นับเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไล่จนมาถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกนำไปใช้งานกับชิปเซ็ตในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอ
แม้ว่าในช่วงปลายปี 2022 จำนวนการผลิตชิปจะเริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน และโรงงานใหม่จะเริ่มผลิตได้ในปีนี้ ทำให้คาดว่าในปีนี้ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางมากกว่าเดิม
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมาสู่เวียดนาม อินเดีย และแม้แต่การตั้งโรงงานเพิ่มเติมในสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากที่ทางสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทไอทีต้องยื่นเรื่องขอใบอนุญาตในการส่งต่อเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง จนกลายเป็นการกีดกันไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในการผลิตได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ผลิตชิปเซ็ตรายใหญ่ของโลก จึงเริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนามเพิ่ม จากที่ก่อนหน้านี้ได้เข้ามาลงทุนโรงงานประกอบในเวียดนามมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้ปัจจุบันนี้เวียดนามกำลังจะกลายเป็นแหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายสำคัญของโลก
ปัจจุบัน เวียดนามมีโรงงานผลิตชิปเซ็ตขนาดใหญ่ของทาง Intel ที่ลงทุนเพิ่มไปในช่วงปลายปี 2020 รวมๆ แล้วกว่า 1,500 ล้านเหรียญ ในขณะที่ Samsung ก็เตรียมเดินเครื่องผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ภายใต้การลงทุนกว่า 920 ล้านเหรียญ ไม่นับรวมกับโรงงานประกอบสมาร์ทโฟน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ทาง Samsung เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ จนปัจจุบันเวียดนามนับเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของ Samsung ไปแล้ว
ในแง่ของโรงงานผลิต Apple เป็นอีกหนึ่งรายที่เตรียมย้ายฐานการผลิตทั้ง Macbook และ Apple Watch มาสู่เวียดนามผ่านการลงทุนของทาง Foxconn ในขณะที่ก่อนหน้านี้มีการย้ายฐานการผลิต iPhone สู่อินเดียไปเรียบร้อยแล้ว หรือแม้แต่ล่าสุดที่รายงานข่าวจากนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า Dell ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกกำลังวางแผนที่จะลดความเสี่ยงของธุรกิจในจีน ด้วยการเลิกใช้ชิปที่ผลิตในจีนภายในปี 2024 ก่อนที่จะย้ายการผลิตกว่า 50% ออกนอกประเทศภายในปี 2025
แน่นอนว่า ทิศทางที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการที่บรรดาแบรนด์ต้องการความมั่นคงในการทำธุรกิจเพื่อให้สามารถทำตลาดได้ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าในอีกมุมการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าที่จีนที่อาจเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นที่ผลิตในจีนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับ Dell ที่ปัจจุบันยังตามหลัง Lenovo ในตลาดคอมพิวเตอร์อยู่
นอกเหนือจากโรงงานผลิตชิปในเวียดนามแล้ว ยังมีก้าวสำคัญของ Intel ที่ลงทุนกว่า 20,000 ล้านเหรียญ ตั้ง 2 โรงงานผลิตชิปในแอริโซนา สหรัฐฯ เพื่อผลิตชิปบนสถาปัตยกรรม Intel 4 (7 นาโนเมตร) ภายในปีนี้ รวมถึง TSMC ผู้ผลิตชิปสัญชาติไต้หวัน ที่เพิ่งประกาศลงทุน 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อตั้งโรงงานที่สามารถผลิตชิปเซ็ตรุ่นใหม่คุณภาพสูงบนสถาปัตยกรรมแบบ 4 และ 3 นาโนเมตร ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันชิปประมวลผลที่ใช้งานจะอยู่ที่ 5 นาโนเมตร
โดยทั้ง Apple AMD และ NVIDIA ต่างเตรียมแผนที่จะใช้ชิปจากโรงงานของ TSMC อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม โรงงานของ TSMC คาดว่าจะสามารถเดินสายพานการผลิตได้ในช่วงปี 2024 ดังนั้นกว่าจะได้เห็นชิปเซ็ตจากโรงงานนี้ออกสู่ตลาดคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 เลยก็เป็นได้
*** ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ขับเคลื่อนโลก
ลิซ่า ซู ซีอีโอ AMD ชี้ให้เห็นว่า จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำให้เห็นแล้วว่าทุกๆ ผลิตภัณฑ์ บริการ และประสบการณ์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้น ชิปเซ็ต หรือ เซมิคอนดักเตอร์ได้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม
ในช่วงไม่กี่ปี AMD ได้เห็นแล้วว่า ทั้งเบื้องหลังของบริการคลาวด์ การทำงานแบบไฮบริด ต่อเนื่องมาถึงความบันเทิงในธุรกิจเกมมิ่ง การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งาน การเชื่อมต่ออัจฉริยะ เฮลท์แคร์ ภาคอุตสาหกรรม จนถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อมีการนำชิปเซ็ตไปใช้งานจะช่วยให้เกิดสินค้า หรือบริการที่ฉลาด และตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น
“ทุกๆ บริการ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เบื้องหลังการทำงานที่ฉลาดขึ้นคือการมีเซมิคอนดักเตอร์อยู่เบื้องหลัง และที่มากกว่านั้นคือการที่ในทุกๆ ที่มีการนำ AI มาช่วยในการประมวลผลตั้งแต่ระดับเซิร์ฟเวอร์บนคลาวด์บนคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่อุปกรณ์พกพา”
ปัจจุบัน AMD นับเป็นผู้ผลิตชิปรายเดียวที่สามารถผลิตชิปเซ็ตได้ครอบคลุมตั้งแต่ซีพียู (CPU) จีพียู (GPU) และ AMD Adaptive ที่นำ AI มาช่วยในการจัดการการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ล่าสุด AMD ได้เปิดตัวชิปเซ็ตสำหรับโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์พกพารุ่นใหม่ AMD Ryzen 7040 ซีรีส์ ที่ทำงานบน Zen4 ขนาด 4 นาโนเมตร ที่มีจำนวนทรานซิสเตอร์กว่า 2.5 หมื่นล้านตัว ทำให้กลายเป็นชิปเซ็ตรุ่นแรกของคอมพิวเตอร์ที่รันบนสถาปัตยกรรม x86 หรือรองรับการทำงานของระบบปฏิบัติการวินโดวส์
จุดเด่นของซีพียูที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมแบบ 4 นาโนเมตร นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ดีขึ้น แรงขึ้นแล้ว ยังใช้พลังงานน้อยลง ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยทาง AMD ระบุว่าโน้ตบุ๊กที่ใช้ซีพียูรุ่นท็อปสามารถเล่นวิดีโอได้ต่อเนื่องกว่า 30 ชั่วโมง นานกว่าชิปของ Apple M2 ที่ผลิตบนสถาปัตยกรรมแบบ 5 นาโนเมตรรุ่นที่ 2 ด้วย
ในขณะที่คู่แข่งสำคัญของ AMD อย่าง Intel ได้มีการเปิดตัวโมบายโปรเซสเซอร์ ในตระกูล 13 Gen Core HX ซีรีส์ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้งานแล็ปท็อปที่ต้องการประสิทธิภาพในการทำงาน เพียงแต่ว่าด้วยเทคโนโลยี Intel 7 ยังใช้สถาปัตยกรรมแบบ 10 นาโนเมตรอยู่เช่นเดิม ทำให้เมื่อเทียบในแง่ของประสิทธิภาพชิปเซ็ตของ Intel จะประมวลผลได้แรงกว่า เร็วกว่า แต่ก็แลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากกว่า ซึ่งกลายเป็นว่าไม่ได้ตอบโจทย์การใช้งานแล็ปท็อปที่ต้องการระยะเวลาใช้งานบนแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้น แต่จะเหมาะกับกลุ่มที่ต้องการเวิร์กสเตชันเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูงมากกว่า
ในอนาคตเมื่อ Intel พัฒนาเทคโนโลยีชิปเซ็ตขึ้นไปผลิตบน Intel 4 การแข่งขันในแง่ของประสิทธิภาพเทียบกับการใช้พลังงานของตลาดชิปเซ็ตจะกลับมาดุเดือดมากยิ่งขึ้น จากที่ปัจจุบันตัวเลือกในกลุ่มนี้กลายเป็นของ Apple ที่ผลิต Apple M2 และ AMD Ryzen 7000 ซีรีส์
*** ชิปเซ็ตมือถือแข่งดุไม่แพ้กัน
ในฝั่งของผู้ผลิตชิปเซ็ตมือถือที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขับเคี่ยวของ Qualcomm และ MediaTek ในฝั่งของแอนดรอยด์ และไมโครซอฟท์ กับ Apple ที่ใช้กับ iPhone โดยในเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา Apple ได้เปิดตัวชิปเซ็ต A16 Bionic ที่ทำงานบนสถาปัตยกรรม 4 นาโนเมตรออกสู่ตลาด ทำให้ iPhone 14 Pro ซีรีส์ กลายเป็นสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพในการประมวลผลแรงที่สุด
ก่อนที่ในช่วงปลายปี Qualcomm ได้เปิดตัวชิปเซ็ต Snapdragon 8 Gen2 และ MediaTek เปิดตัว Dimensity 9200 ที่ใช้สถาปัตยกรรมแบบ 4 นาโนเมตรเช่นเดียวกันออกสู่ตลาด ก่อนที่บรรดาผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจะทยอยนำมาใช้งานกันในปีนี้
โดยสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ใช้ Snapdragon 8 Gen2 รุ่นแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทยคือ iQOO 11 ที่วางจำหน่ายในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตามด้วย Samsung Galaxy S23 Ultra ที่มีกำหนดการเปิดตัวในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ OnePlus 11 ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และ Xiaomi 13 Pro ที่เปิดตัวไปแล้วในประเทศจีน และมีแผนจะเปิดตัวในตลาดโลกช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์
ในขณะที่ MediaTek เริ่มมีแบรนด์จีนอย่าง vivo นำไปใช้งานกับรุ่นเรือธงที่เปิดตัวในจีนไปแล้วอย่าง vivo X90 ซึ่งต้องรอดูกันว่าทาง vivo จะนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในช่วงเวลาใด ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเข้ามาในช่วงไตรมาส 1 นี้
ส่วนการเปิดตัวชิปเซ็ตรุ่นใหม่ของ Apple ในปีนี้ยังคงต้องจับตาดูกันอีกครั้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน เพราะกลายเป็นว่าจนถึงวันนี้ ในชิปตระกูล M2 ยังไม่มีการออกรุ่นอัปเกรดที่เป็น Pro Max และ Ultra ออกมา อาจจะเป็นผลมาจากความล่าช้าของโรงงานผลิตซึ่งมีโอกาสจะส่งผลกระทบต่อ A17 Bionic ในปลายปีนี้ก็เป็นได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ภาพรวมของการแข่งขันในส่วนของโน้ตบุ๊ก และสมาร์ทโฟน ที่เน้นเรื่องของประสิทธิภาพ และประหยัดพลังงานยังคงเป็นแกนหลักของปีนี้ ซึ่งด้วยสถานการณ์ค่าเงินล่าสุดที่เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ระดับราคาสมาร์ทโฟนแฟลกชิปจะปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา