xs
xsm
sm
md
lg

‘พ.อ.สรรพชัยย์’ ลั่นปี 2566 nt ต้อง ‘Integration for All’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฟ้าหลังฝนมักสดใส แต่สำหรับพายุระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่น หนทางรอดกว่าจะถึงวันนั้น หนีไม่พ้นการเตรียมองค์กรให้แข็งแกร่งที่สุดเพื่อรับแรงกระแทกจากสถานการณ์ภายในและคู่แข่งภายนอก ‘พ.อ.สรรพชัยย์’ กจญ. nt กางแผนปี 2566 เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีแต่ขวากหนามที่ต้องลดรายจ่ายและหาทางเพิ่มรายได้ ต้องคิดนอกกรอบ ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ต้องแตกบริษัทย่อยจับมือพาร์ทเนอร์ รุกธุรกิจที่เป็นเทรนด์ของโลกที่กำไรงาม สร้างคนและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมพร้อมรับกับการแข่งขันที่รุนแรง พร้อมรักษาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่มีมากแต่กำไรน้อย ไว้เป็นหลักประกันอนาคตให้กับ nt ที่จะกลายสภาพเป็นโฮลดิ้ง รวมทั้งต้องให้รัฐเป็นกำลังหนุนสำคัญสำหรับรัฐวิสาหกิจสื่อสารแห่งชาติที่ยังมีข้อจำกัดสารพัดถึงแม้จะควบรวมมาแล้วเกือบ 2 ปี

‘ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการบูรณาการทั้งหมดของ nt บูรณาการด้านข้อมูล ด้านเทคนิค ด้านการดูแลลูกค้า หลักๆคือภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เพราะก่อนที่จะไปรบกับคนอื่น ข้างในเราต้องเข้มแข็งก่อน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือ Integration for All น่าจะเหมาะสมกับ nt ที่สุด’ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ nt กล่าวถึงเส้นทาง nt ในปี 2566

ทั้งนี้เป้าหมายของ nt มี 2 เรื่องคือ 1.สนับสนุนงานภาครัฐ ช่วยทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 2.ต้องอยู่รอดให้ได้โดยมี 2 เรื่องหลักๆ คือลดรายจ่ายกับเพิ่มรายได้

การลดรายจ่ายสามารถทำได้ทันที เพราะเป็นส่วนที่ทำภายในองค์กร หลังการควบรวมมีหลายเรื่องที่ลดรายจ่ายได้ อย่างระบบที่เคยรัน 2 ระบบ เน็ตเวิร์กที่ซ้ำซ้อนกันอยู่รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย (NOC หรือ Network Operation Center) ต้องมาจัดการอย่างจริงจัง รวมถึงจะไม่ลงทุนสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือแค่อยู่คนละที่กัน

ส่วนที่สองคือต้องปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนและจัดการได้แล้วประมาณ 50% แต่มีส่วนที่ต้องดำเนินการเพิ่ม เพียงต้องรอจังหวะเวลาของมัน nt มีต้นทุนค่าจ้างพนักงานประมาณ 30% ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร

‘ปีหน้าจะเป็นปีที่ดำเนินการเรื่องนี้ ต้องจบเรื่องพวกนี้ทั้งหมด ทั้งเรื่องการลงทุนที่เหมือนกัน เรื่องเทคนิคที่อยู่คนละที่กัน นั่นคือการลดค่าใช้จ่าย’

อีกเรื่องที่กำลังเร่งดำเนินการคือเรื่องฐานข้อมูลดาต้าเบส ที่มีความเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง ต้องมาดำเนินการคลีนซิ่งข้อมูลซึ่งทำมาโดยตลอด แต่ทั้ง 2 องค์กรเป็นองค์กรขนาดใหญ่ทำธุรกิจมายาวนาน ข้อมูลกระจัดกระจาย มีข้อมูลที่เป็นส่วนของตนเองเหมือนมรดก (Legacy System) และมีระบบที่เชื่อมต่อกัน เพราะฉะนั้นการบูรณาการข้อมูลของทั้งสององค์กรจึงต้องใช้เวลา ทำให้ปีหน้าจะเป็นปีที่สังคายนาเรื่องข้อมูล

ในส่วนของพนักงานคือ การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงานของพนักงาน (Re-Skill) แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ค่าเฉลี่ยของอายุพนักงานอยู่ที่ประมาณ 50 ปีซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นจึงต้องใช้โครงการเกษียณตัวเองก่อนกำหนด (Early Retire) ซึ่งก็จะเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมค่าใช้จ่ายขององค์กร

‘อันนี้เป็นภาพรวมของการควบคุมค่าใช้จ่าย’

*** 3 กลุ่มธุรกิจชี้อนาคต nt


ส่วนการเพิ่มรายได้ หรือ การเดินไปข้างหน้าจะโฟกัสอะไรด้วยวิธีการแบบไหนนั้น กจญ.nt อธิบายว่าหลักการแบ่งธุรกิจเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.sun set ธุรกิจที่จะค่อยๆลดความสำคัญลง เช่น โทรศัพท์พื้นฐาน (ฟิกซ์ไลน์) แนวทางคือต้องลดค่าใช้จ่าย หาโปรดักส์อื่นทดแทน ลดอัตราการเลิกใช้ (Churn rate) ต้องทบทวนเรื่องอัตราค่าโทร.ข้ามจังหวัดว่าทำไมสูงกว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่จูงใจให้เกิดการใช้งาน รวมทั้งเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) เพราะบริการภายในของ nt เองไม่ต้องเสียค่า IC อย่างโทรศัพท์พื้นฐานกับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องเพิ่มฟีเจอร์หรือคุณสมบัติเด่นตรงนั้นให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อรักษาลูกค้ากลุ่มนี้ไว้

‘ฟิกซ์ไลน์ ยังมีความจำเป็นกับบริษัท ห้างร้าน ที่เบอร์ฟิกซ์ไลน์มีความน่าเชื่อถือมากกว่าเบอร์โทรศัพท์มือถือ เราต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้’

***โครงสร้างพื้นฐานมีมากกำไรน้อย

2.cash cow ซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมัน cash จริงแต่ cash น้อยมาก คือธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหรือ Infrastructure จำพวก ท่อ เสา สาย ซึ่งปัจจุบันกำไรน้อยมากทำให้ผู้เล่นรายหลักไม่ลงมาเล่น แต่ nt เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมทั่วถึงให้ประชาชน จึงมีโครงสร้างพื้นฐานกระจัดกระจายทั่วประเทศ

แนวทางคือเริ่มจากเสาโทรคมนาคม nt มีไม่ต่ำกว่า 25,000 ต้น จะทำอย่างไรให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือใช้ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เช่นการหาพาร์ทเนอร์ในรูปแบบของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยที่มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมาใช้งานร่วมกันเพราะในอนาคตไม่อยากให้ทุกโอเปอเรเตอร์ลงเสา 5G ทุกพื้นที่ ต้องทำอย่างไรให้ nt อยู่ในบทบาทของการเป็นผู้ให้บริการตรงส่วนนี้

ส่วนเรื่องท่อร้อยสายใต้ดินทั้งการลงทุนสร้างเองและที่ได้รับโอนจากสัญญาร่วมการงานกับเอกชน เฉพาะในกทม. nt มีท่อร้อยสายใต้ดินยาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร ส่วนนี้ตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน จะต้องมีการเจรจาอย่างจริงจังร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สามารถเดินหน้าไปได้พร้อมๆกัน ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับนโยบายของกสทช.และกฟน.ด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

‘ต้องมีการพูดคุยอย่างจริงจัง เพื่อให้แผนเดินไปพร้อมกัน เปิดหน้าดินทีเดียวแล้วทำงานไปด้วยกัน ทั้งการหักเสาของการไฟฟ้าฯกับการเอาสายสื่อสารลงดินของเรา อย่างบางพื้นที่ เสาไฟยังปักอยู่สายสื่อสารยังพาดอยู่ เราไปขุดท่อร้อยสายก่อน ลูกค้าก็ไม่ไปใช้เพราะพาดสายบนเสา ราคาถูกกว่า’

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของบ้านเราคือสายสื่อสารที่พาดรุงรังจำนวนมาก เป็นสายสื่อสารที่ไปถึงบ้านลูกค้าหรือลาสไมล์ เป็นสายที่เปลี่ยนบ่อยและไม่ถูกกำจัดออกเมื่อลูกค้าเปลี่ยนผู้ให้บริการตามโปรโมชันที่จูงใจกว่า แต่ถ้ามีการพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์ว่ามาทำงานร่วมกันดีกว่าอย่างสายสื่อสารที่ไปถึงบ้านลูกค้า 1 หลังไป 2 สาย ให้โอเปอเรเตอร์ไปแข่งกันเรื่องโปรโมชัน เรื่องบริการเสริม คอนเทนต์ต่างๆ ทำให้เมื่อลูกค้าเปลี่ยนโอเปอเรเตอร์ ก็ไม่ต้องไปปลดสายหรือเปลี่ยนสายใหม่ ทำให้ระยะยาวภาพลักษณ์แต่ละจังหวัดดีขึ้น โอเปอเรเตอร์ก็ไม่ต้องไปลงทุนอีกรอบเพราะมีสายสื่อสารไปถึง

‘ตอนนี้ราคาก็ได้มีการปรับลงมาพอสมควรที่รับกันได้ สำหรับเรื่อง neutral last mile น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องสายสื่อสารที่รกรุงรังได้เป็นอย่างดี’

สำหรับเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) nt มีมากที่สุดในประเทศ ประมาณ 9-10 ระบบ และความต้องการใช้การสื่อสารข้อมูลภายในประเทศมีการเติบโตสูงมาก มีการเข้าใช้งานแล้วประมาณ 60-70% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอเคเบิลเส้นทางใหม่ที่จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2566 ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สามารถต่อยอดได้ หน้าที่หลักหรือแนวทางธุรกิจคือทำอย่างไรให้มีการเข้าใช้งานหรือทราฟิกวิ่งเข้าประเทศให้มาก และต้องมีการแบ่งสัดส่วนหรือบาลานซ์ ทราฟิกให้ออกไปแต่ละทวีปในแต่ละเส้นทางให้เหมาะสม ไม่หนักไปเส้นทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการคุยกับทางกสทช.เพราะมีบทบาทเรื่องความมั่นคงของทราฟิก

‘สมมติว่า 80% ทราฟิกของประเทศออกไปที่ใดที่หนึ่ง แล้วเกิดเหตุขึ้นมา เราออกไม่พอแน่ๆ ต้องคุยกับกสทช.ว่าทำไมทราฟิกเทไปที่เดียว เพราะราคาใช่หรือไม่ กสทช.จะช่วยทำอะไรได้บ้างเรื่องการบาลานซ์ทราฟิก’

ทั้งนี้ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ถึงจะมีมากแต่สร้างผลกำไรน้อย แต่ถือเป็นเสน่ห์ของประเทศในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ‘สรรพชัยย์’ เห็นว่าต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนและมีแผนชัดเจนมากเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มักพูดว่าไทยน่าสนใจแต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาเมื่อไร

ปัจจุบันต่างชาติบอกว่าปีหน้าหรืออีก 2 ปีมีแผนจะมาแล้ว ขอให้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม โดยเฉพาะเรื่องเคเบิลใต้น้ำซึ่งการที่ต่างชาติให้ความสนใจและมีแผนชัดเจนมาจากหลายปัจจัย เช่น 1.นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความคล่องตัวในการทำธุรกิจของต่างชาติ 2.การเปลี่ยนบทบาทของผู้มีอำนาจในด้านธุรกิจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย รวมทั้ง 3.ประเทศที่มีศักยภาพอย่างสิงคโปร์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องทรัพยากรมีจำกัดทั้งพลังงาน การทำเรื่องคาร์บอน เครดิต จำเป็นต้องจำกัดการลงทุน ทำให้ต่างชาติต้องมองหาประเทศที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของไทยซึ่งผูกเข้ากับอนาคตส่วนหนึ่งของ nt

***เปลี่ยนเป็น Tech Company


สิ่งที่ nt พยายามจะขับเคลื่อนมากขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มต่อจากโครงสร้างพื้นฐาน คือ 3. ธุรกิจทางด้านดิจิทัลโดยการเปลี่ยนตัวเองจากผู้ให้บริการทางด้านโทรคมนาคมมาเป็น Tech Company ซึ่งเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่าง Digital Cloud Service Data Center ซึ่งทาง nt ให้บริการมานานแล้วและได้รับความไว้วางใจให้บริหารระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ (GDCC) ซึ่งปัจจุบันภาครัฐมีความต้องการใช้งานจำนวนมากและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต

‘ส่วนเรื่องการต่อยอด ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยในเรื่อง migration ระบบ การขึ้นระบบใหม่ การแมเนจเซอร์วิส เพราด nt ไม่ได้ทำแต่คลาวด์ของเราเอง แต่ nt มีพาร์ทเนอร์ทั้ง AWS ไมโครซอฟท์ HUAWEI ซึ่งนอกจากเราช่วยขายแล้วพาร์ทเนอร์ต้องแข่งกันเองว่าใครจะให้บริการได้ตามความต้องการลูกค้าได้ดีที่สุด โดย nt จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางและจัดสรรการให้บริการให้ตรงกับความต้องการของทางภาครัฐ (Manage as a service) และส่งเสริมบริการทางด้านเซอร์วิสของแต่ละบริษัทให้เหมาะสมกับภาครัฐได้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทาง nt กำลังให้ความสำคัญและสนใจอยู่ตอนนี้’

nt ต้องหาพาร์ทเนอร์ในการทำแมเนจ เซอร์วิส เป็นอีกธุรกิจที่จะทำซึ่งจะประกอบด้วย 1.ไมเกรชั่น เซอร์วิส 2.การขึ้นระบบใหม่แล้วต้องการใช้ API (Application Program Interface) ธุรกิจลักษณะนี้กำไรมาก แต่ต้องการความเชี่ยวชาญ และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ใช่รูปแบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจต้องมีการแตกตัวในรูปแบบการร่วมทุน (JV)

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่อง Cyber Security ซึ่งตลาดมีการเติบโต 30-40% ต่อปีแต่ nt โตไม่มากนัก เนื่องจากข้อจำกัดด้านบุคลากร บรรยากาศการทำงาน สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังหารือร่วมกับพาร์ทเนอร์อีกหลายราย คงต้องแยกตัวออกมา รวมถึงการให้ความสำคัญในเรื่องของ Digital Solution จากเดิมที่มุ่งเฉพาะโครงการกับหน่วยงานภาครัฐ อาจต้องมองภาพรวมของประเทศ เพราะการทำทรานฟอร์เมชั่นมีสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐทำคล้ายๆกันพอสมควร เช่น เรื่องงานงบประมาณ งานบริหารพัสดุคงคลัง สามารถทำเป็นแพลตฟอร์มกลางให้หน่วยงานพวกนั้นมาใช้งานได้

ยังมีธุรกิจใหม่ๆที่ไปตามเทรนด์โลกอย่างเรื่องโดรน หรือ 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างไกล จะมีเรื่องของรถไร้คนขับ nt จะต้องเตรียมตัวอย่างไร ไม่ว่าเรื่องแพลตฟอร์ม อินฟราสตรักเจอร์ ซึ่ง nt มองในรูป distributed cloud and data center ซึ่งจากเดิมมีอยู่แล้ว 2-3 แห่งในกรุงเทพฯ นนทบุรี ศรีราชา หากธุรกิจพวกนี้เข้ามา การอาศัยเพียงส่วนกลางอย่างเดียวไม่พอ การส่งสัญญาณอาจดีเลย์ได้ ต้องขยายไปตามหัวเมืองซึ่งเตรียมความพร้อมไว้พอสมควร

ส่วนเรื่อง AR/VR(Augmented Reality/Virtual Reality) ก็เปิดรับพาร์ทเนอร์มีมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเหมือนกัน อย่างการที่ประเทศมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่อัจฉริยะ ยังมีช่องทางโอกาสให้เล่นได้อีกมาก สตาร์ทอัปใหม่ๆที่ถนัด AR/VR ก็น่าจะทำงานร่วมกับอินฟราสตรักเจอร์ของ nt ได้ดี ซึ่งพร้อมที่จะคุยกับพาร์ทเนอร์ทุกราย

‘หลักการคือธุรกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักๆ คงเป็นรูปแบบเดิมคือรัฐวิสาหกิจ เพราะต้องใช้งบประมาณภาครัฐมาช่วยเสริมอย่างที่ผ่านมาทำเรื่องเน็ตประชารัฐ ASEAN Digital Hub แต่อาจเพิ่มรูปแบบคือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร มีคนมาช่วยหรือไม่ เช่นเป็นกองทุนระยะยาวหรือไม่ อันนี้เป็นโครงสร้างหลัก กับอีกส่วนที่มีการแข่งขันสูงๆ nt อาจเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ จับพาร์ทเนอร์แล้วแตกตัว(spin-off)ออกไปให้หมด อย่างน้อยปีหน้าต้องเห็น 1-2 บริษัท เป็นเรื่องดิจิทัลทั้งหมด ทำให้ nt เป็นแค่โฮลดิ้งแล้วมีแค่อินฟราสตรักเจอร์ที่เป็นของภาครัฐแล้วทำธุรกิจ แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบ แต่ทิศทางในอนาคต nt จะเป็นแบบนี้’

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง property ที่ยังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด nt มีที่ดินจำนวนมาก ปัจจุบันถือเป็นต้นทุนด้วยซ้ำในเรื่องของภาษี หากไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณากันอยู่

***บรอดแบนด์ต้องเปลี่ยนรูปแบบ

พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือว่า ปัจจุบันธุรกิจบรอดแบนด์ความยากคือเงินลงทุนสูงกับอัตราการเลิกใช้บริการ (churn rate) ข้อจำกัดของ nt คือเรื่องบริการเสริมที่สู้คู่แข่งไม่ได้ ซึ่งได้คุยกับผู้บริหารแล้วว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจดีหรือไม่ เพราะทำธุรกิจแบบเดิมๆ เห็นตัวเลขแล้วว่าติดลบมาตลอด ไตรมาสแรกปีหน้าจะต้องเห็นทิศทางแล้วว่าจะเดินแบบไหน และภายในสิ้นปีหน้าต้องสรุปได้ชัดเจนว่าจะเลือกเส้นทางไหน

‘บรอดแบนด์ ผมอยากทำในรูปแบบอื่น ไม่ใช่รูปแบบที่เราขายอย่างทุกวันนี้ อาจเป็นความร่วมมือหรือโลเคชั่นเบส ลองทำเป็นต้นแบบอย่างกทม. ปริมณฑลโดย nt ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ ช่วยกันขายข้อเสียเปรียบ nt เป็นหน่วยงานรัฐ แข่งขันไม่คล่องตัว ทำธุรกิจด้านเดียว ขายของก็ขายแบบเดียว ไม่มีการทำอะไรที่เป็น spin-off แล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการทำธุรกิจที่รักษาสมดุลย์ระหว่างกัน’

***คลื่น 700 MHz ไม่ทำไม่ได้

ส่วนธุรกิจโทรศัพท์มือถือหรือสื่อสารไร้สาย ปัจจุบันมีรายได้จากพาร์ทเนอร์ประมาณปีละ 1 หมื่นล้านแต่หลังปี 2568 จะเหลือคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz คลื่น 26 GHz จำนวน 100 MHz แนวทางธุรกิจคือ 5 MHz ของคลื่น 700 MHz ใช้รักษาลูกค้าคลื่น 800 MHz เดิมที่มีประมาณ 2 ล้านเลขหมาย กับ อีกส่วนที่มาใช้กับอุปกรณ์ IoT พวกธุรกิจองค์กร เอาไปเชื่อมกับ 26 GHz

‘เรื่อง 700 MHz ตอนนี้สภาพัฒน์ฯ เข้าใจแล้ว เราช้าไปประมาณ 2-3 เดือนจากแผนที่เราอยากจะให้ครม.เห็นชอบในเดือน พ.ย. แต่ตอนนี้จะเข้าคณะอนุสภาพัฒน์ฯปลายเดือน ธ.ค. แล้วเข้าสภาพัฒน์ฯชุดใหญ่เดือน ม.ค. 66 และ คงจะเข้าครม.ในเดือน ก.พ.66 ไม่ถึงกับช้ามาก แต่ทำให้เราทำงานด้วยความลำบาก ธุรกิจโมบาย ตัวเลขที่ทำอาจไม่ได้สวยมากเพราะเราเสียเวลาไป 2 ปีกับมูลค่าของคลื่นความถี่ที่เสียเปล่าไป 6,600 ล้านบาท ต้องเทียบเคียงว่าถ้าไม่ทำอะไรปล่อยไว้เฉยๆ อย่างนี้ถือว่าเสียหายเพราะต้องจ่ายค่าคลื่นไป 15 ปีแต่ถ้าทำแล้วทำให้เสียหายน้อยลง แล้วอาจได้ผลตอบรับที่มีศักยภาพในอนาคตย่อมดีกว่า ซึ่งเรากำลังพยายามผลักดัน’

รวมทั้ง nt มีเรื่องการทำสมาร์ทแฟกเทอรี่ 5G ร่วมกับจุงหวา เทเลคอม ไต้หวัน เป็นต้นแบบเพื่อเจาะนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยสมาร์ทแฟกเทอรี่ทำได้ 2 ส่วนคือโรงงานใหม่ที่เริ่มสมาร์ทเลยกับการเปลี่ยนโรงงานเดิมให้สมาร์ทขึ้น

สำหรับงานด้านสมาร์ทอื่นๆจะเป็นการขยายผลต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่เหมือนกับการมีถนนดิจิทัลไปถึงทุกหมู่บ้าน โจทย์ของ nt คือต้องหารถที่มีคุณภาพวิ่งให้เข้าถึงหมู่บ้าน ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตคือเรื่องข้อมูลข่าวสาร ชาวบ้านย่อมคาดหวังเมื่อมีเน็ตไปถึงหมู่บ้าน คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ รายได้จะเพิ่มมากขึ้นโดยใช้เวลาน้อยลงหรือไม่ nt มีโครงสร้างพื้นฐาน สามารถสร้างแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้ของชาวบ้าน หน่วยงานรัฐต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อแบ่งปันความรู้ของทุกกระทรวงให้ประชาชน ทำให้เป็น ‘สังคมแห่งการแบ่งปันภูมิปัญญา’ ข้อมูลข่าวสารมีอยู่หมดแล้วบนอินเทอร์เน็ต แต่ไม่มีใครจัดหมวดหมู่ให้ nt เหมือนไปทำทางลัดให้ประชาชน จะเกิดประโยชน์มาก ถ้าอยากรู้เรื่องของกระทรวงนี้ก็ให้มาดูที่ nt ก็จะลิงค์ไปให้ ดีกว่าให้ประชาชนไปค้นหาเอาเองซึ่งช่วยป้องกันเรื่องเฟกนิวส์ได้ด้วยข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้


พ.อ.สรรพชัยย์ กล่าวย้ำว่า ถ้าอยากให้ nt อยู่รอดในอนาคตหลังจากที่คิดว่าถ้าไม่ควบรวมจะอยู่ไม่รอด คือ ต้องให้โครงการ nt บางเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องสนับสนุน อย่างผู้บริหารภาครัฐ มีงบประมาณต้องจ่ายเรื่องอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ที่เป็นของภาครัฐ ขอโอกาสให้ nt 2-3 ปีเพราะควบรวมแล้วมั่นใจว่าบริการจะดีขึ้น เอางบเหล่านั้นมาให้ nt อย่างโทรศัพท์มือถือกับบรอดแบนด์ ไม่ต้องทั้งหมดขอแค่บางส่วน แล้วพิสูจน์ว่า nt ให้บริการดีหรือไม่ หากผ่านไป 3 ปีแล้วถ้า nt บริการไม่ดี หน่วยงานรัฐก็กลับไปเลือกใช้โอเปอเรเตอร์เอกชนเหมือนเดิมก็ได้

‘ขอโอกาสให้ nt หลังควบรวมแล้ว เหมือน GDCC ที่ nt ให้บริการหน่วยงานรัฐทำให้ประหยัดงบประมาณได้ 50% แล้วคุณภาพบริการได้รับการยอมรับ อยากเอารูปแบบนี้ไปแตะงานอีกหลายๆส่วนอย่างเรื่องบูรณาการระบบสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของประเทศ (PPDR - Public and Private Disaster Recovery) nt มีให้บริการอยู่ 2 ส่วนคือ ทรังก์เรดิโอ (digital trunk)ให้บริการทั่วประเทศเน้นการสื่อสารทางเสียง SMS สั้นๆ กับ LTE trunk ที่ให้บริการตำรวจอยู่ สามารถส่งวิดีโอ สตรีมมิ่งได้ถ้าบูรณาการ 2 ส่วนนี้ได้ ตำรวจก็สามารถพูดคุยได้ทั่วประเทศ หน่วยงานปกครองก็สามารถส่งวิดีโอ สตรีมมิ่งในพื้นที่ nt ให้บริการ nt มีคาปาซิตี้ประมาณ 3 แสนซับ ก็ช่วยประหยัดงบในภาพรวมได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าครม.’

อีกธุรกิจคือเรื่อง Low Orbit Satellites หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ ปัจจุบัน nt ให้บริการดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า หรือ Geostationary Orbit Satellites ดาวเทียมไทยคม 10 ไทยคม 6 ที่รับโอนมาจากสัญญาสัมปทานและกำลังพิจารณาวงโคจรที่กสทช.เปิดประมูลอีกขาทำเรื่องดาวเทียมวงโคจรต่ำที่จับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศคือ ‘OneWeb’ โดยntให้บริการแลนด์ดิ่ง สเตชั่นในประเทศไทยซึ่งกว่าจะให้บริการได้น่าจะปลายปี 2566 และการเป็นตัวแทนขายในภาคพื้นอาเซียนทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นฐานของดาวเทียมวงโคจรต่ำในภูมิภาค

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาคดีพิพาทต่างๆระหว่างกันนั้นต้องหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายกฎหมายกับการเงิน บางคดีที่สุ่มเสี่ยงจะแพ้แน่นอน ก็ไม่ต้องเดินให้สุดทางเพราะจะเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก ต้องมีความเห็นร่วมกันเพื่อเสนอบอร์ดเพื่อให้เกิดการเจรจา และต้องมีการลงบัญชีไว้ล่วงหน้า ที่ผ่านมาพอศาลตัดสินต้องจ่ายก็จะเป็นภาระมาก นอกจากนี้บอร์ดก็มีนโยบายเรื่องการเจรจายุติข้อพิพาทเหมือนที่เคยทำสมัยเป็น CAT ตั้งคณะทำงานเอาข้อพิพาทมาดูแล เพราะมีทั้งฟ้องและถูกฟ้อง หากเจรจากันได้ก็จะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

‘ปี 2566 จะเป็นปีแห่ง Integration for All ของ nt’


กำลังโหลดความคิดเห็น