ความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะในฝั่งของบริษัทเทคโนโลยีและสื่อสารในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา นับว่าอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของหลายๆ บริษัท แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังเผชิญกับความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจ ต่อเนื่องถึงการดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ที่จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง
1.ควบรวมธุรกิจสื่อสาร ลดต้นทุนโครงสร้าง
นับเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนตุลาคม ที่สุดท้ายแล้ว กสทช. มีการลงมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย และคงทางเลือกให้แบรนด์แยกจากกันเป็นระยะเวลา 3 ปี
จุดเริ่มต้นของดีลในครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 21 พ.ย.2564 ที่ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ระหว่างดีแทคกับทรู เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสร้างบริษัทใหม่ด้าน Telecom-Tech Company ภายใต้เป้าหมายหลักคือการยกระดับขีดความสามารถทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม
ประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับหลังจากควบรวมทั้ง 2 บริษัทคือ การเพิ่มสัญญาณที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้งาน รวมถึงเพิ่มความจุในการรองรับการใช้งานทั้ง 4G และ 5G ทั่วประเทศ จากการมีคลื่นความถี่ให้บริการที่หลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็ลดต้นทุนในแง่ของการขยายโครงข่ายที่มีความซ้ำซ้อนลง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุน (Venture Capital : VC) รวมถึงศูนย์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัล ภายใต้เงินลงทุนกว่า 200 ล้านเหรียญ หรือราว 7.3 พันล้านบาท ในการผลักดันสตาร์ทอัปไทยสู่ยูนิคอร์น และสร้างทักษะงานดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย
มติของ กสทช.ในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ดีลการควบรวมนี้เดินหน้าต่อไปได้ เบื้องต้น คาดว่าทั้ง 2 บริษัทจะดำเนินการตามขั้นตอนของตลาดหลักทรัพย์ฯในการตั้งบริษัทใหม่ ที่คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566
แน่นอนว่า ในปีนี้ไม่ได้มีแค่ดีลระหว่างทรู และดีแทคเท่านั้นที่เดินหน้า แต่ในฝั่งของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ก็มีการประกาศเข้าซื้อหุ้น 3BB และหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (JASIF) ด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน ความคืบหน้าล่าสุดของดีลนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตจากทาง กสทช. ก่อนที่จะมีการลงนามซื้อขายหุ้น และหน่วยลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘สมชัย เลิศสุทธิวงค์’ ซีอีโอ AIS ให้ความเห็นว่า กสทช. ไม่มีเหตุที่จะไม่อนุมัติให้ดีลนี้เกิดขึ้น หลังเห็นความคืบหน้าของกรณีควบรวมทรูและดีแทคที่ทาง กสทช. มีมติรับทราบในการควบรวมกิจการ
เนื่องจากโครงสร้างของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีความแตกต่างจากโทรศัพท์มือถือที่มีการใช้งานคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของรัฐ แต่ในธุรกิจบรอดแบนด์เป็นการใช้งานโครงสร้างเคเบิลใยแก้วนำแสงที่เอกชนลงทุนขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งทาง AIS พร้อมเข้าไปรับฟังเงื่อนไข เพื่อให้ดีลนี้สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้
นอกจากฝั่งของด้านสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากฝั่งของที่ปรึกษาผู้ให้บริการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร อย่าง ‘บลูบิค’ ที่ประกาศทุ่มงบกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ Innoviz Solutions ที่มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบ Microsoft 365 เพื่อเข้าไปเสริมธุรกิจด้าน ERP
ขณะเดียวกัน ยังเข้าซื้อหน่วยธุรกิจ Digital Delivery ของทาง MFEC เพื่อเข้ามาเสริมขีดความสามารถในการส่งมอบงานเกี่ยวกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของทางบลูบิค พร้อมกับการ Synergy ธุรกิจกับทาง MFEC ในอนาคต ซึ่งการเติมจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเข้ามาจะช่วยให้บลูบิคก้าวสู่การเป็น Tech Company ระดับสากล
2.ESG ตลาดไทยตื่นตัว
ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ถือเป็นเรื่องราวกระแสร้อนแรงในปี 2565 ที่จะมีอิมแพกต์ถึงแนวโน้มสำคัญในวงการไอทีอีกหลายปีข้างหน้า เนื่องจากวันนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงกองทุนและองค์กรอื่นๆ นั้นถูกผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนใน 3 ประเด็นนี้ต่อสาธารณชน เพราะนักลงทุนในปัจจุบันไม่มองเพียงตัวเลขกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ต้องการทราบว่าบริษัทนั้นทำดีเพื่อโลกเพียงใด ทำให้ซอฟต์แวร์ที่วัดได้ว่าบริษัทนั้นปล่อยหรือลดคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร รวมถึงระบบเทคโนโลยีที่สามารถหมุนกลไกและโครงการช่วยสังคม จะมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องอีกหลายปีข้างหน้า
สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด อธิบายว่า ESG เป็นขอบเขตที่มีแหล่งข้อมูลต้องเก็บจำนวนมาก องค์กรจะต้องมีระบบที่ติดตามได้ถึงปริมาณที่เป็นอยู่หรือเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อวางแผนการลดหรือเพิ่ม และกำหนดเป็นนโยบาย ซึ่งปัจจุบัน หลายองค์กรตื่นตัวเริ่มปรับใช้ระบบวัดรวมถึงพัฒนาดาต้าแพลตฟอร์มที่เป็นส่วนสำคัญ ทำให้คาดว่าจะมีการขยายตัวอีก
“องค์กรตื่นตัว และเห็นความจำเป็นที่จะต้องทำ” สวัสดิ์ กล่าว “โปรดักต์ของไอบีเอ็มเน้นความยั่งยืนอยู่แล้ว ทั้งระบบที่สามารถพยากรณ์การทำงาน บริหารน้ำไฟและทรัพยากรอื่นในซัปพลายเชน นำไปสู่การปล่อยคาร์บอนน้อยลง สามารถตั้งเป้าหมายได้ ออกรายงานได้ โรงงานสามารถทำระบบบำรุงรักษาเชิงลึก ทำให้ลดการปล่อยของเสียที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการซ่อมแซมได้”
ปัจจุบัน สถาบันไทยพัฒน์สามารถสำรวจข้อมูลความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียนไทย 763 แห่ง และกองทุนและองค์กรอื่นๆ อีก 91 ราย รวมทั้งสิ้น 854 รายในปี 2565 คิดเป็นตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำการสำรวจได้ 826 ราย การสำรวจพบว่าการเปิดเผยข้อมูลด้านสังคมมีสัดส่วนมากสุด (56.03%) รองลงมาเป็นข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม 22.49% และด้านเศรษฐกิจ 21.48% ตามลำดับ
เอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า ความต้องการข้อมูล ESG จะทำให้สมรภูมิซอฟต์แวร์ ESG ร้อนแรงขึ้น ผู้เล่นที่เป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์องค์กรจำนวนมากพร้อมใจลุกขึ้นมาขยับเพื่อตอบความต้องการในตลาดไทยที่เติบโตตามเทรนด์โลก โดย SAP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรรายใหญ่เชื่อว่าความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ปี 2566 จะเป็นปีที่การแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ ESG ในประเทศไทยดุเดือดขึ้น บนผู้เล่นจำนวนมากที่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น
นอกจาก SAP แล้ว บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC คืออีก 1 บริษัทไทยที่มีแผนจะกระโดดเข้าสู่สมรภูมิ ESG อย่างเต็มตัวในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปีที่บริษัทปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อเจาะตัว S ใน ESG โดยเฉพาะ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือความฝันว่าซอฟต์แวร์ไทยจะสามารถยกระดับสังคมไทยได้อย่างมีอิมแพกต์ ทั้งการจัดการหนี้นอกระบบ รวมถึงการยกระดับการเกษตรของประเทศ
ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC กล่าวว่า ปี 2566 บริษัทจะปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่เน้นดำเนินการด้านสังคม หรือ Social ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ตัวหลักของ ESG โดยมองว่าด้าน E หรือสิ่งแวดล้อมนั้นมีซอฟต์แวร์ต่างชาติตอบโจทย์อยู่แล้ว แต่ด้านสังคมนั้นยังมีพื้นที่ให้ซอฟต์แวร์ได้สร้างอิมแพกต์ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ หรือแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจที่จะผสานทั้งภาคเกษตรกร ภาคขนส่ง ภาคค้าปลีก และภาคส่งออก เพื่อใช้ดาต้าในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกับการยกระดับสังคมไปพร้อมกัน
ในระยะยาว ศิริวัฒน์เชื่อว่าแทบทุกบริษัทจะต้องทราบว่ามีปริมาณการทิ้งขยะเท่าไรในแต่ละเดือน หรือมีขยะพลาสติกเท่าไร สร้างคาร์บอนเท่าไร สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเมื่อถึงเวลานั้น บริษัทที่ไม่อยากทำ ESG จะถูกกฎหมาย นักลงทุน และผู้บริโภคกดดันให้ต้องทำตามกระแสสังคมยุคใหม่ที่จะให้ความสนใจกับบริษัทที่มีนโยบายด้าน ESG มากขึ้นแน่นอน
3.จากสมาร์ทโฟนจอพับ สู่โน้ตบุ๊กพับได้
กลับมาที่ความเคลื่อนไหวของตลาดคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์กันบ้าง แม้ว่าหลายๆ บริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการขาดแคลนชิปเซ็ต และค่าเงินที่ผันผวนทำให้ราคาต้นทุนของสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาของสมาร์ทโฟนแฟลกชิปในปีนี้ที่ปรับตัวขึ้น
แต่ด้วยเทรนด์ของสมาร์ทโฟนจอพับ ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปีนี้ Samsung ยังสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในกลุ่มสมาร์ทโฟนได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สมาร์ทโฟนจอพับอย่าง Samsung Galaxy Z Flip 4 และ Galaxy Z Fold 4 ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ใช้งานทั้งพรีเมียม และแฟชัน แต่ยังได้รับการยอมรับจาก Galaxy S22 Ultra ที่ออกมาทำตลาดในช่วงต้นปี จากความนิยมในเรื่องของกล้องถ่ายภาพประสิทธิภาพสูงที่ซูมได้ดีที่สุดในตลาดด้วย
แม้ว่าการแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนจอพับ จะยังไม่มีคู่แข่งที่เข้ามาทำตลาดชนกันแบบเต็มตัว แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการพัฒนาของคู่แข่งอย่าง OPPO ที่มีการเปิดตัว Find N ตามด้วย Find N2 เข้ามาให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัสกันในงาน OPPO Innoday 2022 แต่ก็ยังไม่มีแผนนำเข้ามาทำตลาด ขณะที่ HUAWEI Mate XS2 มีพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่
จุดที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคเริ่มเห็นการนำสมาร์ทโฟนจอพับไปใช้งานกับอุปกรณ์อื่นๆ อย่างโน้ตบุ๊ก ที่ทั้ง Lenovo และ ASUS ได้ฤกษ์นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยช่วงไตรมาส 4 นี้ หลังจากเปิดตัวในต่างประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี จากเหตุผลทางด้านซัปพลายเชนที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขาดตลาดทำให้มีความล่าช้า
โดยทั้ง Lenovo ThinkPad X1 Fold และ ASUS Zenbook 17 Fold OLED นับเป็นต้นแบบของโน้ตบุ๊กจอพับที่รองรับการนำมาใช้งานจริงได้อย่างน่าสนใจ โดย Lenovo จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการโน้ตบุ๊กจอพับเครื่องเล็กพกพาง่าย ทำงานได้หลากหลาย ในขณะที่ ASUS จะเน้นตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ ที่สามารถพกไปใช้งานได้ทุกที่
อย่างไรก็ตาม ราคายังเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั้งสมาร์ทโฟนจอพับ และโน้ตบุ๊กพับได้ ยังไม่เข้าสู่กลุ่มแมส แม้ว่าจะได้เห็นการทำราคาของ Galaxy Z Flip4 ที่ลงมาอยู่ใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนแฟลกชิปของหลายค่าย แต่ยังมีช่องว่างของอุปกรณ์พับได้ที่ราคาพุ่งไปหลักเกือบแสนบาทอยู่ ดังนั้น ในปี 2566 ถ้ามีการทำราคาให้น่าสนใจขึ้นกลุ่มสินค้านี้ก็มีโอกาสได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
4.ยักษ์ไอทีบุกตลาดไทย
อีกหนึ่งข่าวดีที่เกิดขึ้นในรอบปี คือ การเข้ามาประกาศลงทุนของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่ทยอยเข้ามาเปิดให้บริการคลาวด์ในไทยเพิ่มเติม ไล่ตั้งแต่ต้นปีที่ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ขยาย Local Zone มาให้บริการในกรุงเทพฯ ในลักษณะของโครงสร้างพื้นฐานเก็บข้อมูล ทำให้อุปกรณ์เครือข่ายขององค์กรธุรกิจในไทยสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วขึ้นเหลือไม่ถึง 10 มิลลิวินาที
โดยหลังจากประกาศเข้ามาลงทุน ล่าสุด AWS Local Zone ก็เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วในช่วงเดือนธันวาคม นับว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะใช้เวลา 2 ปี เพียงแต่ด้วยการที่เพิ่งเปิดให้บริการ และมีปริมาณการให้บริการที่จำกัดเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ ทำให้ค่าใช้จ่ายของ Local Zone กรุงเทพฯ นั้นสูงกว่าการเลือกใช้งานจาก Region สิงคโปร์ที่เปิดให้บริการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี AWS ยังได้ประกาศลงทุนเพิ่มเติมถึง 1.9 แสนล้านบาท ในช่วง 15 ปีข้างหน้า ด้วยการตั้ง AWS Regions ในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 11 ในภูมิภาค ซึ่งการเข้ามาให้บริการนี้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของคลาวด์ไทยในการให้บริการดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจ
นอกจาก AWS แล้ว Google Cloud ก็ประกาศลงทุน Cloud Region ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ซึ่งนับเป็นแห่งที่ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนว่าเป้าหมายของการเข้ามาลงทุนในไทยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการในการเข้าไปส่งเสริมนโยบายของรัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากคลาวด์จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการนำข้อมูลมาใช้งานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
5.อีคอมเมิร์ซปลดพนักงาน สวนทางยูนิคอร์นรายใหม่
เหตุการณ์ที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย หลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา พอเริ่มกลับสู่สถานการณ์ปกติ ประกอบกับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจทำให้หลายๆ บริษัทเริ่มมีการรัดเข็มขัดกันมากขึ้น
Shopee ประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ Sea Group เป็นหนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซที่ได้รับผลกระทบจากสภาพตลาดที่เกิดขึ้น ประกอบกับนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการลดต้นทุน ทำให้ในปีนี้ Shopee มีการประกาศปลดพนักงานถึง 2 รอบด้วยกัน เริ่มจากเลิกจ้าง 300 คน ช่วงต้นกรกฎาคม โดยหลักๆ อยู่ในกลุ่มของ Shopee Food และ Shopee Pay ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักของ Shopee ตามด้วยการปลดพนักงานอีกกว่า 10% ในเดือนกันยายน ที่มีทั้งพนักงานประจำ และพนักงานสัญญาจ้าง โดยในครั้งนี้มีการเลิกจ้างคนในฝั่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติมเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากปลดพนักงาน Shopee ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจต่อเนื่องในไทย
ปิดท้ายที่ข่าวดีของอุตสาหกรรมส่งอาหารในประเทศไทย เมื่อ LINE MAN Wongnai ขึ้นเป็นสตาร์ทอัปยูนิคอร์นรายล่าสุดในไทย หลังระดมทุนซีรีส์ B ด้วยมูลค่ากว่า 265 ล้านเหรียญ (ราว 9,700 ล้านบาท) ทำให้บริษัทมีมูลค่าหลังการระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญ และเดินหน้าขยายทีมงานเทคโนโลยีเพิ่มเป็น 450 คนภายในครึ่งปีแรกของปี 2566
หลังจากนี้ จึงน่าจับตาธุรกิจออนดีมานด์ของทาง LINE MAN Wongnai เมื่อมีการขยายทีมงาน และเพิ่มเติมบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการที่ LINE MAN ให้ความสนใจในการซื้อกิจการของ Foodpanda ในประเทศไทย ที่แม้จะไม่มีความชัดเจนในเวลานี้ แต่แสดงให้เห็นแล้วว่าพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อขึ้นเป็นผู้นำในตลาดนี้