xs
xsm
sm
md
lg

Cisco จับเน็ต 400Gbps ใส่ EEC นับถอยหลังไทยลุย Data Lake

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



4 พันธมิตร “ซิสโก้-อีอีซี-แพลนเน็ตคอม-ซิลิคอนเทคพาร์ค” มั่นใจการติดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 400 Gbps ที่ปลอดภัยของซิสโก้ที่ซิลิคอนเทคพาร์ค จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะส่งผลดีถึงประเทศไทยในภาพรวม โดยเฉพาะการเกิดธุรกิจข้อมูล หรือดาต้าบิสิเนสที่จะบูมหนักในยุค 5G ตอกย้ำว่าถัดจาก 5G และไฮสปีดออินเทอร์เน็ต ก้าวต่อไปด้านเทคโนโลยีของอีอีซีคือ การตั้งคอมมอนดาต้าเลค ที่สามารถหยิบข้อมูลมหาศาลมาต่อยอด 12 อุตสาหกรรมไทยได้ตามฝันที่เคยวาดไว้

นายคณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี กล่าวว่าอีอีซีได้ร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนา “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง” ในพื้นที่โครงการ EEC SILICON TECH PARK โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 400 Gbps นับเป็นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี เป็นที่ตั้งของคนทำงานยุคใหม่ผ่านนวัตกรรมขั้นสูง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้คุณภาพชีวิตที่ดี รองรับการลงทุนจากภาคเอกชน จูงใจบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนวิจัยพัฒนา (R&D) ต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัลในพื้นที่ในอีอีซี สร้างพื้นที่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัปให้เข้ามาทำงานในอีอีซีเพิ่มขึ้น และจะเป็นศูนย์ฝึกอบรมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี

“อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะนำไปสู่การสร้างดาต้าบิสิเนสในประเทศไทย ที่ผ่านมา 5G มีส่วนทำให้ดาต้าเป็นเรื่องใหญ่ และบิ๊กดาต้าสามารถสร้างเป็นธุรกิจใหม่ได้ สำหรับประเทศไทยเองที่มี Data มากขึ้นจะสามารถทำ Data Lake ระบบกลาง เพื่อให้เกิดเป็นแอปพลิเคชันที่จะวิเคราะห์ต่อยอดได้ทั้งเรื่องเกษตรกรรม การบริหารจัดการ อุตสาหกรรมโรงงาน การท่องเที่ยว โรงแรม สำนักงาน และอื่นๆ ได้อีก”

คณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี
คณิศ กล่าวว่า TECH PARK เป็นพื้นที่พิเศษที่ทำ Data Center ไว้แล้ว เป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์กลางซึ่งแวดล้อมด้วยความน่าอยู่ของเมือง การทำ high speed internet ซึ่งเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถทำให้เกิดระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถสั่งการได้จากทางไกล การลงทุนนี้จะเป็นสะพานเชื่อมศูนย์ข้อมูลที่ Tech Park เชื่อว่าจะเกิดการใช้งานและพัฒนาธุรกิจ Data ขึ้นมาได้ด้วย

การติดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงคลุมพื้นที่ 600 ไร่ที่ EEC SILICON TECH PARK นี้มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2566 คาดว่าทุกคนจะได้เห็นสิ่งที่คาดหวังไว้ในการเป็นสะพานเชื่อมข้อมูลและธุรกิจข้อมูล ทั้งนี้ โปรเจกต์นี้เป็นความร่วมมือที่เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล” หรือ Cisco’s Country Digital Acceleration (CDA) ของซิสโก้ในด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี โดยซิสโก้ได้ร่วมมือกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงแพลนเน็ตคอม (PlanetComm) บริษัทออกแบบติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมในประเทศไทย และซิลิคอนเทคพาร์ค (STP) อุทยานเทคโนโลยีขั้นสูง และบริษัทอสังหาฯ ที่บ้านฉาง จังหวัดระยอง


เบื้องต้น มีการเปิดเผยว่าบริษัทที่ขานรับการจูงใจและมีแนวโน้มสนใจร่วมลงทุนที่ EEC SILICON TECH PARK จากทั้งซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา โดย 4 พื้นที่นี้จะเป็นบันไดสู่เป้าหมายที่ EEC SILICON TECH PARK ตั้งความหวังว่าจะดึงดูดบริษัทนวัตกรรมที่ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อ หรืออาจจะเป็นบริษัทสตาร์ทอัป จนสร้างโอกาสลงทุนได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท (61.97 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2570

EEC SILICON TECH PARK ถือเป็นเมืองต้นแบบดิจิทัล หรือซิลิคอนวอลเลย์แห่งภาคตะวันออก ที่ถูกมองว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัล และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้กับประเทศไทย ด้วยการสร้างโอกาสลงทุน รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ New S-Curve สร้างตำแหน่งงาน และรายได้ที่ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน

จากซ้าย ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ อีอีซี, เอ็ดเวิร์ด แกรนท์, ที่ปรึกษาอาวุโสของ EEC SILICON TECH PARK, ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) และ ทวีวัฒน์ จันทรเสโน, กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า
โปรเจกต์นี้ไม่เพียงหวังให้ EEC SILICON TECH PARK เป็นพื้นที่จุดศูนย์กลางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะนอกจากจะให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและคลาวด์แล้ว ซิสโก้ยังเหมาดีลติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ทั้งนวัตกรรมสำหรับอาคารอัจฉริยะ สมาร์ทซิตี ระบบซิเคียวริตีเพื่อการทำงานไฮบริดที่ปลอดภัย และสมาร์ทเวิร์กเพลสอีกด้วย คาดว่าจะเป็นต้นแบบให้ขยายจากสมาร์ทซิตีที่บ้านฉาง ไปยังศูนย์ธุรกิจเมืองใหม่พื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ที่ห้วยใหญ่ จังหวัดชลบุรี ขณะเดียวกัน ซิสโก้และอีอีซีมีการทำ MOU พัฒนาบุคลากรร่วมกันหลายพันคนต่อปี ทั้งกลุ่มที่เป็นคนทำงานและกลุ่มครูผู้ฝึกอบรม

นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ อีอีซี กล่าวว่า โครงการ EEC SILICON TECH PARK จะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงของอีอีซี ที่ส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตขั้นสูงในพื้นที่ พร้อมกันนี้ จะสามารถฝึกอบรมทักษะใหม่ (New skill) เพื่อพัฒนาความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทักษะด้าน Robotics & Automation โดยตรง ซึ่งเป็นบุคลากรพิเศษเฉพาะด้าน โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 5,000 คน ภายใน 5 ปี สร้างความพร้อมและจูงใจให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี

ด้านนายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า ปฏิเสธที่จะเปิดเผยมูลค่าการลงทุน แต่แสดงความเชื่อมั่นว่าโปรเจกต์นี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคนที่เข้าร่วม และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 400 Gbps ของ EEC SILICON TECH PARK ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการติดตั้งสำหรับใช้งานแบบ private และที่ผ่านมามีแต่การลงทุนเพื่อใช้งานในลักษณะ public ซึ่งแม้ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะมีการเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี ทำให้อัตราความเร็วนี้ครองตำแหน่งเร็วที่สุดได้ไม่นาน แต่ระบบของ Cisco ถูกออกแบบมาให้ขยายเพิ่มได้ตามต้องการ ซึ่งหากต้องการเพิ่ม bandwidth ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อรองรับ Data Lake ที่อาจจะเกิดขึ้น


ขณะที่นายเอ็ดเวิร์ด แกรนท์ ที่ปรึกษาอาวุโสของ EEC SILICON TECH PARK ระบุว่า โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นเป็นการลงทุนจากเอกชน และส่วนที่จะทำรายได้คือจากที่ดิน ซึ่งเมื่อคำนึงว่าสิงคโปร์นั้นอยู่ในสถานะที่แออัดเต็มพื้นที่ และประเทศอย่างอินโดนีเซียก็อยู่ไกลเกินไป ดังนั้น EEC SILICON TECH PARK จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการก่อตั้งอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น ธุรกิจ data เชื่อว่าจะทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่บูรณาการ ทำให้ไทยมีความก้าวหน้าทางดิจิทัล และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยกลับมาเซ็กซี่และแข่งขันในเวทีโลกได้ เพราะ EEC SILICON TECH PARK ยอมรับว่ายังต้องการความร่วมมือเพิ่มเติมอีกมากเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมองว่ายังต้องการให้มหาวิทยาลัยมาร่วมให้มากขึ้น เหมือนเช่นซิลิกอนวัลเลย์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยชั้นนำรายล้อม จุดนี้ แกรนท์มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจวันนี้อยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ จึงควรมีแคมเปญบอกเยาวชนอย่างจริงจังว่านี่คืออนาคต มหาวิทยาลัยก็ต้องช่วยกัน เพราะจากมหาวิทยาลัยในเมืองไทยที่มีมากกว่า 100 แห่ง แต่กลับร่วมใน EEC เพียง 27 รายในขณะนี้ ซึ่งหากทำได้ EEC SILICON TECH PARK จึงจะเป็นสมาร์ทซิตีแห่งใหม่ได้สำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น