xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” ชู “ศาลดิจิทัล” ทำการเชื่อมโยงกับประชาชน เพิ่มความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผลมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” ชี้ ศาลปกครอง มียุทธศาสตร์ที่ทันสมัยในการปรับปรุงองค์กรเป็นศาลดิจิทัล เปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล นำดิจิทัลไปสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งทำให้เพิ่ม ความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผลมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ในการประชุมวุฒิสภาวาระรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง
ส.ว. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายไว้ว่า ศาลปกครอง มียุทธศาสตร์ที่ทันสมัยในการปรับปรุงองค์กรเป็นศาลดิจิทัล ซึ่งจากรายงานปรากฏว่า ได้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ หลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ดิจิทัล (Digital transformation) หรือการเปลี่ยนผ่านการทำงานทางกายภาพหรือการทำงานด้วยกระดาษ ไปสู่การทำงานแบบดิจิทัล แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรดิจิทัลนั้น จะต้องดำเนินการในหลายๆ เรื่อง ดังเช่น
การนำดิจิทัลไปสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน (Digital engagement) อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เข้าถึงศาลปกครองได้ หากนำไปสู่หลักการการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลจะทำให้การเชื่อมโยงกับประชาชนมีมากขึ้น อีกทั้งทำให้เพิ่ม ความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มประสิทธิผลมากขึ้น

ประการถัดมา คือ การปรับเข้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านดิจัลทัล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับกระบวนการในการทำงาน หลายองค์กรเปลี่ยนเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล โดยนำกระบวนการกระดาษเดิมมาเป็นกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการ ซึ่งการทำเช่นนั้นได้ประโยชน์น้อย และในบางกรณีเป็นการทำซ้ำซ้อนทั้งกระดาษและดิจิทัล วิธีการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลที่ดีต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า การปรับปรุงกระบวนการในการทำงานหรือเรียกว่า โพรเสซทรานส์ฟอร์เมชัน (Process transformation) คือต้องปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับวิธีการทางดิจิทัล ไม่ใช่ใช้กระบวนการทำงานเดิมแล้วใส่ความเป็นดิจิทัลเข้าไป ซึ่งอาจพิจารณาศึกษา “กระบวนการในทางคดี” กระบวนการหนึ่ง และ “กระบวนการในการบริหารจัดการทั่วไป” อีกกระบวนการหนึ่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ มีตัวอย่างในการปรับกระบวนการทางดิจิทัลทั้งองค์กรศาลในต่างประเทศและในประเทศที่อาจนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อนำมาเทียบเคียงใช้

ประการต่อมา เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่หลายองค์กรที่ปรับเปลี่ยนไปสู่องค์กรดิจิทัลไม่ได้ให้ความสำคัญ คือ เรื่องวัฒนธรรมดิจิทัล นั่นคือในองค์กรต้องสร้างความคุ้นเคยกับการดำเนินงานที่เป็นลักษณะดิจิทัล ต้องทำให้ดิจิทัลเป็นวิถีชีวิตในการทำงานตามปกติซึ่งในกรณีนี้รวมถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรทั้งองค์กรทางตุลาการผู้บริหารพนักงานทั่วไปรวมถึงวัฒนธรรมในการสื่อสารถึงประชาชน

ส.ว.สถิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก องค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ หากศาลปกครองศึกษาและพิจารณานำมาเป็นเครื่องมือของการก้าวสู่ศาลดิจิทัลก็จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่จะทำให้ การมุ่งสู่ศาลดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ทั้งนี้บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เพียงแต่เหมาะกับการก้าวสู่การเงินยุคใหม่ เช่น ฟินเทค (FinTech) หรือ โทเคน (Token) แล้ว แต่ยังเหมาะกับการเก็บเอกสารหรือข้อมูลอย่างปลอดภัยขององค์กร เนื่องจากคุณสมบัติกระจายศูนย์ (Decentrailized) ทำให้เพิ่มความมั่นคงความปลอดภัย (Security) อันเป็นคุณสมบัติเด่นของเทคโนโลยีบล็อกเชน มากกว่าการเก็บเอกสารหรือข้อมูลแบบเดิมที่เป็นแบบรวมศูนย์ (Centralized) อันมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ (Single Point of Failure) ในทางกลับกันข้อมูลบนโครงข่ายบล็อกเชนจะถูกเก็บแบบกระจายตามโหนด (Node) ต่างๆ ที่กำหนด เมื่อทำการยืนยันธุรกรรมแล้ว ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นบล็อก (Block) ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น บล็อกละ 1 นาที เป็นต้น แต่ละบล็อกเรียงต่อกันไปพร้อมกับการเข้ารหัสกับบล็อกก่อนหน้าไปเรื่อย เพราะฉะนั้นการจะแฮกข้อมูลนั้นจะทำได้ก็ต้องตามไปถอดรหัสบล็อกก่อนหน้า ซึ่งจะทำได้ยากมากขึ้น

ท้ายที่สุด การดำเนินงานไปสู่องค์กรดิจิทัลจะต้องคำนึงถึงกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้การดำเนินงานของศาลดิจิทัลเป็นไปโดยสอดคล้องกับกฎหมายดิจิทัลอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญทั้งในด้านกระบวนการทำงาน ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยทางข้อมูลขององค์กร


กำลังโหลดความคิดเห็น