธุรกิจท้องถิ่นอย่างเต็มที่
ทั้ง 6 แกนนี้จะถูกให้ความสำคัญแบบคู่ขนานที่เท่าเทียม เนื่องจากหลี่มองว่าทั้ง 6 แกนมีความสำคัญต่อหัวเว่ยในมุมที่ต่างกัน และไม่สามารถเทียบเพื่อตัดสินว่าแกนใดสำคัญกว่า โดยหลี่ยกตัวอย่างธุรกิจคลาวด์ ที่ฟัวเว่ยลงทุนมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และมีการพัฒนาต่อเนื่องมานานเกิน 3 ปี ทำให้เชื่อว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการคลาวด์ที่สูงมากในไทย เช่นเดียวกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์และความยั่งยืน ที่มีแนวโน้มเป็นเมกะเทรนด์มาแรงในไทยช่วงหลายปีนับจากนี้ รวมถึงธุรกิจ EBG ที่หัวเว่ยยังต้องทำงานกับองค์กรต่อเนื่อง
สำหรับแผนการลงทุนของหัวเว่ย ที่อาจเปลี่ยนแปลงตาม การประกาศเข้าลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศไทยของกูเกิล คลาวด์ (Google Cloud) และอเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) มูลค่าเกิน 2 แสนล้านบาทในช่วง 15 ปีจากนี้ หลี่ปฏิเสธไม่เปิดเผยรายละเอียดการลงทุน แต่ระบุว่าไทยเป็นตลาดสำคัญ และที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนไปกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นแค่การลงทุนส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยยืนยันว่าการลงทุนในไทยจะเต็มที่แน่นอนเพราะไทยเป็น 1 ใน 2 สำนักงานหัวเว่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาทในไทยของหัวเว่ยนั้นทำในยุคที่ “อาเบล เติ้ง” นั่งเก้าอี้ซีอีโอหัวเว่ยประเทศไทยในช่วงปี 2562-2565 เป็นการลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูลคลาวด์ในไทย 3 แห่ง และการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์กว่า 300 ราย ส่งให้มีการนำโซลูชันหัวเว่ยเข้าประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 10 ประเภท เวลานั้น หลี่ยังนั่งเก้าอี้ CEO ให้หัวเว่ยอินเดีย โดยเดวิด หลี่ เข้าร่วมงานกับหัวเว่ย ตั้งแต่ปี 2545 ในตำแหน่งวิศวกรแผนกวิจัยและพัฒนา ประสบการณ์ 22 ปีในอุตสาหกรรมไอซีทีนั้นสั่งสมจากตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนใหญ่ โดย 8 ปีที่แล้ว เดวิดมีโอกาสได้มาทำงานที่หัวเว่ยประเทศไทยนาน 3 ปี ทำให้การรับตำแหน่งครั้งนี้เป็นการกลับมาบริหารงานที่ไทยอีกครั้ง
ในแถลงการณ์ หัวเว่ยยังคงย้ำว่าจะร่วมผลักดันประเทศไทยให้เป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน โดยจะมุ่งเน้นเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และยกระดับศักยภาพบุคลากรไอซีที เป็นการผลักดันพันธกิจ “เติบโตพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงมุ่งผลักดันไทยขึ้นสู่การขึ้นเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนเท่านั้น แต่หัวเว่ยยังตั้งเป้าผลักดันภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะของไทยด้วย
เดวิด หลี่ ทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจว่า ความต้องการในตลาดไอซีทีไทยยังไม่น่ากังวล เนื่องจากมีความแตกต่างจากตลาดอุปกรณ์ไอทีส่วนบุคคลอย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ โดยตลาดไอซีทีมีความต้องการที่ชัดเจน ดังนั้นแม้ตลาดสินค้าไอทีจะมีภาวะผันผวนจนทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดลดน้อยลง แต่ความต้องการพลังงานสะอาด หรือคลาวด์ขององค์กรนั้นยังคงเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้องค์กร ไม่ต้องติดขัดกับปัญหาขาดแคลนบุคลากรอีกต่อไป