xs
xsm
sm
md
lg

สรุปทิศทางธุรกิจในประเทศไทย "AWS" ปี 2566 ดันดิสทริบิวเตอร์โตกระฉูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, AWS ประจำประเทศไทย
อะเมซอนเว็บเซอร์วิส (AWS) มั่นใจธุรกิจคลาวด์ปี 2566 สดใสสวนทางเศรษฐกิจไทยส่อแววเหนื่อย วางหมากโฟกัส 3 ส่วนตอบเทรนด์ตลาดอนาคต แย้มทิศทางธุรกิจ AWS ในประเทศไทยจากนี้มุ่งกลุ่มลูกค้าในธุรกิจการเงิน ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิต ที่คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตสูงในด้านการใช้คลาวด์ ปูพรมเพิ่มจำนวน AWS Partner และทีมงานในประเทศไทยต่อเนื่อง

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย AWS กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกเห็นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเริ่มหันมาใช้ระบบคลาวด์และมุ่งสู่ digital transformation เพื่อความคล่องตัวทางธุรกิจที่มากขึ้นและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงยังคงเห็นการเร่งปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากของการนำระบบคลาวด์มาใช้ในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมหรือธุรกิจ องค์กรรูปแบบใดขนาดไหนก็ตาม

"จากข้อมูลของธนาคารโลก มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับการเติบโตที่ช้าลงในปี 2566 เนื่องจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก และตามรายงานของบริษัทวิจัย Gartner แม้จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ค่าใช้จ่ายในการใช้บริการคลาวด์สาธารณะของประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 31.8% ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 20.7% ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการคลาวด์สาธารณะโดยผู้ใช้ในประเทศไทยคาดว่าจะสูงถึง 54.4 ล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 41.3 ล้านบาทในปี 2565"

สำหรับปี 2566 AWS เชื่อว่าระบบคลาวด์จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นในการช่วยให้องค์กรในอาเซียนและประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ 

"เรามุ่งมั่นที่จะช่วยให้ลูกค้าของเราใช้ประโยชน์จาก AWS Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อสร้างนวัตกรรม ลดค่าใช้จ่าย และช่วยเปิดตลาดให้หลายๆ ธุรกิจของไทยไปสู่ตลาดระดับภูมิภาคและระดับโลก"

วัตสันเล่าถึงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ AWS จะเดินหน้าเต็มที่ในอนาคต โดยสะท้อนจากงาน AWS re:Invent 2022 ที่จัดขึ้นที่เมืองเมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 55,000 คน และผู้เข้าร่วมทางออนไลน์ถึง 300,000 คน 

งานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากคลาวด์ โดยภายในงาน "อดัม เซลิปสกี้" (Adam Selipsky) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ของ AWS ได้เน้นย้ำว่าข้อมูลเป็นรากฐานที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของทุกองค์กร ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณข้อมูลจะมีมากขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิทัล ทำให้การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการเติบโตของข้อมูลนั้น เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับทุกองค์กร 

ภายในงาน AWS re:Invent 2022 ได้มีการประกาศนวัตกรรมเทคโนโลยีที่บริษัทจะให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.นวัตกรรมด้านข้อมูล (Data and Analytics) ตัวอย่างเช่น Amazon Aurora: เป็นบริการที่เติบโตเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของ AWS และมีลูกค้า AWS หลายแสนรายที่ใช้ Amazon Aurora ที่เป็นการรวมประสิทธิภาพและความพร้อมใช้งานของฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับความเรียบง่าย และความคุ้มค่าของฐานข้อมูลโอเพ่นซอร์ส มีประสิทธิภาพมากกว่า MYSQL ถึง 5 เท่า และประสิทธิภาพมากกว่า PostgreSQL ถึง 3 เท่า โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งในสิบของฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์

ยังมี Redshift บริการที่ AWS มั่นใจว่าสามารถนำข้อมูลที่หลากหลายจากแอปพลิเคชันมาจัดเก็บในที่ต่างๆ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่เหมาะสมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลประเภทต่างๆ Redshift คือคลังข้อมูลขนาดเพตะไบต์ (petabyte) ที่มีการจัดการเต็มรูปแบบ ใช้โดยลูกค้า AWS หลายหมื่นรายเพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดเอกซะไบต์ (exabyte) มันให้ประสิทธิภาพด้านราคาที่ดีกว่าคลังข้อมูลคลาวด์อื่นๆ ถึง 5 เท่า

2.นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ AI/ML ตัวอย่างเช่น SageMaker เทคโนโลยี Machine Learning ช่วยให้สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และยังช่วยสร้างข้อมูลอัจฉริยะให้ระบบและแอปพลิเคชันต่างๆ AWS มีเทคโนโลยี ML และ AI ที่สมบูรณ์ที่สุด ปัจจุบัน ลูกค้าหลายหมื่นรายใช้ SageMaker เพื่อฝึกโมเดลที่มีพารามิเตอร์หลายพันล้านตัว เพื่อทำการคาดการณ์มากกว่าล้านล้านรายการทุกเดือน ซึ่ง AWS ได้ประกาศความสามารถของ Amazon SageMaker ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่อีก 8 รายการในงาน AWS re:Invent อีกด้วย

3.นวัตกรรมด้านความปลอดภัย หรือ Security ตัวอย่างเช่น Amazon GuardDuty บริการของ AWS ซึ่งได้รับการออกแบบให้มีความปลอดภัยสูงสุดตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ ธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ได้รับการตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

งานนี้ AWS ยังประกาศเปิดตัว Amazon Security Lake แบบ preview ซึ่งเป็นบริการที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ทีมรักษาความปลอดภัยสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยในระดับเพตะไบต์ได้อัตโนมัติ ลูกค้าสามารถสร้างที่เก็บข้อมูลความปลอดภัยได้โดยอัตโนมัติด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง ทำให้มองเห็นข้อมูลความปลอดภัยทั้งหมดและสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของเวิร์กโหลด แอปพลิเคชัน และข้อมูล AWS Security Lake จะรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยโดยอัตโนมัติจากโซลูชันของคู่ค้า เช่น Cisco, Crowdstrike และ Palo Alto Networks รวมถึงเครื่องมือรักษาความปลอดภัยมากกว่า 50 รายการที่รวมอยู่ใน security hub

***สดใส! ธุรกิจของ AWS ในประเทศไทยในปี 2566

สำหรับทิศทางธุรกิจของ AWS ในประเทศไทยในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าในธุรกิจการเงิน ธุรกิจค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิต ที่คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโตสูงในด้านการใช้คลาวด์ โดย AWS กำลังเพิ่มจำนวน AWS Partner และทีมงานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

"ในปี 2564 AWS ได้แต่งตั้งบริษัทเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SiS) ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งมีลูกค้าเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีมากกว่า 7,000 รายทั่วประเทศ ให้เป็นดิสทริบิวเตอร์อย่างเป็นทางการ โดย SiS จะเป็นเป็นดิสทริบิวเตอร์ของ AWS รายแรกในประเทศไทยสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่เป็นภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการเติบโตด้านดิจิทัลโดยการขยายฐานคู่ค้าและตัวแทนจำหน่าย AWS ในประเทศไทย โดยในปี 2566 นี้ SiS จะสนับสนุน reseller ในการสร้าง Solution Packages สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small to medium-sized business: SMB) รวมถึงเว็บไซต์ การสำรองข้อมูล การย้ายข้อมูล และ VDI และสนับสนุน reseller ในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อการเข้าสู่ตลาดผ่านการสัมมนาผ่านเว็บและการมีส่วนร่วมกับลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเพิ่มลูกค้าใหม่ในกลุ่ม SMB"

ด้านการลงทุนของ AWS ในประเทศไทย วัตสันกล่าวถึงกาาประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในประเทศไทย AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือ 1.9 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของ AWS ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

"ในปี 2565 AWS ได้ประกาศแผนเตรียมเพิ่มบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์มายังประเทศไทยด้วย AWS Local Zone แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว Local Zones ใหม่ 10 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) เพื่อทำให้ลูกค้าของ AWS ในประเทศไทยสามารถมอบประสิทธิภาพความเร็วในหลักหน่วยของมิลลิวินาที (single-digit millisecond) แก่ผู้ใช้ปลายทางของพวกเขาได้"

วัตสันทิ้งท้ายว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมีส่วนทำให้เกิดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลที่กว้างขึ้น ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในปี 2566 ทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้การฝึกอบรมทักษะมีความสำคัญมากกว่าที่เคย ภาครัฐและอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วอาเซียนกำลังเผชิญกับการขาดแคลนผู้มีความสามารถและทักษะด้านดิจิทัล ซึ่ง AWS กำลังแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัล โดยได้เริ่มฝึกอบรมบุคลากรมาแล้วกว่า 700,000 คนทั่วอาเซียนด้วยทักษะด้านระบบคลาวด์ตั้งแต่ปี 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น