"ไพร์ม โซลูชั่น" แย้มแผนธุรกิจปี 66 เริ่มด้วยจับ PDPA ใส่กล่องขายผ่าน Com7 ลุยขยายฐานครอบคลุมตลาดทุกขนาด ระบุเน้นโฟกัสงานด้านบริการและเจาะกลุ่มใหม่สู่ SME ชูช่องทางเด่นขายผ่าน Com7 รับกระแสด้วยการทำตลาดซอฟต์แวร์ผ่านคลาวด์ ย้ำปีนี้พร้อมรุกตลาดคู่กับพันธมิตร
นายมาดี สุธัมมะ ซีอีโอและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพร์ม โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของไพร์ม โซลูชั่น ในปี 2566 มีการปรับฐานตลาดครั้งใหญ่ จากเดิมที่เคยเน้นเฉพาะงานด้านเอสไอ หรือการรวบรวมและอิมพลีเมนต์ระบบ แต่นับจากนี้ไปจะขยายไปสู่งานบริการให้มากขึ้นด้วย และพร้อมที่จะผลักดันให้เป็นธุรกิจหลักในอนาคต
ปัจจุบัน งานบริการประกอบไปด้วยการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ารายนั้นๆ ตลอดจนการนำเสนอนวัตกรรมที่จะเข้าไปช่วยยกระดับงานหรือบริการของลูกค้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น บริการซอฟต์แวร์พร้อมใช้ หรือ SaaS ด้าน PDPA ซอฟต์แวร์และบริการด้านสมาร์ทซิตี สมาร์ทเฮลธ์แคร์ และสมาร์ทเวิร์กกิ้งสเปซ อีกทั้งเตรียมนำเสนอบริการด้านการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า (Face Authentication) ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายงานบริการบนระบบคลาวด์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และในรูปแบบการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้วย
“จากความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรม จนออกมาเป็นโซลูชันเพื่อนำมาให้บริการแก่ลูกค้าในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ปีนี้นับว่าไพร์ม โซลูชั่น มีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันการให้บริการซอฟต์แวร์บนคลาวด์ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่ดีอย่างยิ่งเนื่องจากธุรกิจต่างๆ ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากสถานการณ์โควิด” นายมาดี กล่าว
ขณะเดียวกัน ไพร์ม โซลูชั่น ยังได้วางจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้าน PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ผ่านหน้าร้าน Com7 ซึ่งได้เปิดตัวไปเมื่อ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นการเปิดตัวสู่ตลาด SME เป็นครั้งแรกของไพร์ม โซลูชั่น เนื่องจากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ไพร์ม โซลูชั่น มีฐานลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มหน่วยงานรัฐเป็นหลัก
***ตั้งเป้าปี 66 โต 20%
จากกลยุทธ์การเพิ่มฐานตลาดไปสู่ธุรกิจขนาด SME ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ เชื่อว่าจะเป็นแรงหนุนให้เกิดการเติบโตราว 15-20% ในปี 2566 จากเดิมที่มีฐานลูกค้าที่ดำเนินโครงการในกลุ่มภาครัฐต่อเนื่องจากปีก่อนอยู่แล้ว
ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจด้านบริการจะมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 5% แต่ปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วนมาจากงานด้านบริการเพิ่มเป็น 20% และกลายเป็น 30% ในอีก 2 ปีถัดไป โดยมีปัจจัยจากการที่ไพร์ม โซลูชั่น ได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (Exclusive Partner)
กับนวัตกรรมด้านการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ หรือ Face Authentication แบรนด์ดัง “เมทสคัวร์” (Metsakuur) ประเทศเกาหลีที่ได้รับรางวัลระดับชาติมาแล้ว
นายมาดี กล่าวว่า เมทสคัวร์ จะเป็นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนให้ไพร์ม โซลูชั่น ได้พัฒนาโซลูชันและบริการใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าบนจุดยืนของเรา คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้าและผู้ใช้ หรือ Customer Centric and User Centric ด้วยการยืดหลักทำตามความต้องการของลูกค้าและผู้ใช้ เพื่อให้เกิดผลิตภาพ (Productivity) และการใช้ประโยชน์ (Utilization) สูงสุด
“หมดยุคที่นักพัฒนาระบบจะพัฒนาแอปพลิเคชันตามความคิดของตัวเอง โดยไม่ได้รู้ความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ (User) แต่ปัจจุบัน ผู้ใช้กับนักพัฒนาระบบมีความเท่าเทียมกัน โดยต้องประสานความเข้าใจถึงความต้องการใช้งานที่แท้จริงเป็นสำคัญ” นายมาดี ย้ำ
***ขายผ่าน Com7 สร้างโอกาสใหม่
จากการที่บริษัท บานาน่า กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มคอมเซเว่น (โดย บมจ.คอมเซเว่น ถือหุ้น บจก. บานาน่า กรุ๊ป) เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนกับไพร์ม โซลูชั่น ในช่วงปี 2563 ทำให้มีโอกาสขยายช่องทางในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปี 2566 นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายฐานตลาดครั้งสำคัญของไพร์ม โซลูชั่น
การวางจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้าน PDPA ผ่านช่องทางของ Com7 กล่าวได้ว่าเป็นการขยายโอกาสไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ได้เป็นอย่างดี ด้วยศักยภาพความพร้อม แบรนด์ และสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ไพร์ม โซลูชั่น สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกระดับทั้งส่วนบุคคล ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ตลอดจนห้างร้านรายย่อย
*** “เมทสคัวร์” ชูเด่นสแกนใบหน้าครั้งเดียวใช้ได้หลายบริการ
นายสุรชัย ชัยยารังกิจรัตน์ ซีทีโอ บริษัท ไพร์ม โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ขยายความเกี่ยวกับ “เมทสคัวร์” (Metsakuur) ว่า เป็นนวัตกรรมด้านการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าในระดับเอนจิ้น โดยเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อการใช้งานหลายๆ แบรนด์ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าไม่ว่าจะใช้กับอุปกรณ์จากระบบใดก็ตาม
ปัจจุบันการสแกนใบหน้าแม้จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์ก็ตาม แต่ทุกบริการพัฒนาแยกกัน จึงไม่สามารถนำข้อมูลจากหลายๆ อุปกรณ์มาทำการวิเคราะห์ร่วมกันได้ กลายเป็นการใช้แบบเฉพาะงาน ทำให้ระบบมีอยู่มากมายไม่เป็นหนึ่งเดียว และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อต้องใช้มือถือก็ต้องสแกนใบหน้าด้วยมือถือเพื่อเทียบกับภาพใบหน้าในมือถือ เมื่อต้องการใช้โน้ตบุ๊กก็ต้องเทียบกับภาพใบหน้าในโน้ตบุ๊ก และหากต้องการเปิดประตูห้องทำงานก็ส่งข้อมูลใบหน้าไปเทียบกับภาพที่เก็บไว้ในระบบแม่ข่ายของสำนักงาน ทำให้เกิดขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่ละระบบมีฐานข้อมูลแยกออกจากกันไม่เชื่อมโยงกัน ไม่สามารถยืนยันตัวตนที่ถูกต้องรวดเร็วได้ แต่ในความเป็นจริงเราสามารถพัฒนาระบบให้มีศูนย์ข้อมูลกลางเก็บภาพใบหน้าเพียงครั้งเดียว หรือ Single Registration ได้ด้วยการพัฒนาในระดับเอนจิ้น และนำไปใช้ตรวจสอบตัวตนได้กับทุกระบบ ซึ่งจะช่วยให้เกิดกระบวนการยืนยันและวิเคราะห์ตัวตนอย่างแท้จริงด้วยระบบเอไอ
และยิ่งไปกว่านั้น เมทสคัวร์ ยังได้รับการยอมรับในด้านความแม่นยำและความรวดเร็วในการยืนยันใบหน้าจึงมั่นใจได้ว่าคนคนนั้นเป็นตัวจริง
นอกจากนี้ เมทสคัวร์ ยังสามารถนำไปประยุกต์หรือพัฒนาระบบต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันตัวตนในการสอบออนไลน์ หรือการกำหนดพื้นที่ต่อการเข้าถึงของคนแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีความแม่นยำสูง โดยใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีสามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ใบหน้าคนได้ถึงหลักร้อยหรือพันคน หากนำไปใช้ในการเช็กอินคนจำนวนมากในช่วงเวลาเร่งด่วน จะช่วยลดปัญหาการแออัดได้เป็นอย่างดี
***เทคโนโลยีมาแรงปี 2566
นายสุรชัย เสริมถึงแนวโน้มด้านเทคโนโลยีในปี 2566 ว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคการปฏิรูปไปสู่ดิจิทัล หรือ Digital Transformation ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนเอกชนรายใหญ่ไปถึงรายย่อย ทุกองค์กรต่างปรับตัวครั้งใหญ่ ทำให้การพัฒนาทุกๆ ด้านมุ่งสู่ดิจิทัลเพื่อยกระดับประสิทธิภาพ สร้างความแข็งแกร่ง รวดเร็ว และเพื่อให้ธุรกิจสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป
ในมุมมองของไพร์ม โซลูชั่น โดยนายสุรชัย เล็งเห็นแนวโน้มเทคโนโลยีที่มาแรงในปี 2566 มี 3 ด้าน ดังนี้
1.ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ (AI and Automation) ปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ในอุปกรณ์การใช้งานด้านต่างๆ จะถูกเชื่อมโยงให้สามารถทำงานร่วมกันได้ จากเดิมที่แยกกันอย่างชัดเจน ดังเช่น เอไอในระบบล็อกประตูบ้าน โทรศัพท์มือถือ กล้องวงจรปิด เครื่องปรับอากาศ ระบบควบคุมการเข้าสู่พื้นที่ ระบบออฟฟิศอัจฉริยะ ระบบบิ๊กดาต้า ระบบ KYC โดยในปีนี้จะได้เห็นเอไอในระบบต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและทำงานร่วมกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในภาพรวม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น
2.การบูรณาการข้อมูล (From Data Integration to Data Governance) นับจากนี้ทุกฝ่ายในองค์กรจำเป็นจะต้องมุ่งสู่การบูรณาการข้อมูลเพื่อให้การแลกเปลี่ยนใช้งานข้อมูลร่วมกันในทุกฝ่ายทำได้อย่างราบรื่น โดยต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง อัปเดต มีรูปแบบที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ พร้อมที่จะเชื่อมโยงกัน และตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างธรรมาภิบาลข้อมูลให้แก่องค์กรในที่สุด
3.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Zero trust is a Cybersecurity strategy) ซีโร่ทรัสต์ (Zero Trust) จะเป็นกลยุทธ์หลักด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีความปลอดภัยที่แท้จริงบนโลกของไซเบอร์ จึงไม่สามารถปล่อยให้เข้าสู่ระบบโดยละเลยการตรวจสอบ ไม่กำหนดขอบเขตสิทธิในการใช้งานแต่ละระบบเท่าที่จำเป็น และถือการกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดได้ ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากจากโครงสร้างในปัจจุบัน จำเป็นต้องเริ่มต้นสร้างความตระหนัก อบรมให้ความรู้แก่พนักงาน และควรปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศให้สอดรับกับโครงสร้างแบบซีโร่ทรัสต์ดังกล่าว
สำหรับแนวโน้มเชิงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมไอซีที มาดี มองว่าปัจจุบันแวดวงไอซีทีให้ความสำคัญกับ Value-added Partnership เพื่อประสานความร่วมมือจากแต่ละฝ่ายให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและผู้ใช้งาน โดยไม่ได้มองว่ารายใดเป็นคู่แข่งทางธุรกิจอย่างถาวร แม้แต่เวนเดอร์รายใหญ่ก็หันมาโฟกัส Value-added Partnership พร้อมที่จะจับมือกับผู้ประกอบการแม้จะเป็นรายเล็กที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองได้นั่นเอง