สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (2 ก.พ.) ว่าสภาคองเกรสจะไม่อนุมัติโครงการจำหน่ายฝูงบินขับไล่ F-16 ให้ตุรกี จนกว่ารัฐสภาอังการาจะยอมให้สัตยาบันรับรองฟินแลนด์และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
สวีเดนและฟินแลนด์ได้ยื่นคำร้องขอเข้านาโตเมื่อปีที่แล้ว และจำเป็นต้องได้รับไฟเขียวจากรัฐสมาชิกทั้ง 30 ประเทศ แต่มาถูกสกัดดาวรุ่งโดย “ตุรกี” ซึ่งเรียกร้องให้เฮลซิงกิ และสตอกโฮล์มใช้นโยบายแข็งกร้าวกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งทั้งตุรกีและสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้เป็นองค์กรก่อการร้าย รวมถึงขอให้ทั้ง 2 ชาติส่งตัวกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารโค่นประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เมื่อปี 2016 ด้วย
ทั้ง 3 ชาติจะบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่มาดริดเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว แต่ล่าสุดตุรกีได้ขอระงับการเจรจาเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อตอบโต้กรณีที่นักการเมืองเดนมาร์กขวาจัดคนหนึ่งนำ “พระคัมภีร์อัลกุรอาน” ของชาวมุสลิมมาเผาประท้วงที่กรุงสตอกโฮล์ม
กลุ่ม ส.ว.เดโมแครต และรีพับลิกัน 29 คนได้ยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ โดยระบุว่า สวีเดนและฟินแลนด์ “ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว” ที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตุรกีเรียกร้อง แม้อังการาจะยังขอให้สวีเดน “ทำมากกว่านี้” ก็ตาม
“หากตุรกีให้สัตยาบันรับรองการเข้าเป็นสมาชิกนาโต (ของทั้ง 2 ประเทศ) เมื่อใด สภาคองเกรสก็จะพิจารณาโครงการจำหน่ายฝูงบิน F-16 ให้ แต่หากพวกเขาไม่ทำเช่นนั้น การขายเครื่องบินรบก็จะยังคงเป็นคำถามอยู่” ส.ว.กลุ่มนี้ระบุ
นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ออกมากำหนดเงื่อนไขผูกโยงการจำหน่าย F-16 ให้ตุรกีกับประเด็นการเข้านาโตของฟินแลนด์และสวีเดน
ทางการตุรกีเคยออกมาแย้มว่าอาจจะยอมให้ “ไฟเขียว” กับฟินแลนด์ก่อน ทว่าประธานาธิบดีและรัฐมนตรีต่างประเทศของฟินแลนด์ออกมาปฏิเสธไอเดียนี้ และย้ำว่าทั้ง 2 ประเทศต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในด้านความมั่นคง
ในบรรดารัฐนาโตทั้ง 30 ประเทศ มีเพียงตุรกีและฮังการีเท่านั้นที่ยังไม่รับรองการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของฟินแลนด์และสวีเดน
รัฐบาลตุรกีได้ยื่นคำร้องต่อสหรัฐฯ เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2021 เพื่อขอสั่งซื้อฝูงบิน F-16 จากค่ายล็อกฮีดมาร์ติน จำนวน 40 ลำ รวมถึงอุปกรณ์เสริมอีกเกือบ 80 ชุดเพื่อเพิ่มความทันสมัยให้ฝูงเครื่องบินขับไล่ที่ตุรกีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน รวมเป็นมูลค่าราว 20,000 ล้านดอลลาร์
เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกี กล่าวระหว่างเยือนวอชิงตันเมื่อเดือน ม.ค. ว่า กิจการของนาโตไม่ควรถูกนำมาเป็นเงื่อนไขต่อรองการขายอาวุธ และเรียกร้องให้รัฐบาล ไบเดน เกลี้ยกล่อมสภาคองเกรสให้หยุดคัดค้านการขายเครื่องบินรบให้ตุรกี
แม้สภาคองเกรสจะมีอำนาจคัดค้านการส่งออกอาวุธให้ต่างชาติ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏว่าทั้ง 2 สภาสามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 2 ใน 3 เพื่อคว่ำคำสั่ง “วีโต” ของประธานาธิบดีได้
ที่มา : รอยเตอร์