ตัวแทนภาคประชาสังคม เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประมูลสิทธิการเข้าใช้งานวงโคจรดาวเทียม เพื่อเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช.พิจารณาอีกครั้งก่อนที่จะมีการประมูลเกิดขึ้นในวันที่ 15 มกราคมนี้
วันนี้ (28 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ร่วมกับตัวแทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเข้ายื่นหนังสือขอให้ยกเลิกการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และมอบสิทธิให้แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียม โดยมีนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้รับหนังสือจากตัวแทนทั้ง 4 กลุ่ม
โดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี กล่าวว่า เนื่องจากดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 60 ได้บัญญัติว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปิดประมูลและให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ
เช่นเดียวกับนายสาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย กล่าวว่า จุดประสงค์ของการควบรวบกิจการระหว่าง TOT และ CAT นั้นเพื่อให้ทั้ง 2 องค์กรเป็นหน่วยงานที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่สำคัญของประเทศ ดังนั้น NT จึงมีความพร้อมและมีศักยภาพในการดำเนินการด้านกิจการดาวเทียม ในวันนี้จึงมาแสดงจุดยืนเพื่อให้ กสทช.ยกเลิกการประมูลครั้งนี้และมอบสิทธิในการดำเนินการเรื่องดาวเทียมให้แก่ NT
ส่วนนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ดาวเทียมนั้นเป็นสมบัติของชาติและประชาชน เพราะฉะนั้นการเข้าถึงดาวเทียมจึงต้องถูกจัดสรรให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการประมูลครั้งนี้ในอนาคต
ด้าน น.ส.ณีรนุช จิตต์สบ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้คัดค้านในเรื่องการนำวงโคจรมาประมูลและให้สิทธิแก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติและของประชาชน โดยเรายืนหยัดว่า รัฐเท่านั้นหรือรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้ให้บริการ โดย NT มีความพร้อมในด้านโครงสร้างขององค์กรที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง TOT และ CAT จะมี 16 สายงาน หนึ่งในนั้นคือ สายงานด้านดาวเทียมและโครงสร้าง ทั้งนี้ เรามีความเห็นว่า ถ้า NT จะมาดำเนินการในส่วนนี้มีความสามารถที่จะบริหารจัดการได้ และทำได้ดีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
ขณะที่นายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังจากการเข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า ต้องการให้ NT เป็นผู้ดำเนินการเรื่องดาวเทียมในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจ โดยประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐมนตรีดีอีเอสได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า กสทช. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 ว่าทาง กสทช.จะต้องเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียมเท่านั้น ทางรัฐบาลไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงดีอีเอสจะกำชับให้ทาง NT ประมูลคลื่นความถี่ที่เหมาะสมมาให้ได้ โดยมุมมองของประธานสหภาพเห็นว่า ทาง NT ควรจะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 119.5 ตำแหน่ง 120E ที่มีความครอบคลุมการใช้งานถึง 3 ทวีป การประมูลคลื่นย่านนี้จึงมีความเหมาะสมและคุ้มค่าที่จะนำมาลงทุนต่อยอด และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ NT ต่อไปได้ ทั้งนี้ หากการยื่นหนังสือคัดค้านไม่เป็นผลจะยกระดับการเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวแทนเพื่อเรียกร้องต่อกสทช.อีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม 2566
ด้านนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จะเร่งนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้บอร์ด กสทช.ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบอีกครั้งโดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะมีการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุดในวันที่ 15 มกราคม 2566