ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ แนะนำประชาชนเมื่อวันอาทิตย์ (5 ก.พ.) อย่าใช้แอปพลิเคชันวิดีโอสั้น TikTok สื่อสังคมออนไลน์ของจีน สืบเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูล
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากปลายเดือนที่แล้ว จอห์น ฮอว์ลีย์ วุฒิสภาสหรัฐฯ จากรีพับลิกัน เปิดเผยว่า เขาจะนำเสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งจะแบนแอปพลิเคชันวิดีโอสั้น TikTok จากการใช้งานในสหรัฐฯ กล่าวหาเป็นภัยความมั่นคงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กๆ
อลิเซีย เคียร์นส์ รองหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสกายนิวส์ ว่า "มีเหตุผลหนึ่งว่าทำไมจะต้องมีแอปนี้ ข้อมูลของเรามีช่องโหว่ และจีนกำลังสร้างรัฐเผด็จการเทคโนโลยี ฉวยประโยชน์จากข้อมูลของเรา ดังนั้น เราจเป็นต้องจริงจังเกี่ยวกับการปกป้องตัวเราเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างมาก"
ในการกล่าวอ้างถึงความจำเป็นที่ต้องจริงจังในเรื่องนี้ เคียร์นส์ พูดพาดพิงเหตุการณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สหรัฐฯ ยิงร่วงบอลลูนจีนลูกหนึ่งนอกชายฝั่งแอตแลนติก ในขณะที่จีนปฏิเสธคำกล่าวหาของอเมริกาที่ระบุว่ามันถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์จารกรรม
เคียร์นส์ บอกว่าความกังวลใหญ่หลวงที่สุดคือ "การเจาะข้อมูล" ผ่านบริษัทจีน และแนวทางที่ปักกิ่งจะใช้ข้อมุูลเหล่านี้ข่มขู่ "บุคคลที่ต้องการลี้ภัยในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก"
เมื่อถูกถามว่าประชาชนควรลบ TikTok ออกจากโทรศัพท์มือถือของตนเองหรือไม่ เธอตอบว่า "ไม่มีข้อสงสัยเลย มันไม่คุ้มค่ากับการมีช่องโหว่บนโทรศัพท์มือถือของคุณ"
ทั้งนี้ เคียร์นส์ เป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ตัวยงความเคลื่อนไหวด้านข่าวกรองต่างๆ ของจีนมาช้านาน และซึ่งบทสรุปสุดท้ายก็คือ เธอกล่าวหาว่ามันเป็นการใช้เทคโนโลยีในทางที่มิชอบ
โฆษกของ TikTok ออกมาตอบโต้คำกล่าวหาของ เคียร์นส์ ในวันอาทิตย์ (5 ก.พ.) บอกว่า "มีคนเพลิดเพลินกับ TikTok หลายล้านคนทั่วสหราชอาณาจักร และเราต้องการเน้นย้ำให้ชัดเจนว่า พวกเขาสามารถไว้ใจเราในเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลของพวกเขา"
"เรากำลังดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเช่นเก็บข้อมูลผู้ใช้ในสหราชอาณาจักร ในศูนย์ปฏิบัติการศูนย์ข้อมูลของเราในไอร์แลนด์ เริ่มตั้งแต่ปีนี้ ลดจำนวนพนักงานที่เข้าถึงข้อมูลให้น้อยลงอีก และลดกระแสข้อมูลนอกยุโรปให้เหลือน้อยที่สุด"
ความสัมพันธ์ระหว่างลอนดอนและปักกิ่งตกอยู่ในความตึงเครียดมานานหลายปี ท่ามกลางประเด็นขัดแย้งต่างๆ ในนั้นรวมถังความเคลื่อนไหวของจีนในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในฮ่องกง อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และสหราชอาณาจักรไม่ยอมอนุมัติให้หัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน เข้าถึงโครงข่าย 5จี ของประเทศ สืบเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย
ระหว่างข้อพิพาททางการทูต มีผู้แทนทูตจีน 6 คน ออกจากสหราชอาณาจักรเดินทางกลับประเทศ ขณะที่ เคียร์นส์ ในเวลานั้นกล่าวหาพวกเขาหลบหนีออกจากสหราชณาจักรอย่างคนขี้ขลาดและทำให้ความผิดของพวกเขานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น
(ที่มา : เอเอฟพี/mgronline)