xs
xsm
sm
md
lg

‘พิรงรอง’ ดึงผู้ผลิตรายการเกาหลีใต้หนุนซอฟต์เพาเวอร์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘พิรงรอง’ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ เผยแผนที่เร่งดำเนินการในปี 2566 ด้วยการแก้มาตรา 52 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ส่งเสริมการผลิตเนื้อหารายการ 3 ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์สร้างสรรค์เนื้อหารายการไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมเงินทุนสนับสนุนก้อนแรก 200 ล้านบาท ประเดิม 17 ม.ค.จัดเวทีสัมมนาผู้ประกอบการเกาหลี เปิดโอกาสจับคู่ธุรกิจสร้าง Co-production นำร่องโมเดลซอฟต์เพาเวอร์ไทย 

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์​ กล่าวถึงแผนงานสำคัญในปี 2566 ว่า จะดำเนินการเรื่องร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมและการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา 52 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ระบุว่า ‘ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ารายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36 คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด’

ทั้งนี้ ได้กำหนดเกณฑ์สำหรับสนับสนุนโดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสำหรับรายการที่มีเนื้อหาใน 3 ลักษณะได้แก่ 1.รายการเพื่อเด็กและเยาวชน 2.รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในมิติต่างๆ และ 3.รายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ

ในส่วนการผลิตร่วม หรือ C0-production ในวันที่ 17 ม.ค.2566 จะมีการจัดสัมมนาเรื่อง Korean Media Landscape and the Opportunities for Thai-Korean Co-production หรือภูมิทัศน์สื่อเกาหลีและโอกาสในการร่วมผลิตเนื้อหาไทย-เกาหลี โดยจะมีวิทยากรจาก Korea U ด้าน content จาก Wavve ที่เป็นแพลตฟอร์มของเอกชนเกาหลี และ CJ ENM

‘ในงานสัมมนาจะมีการจัดให้ผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมเจรจากับทางผู้ผลิตเกาหลี เพื่อโอกาสทางธุรกิจ’

เบื้องต้น กสทช.จะมีงบประมาณที่ค้างท่อสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อม 200 ล้านบาท และอาจจะต้องขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากบอร์ด กสทช. เพื่อสนับสนุนในการสร้างสรรค์เนื้อหารายการและนำไปสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าร่างประกาศน่าจะร่างเสร็จในไตรมาสแรกปี 2566 และเปิดประชาพิจารณ์ได้ในไตรมาส 2 และในช่วงกลางปีจะเปิดให้มีการสมัครขอรับทุนสนับสนุนได้

‘ในวันที่ 17 มกราคม จะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่จะสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง เป็นการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานโลก มันจึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย โดยจะมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ก่อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.’

โดยในปี 2566 ยังมีเรื่องการวางระบบ Social Scoring การมอนิเตอร์ทางเทคโนโลยี Social Credit การตรวจสอบและส่งเสริมเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเฝ้าระวังสิ่งผิดกฎหมายจากการออกอากาศในกิจการโทรทัศน์ มีการทำ Quality Rating ประเมินเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ด้วยเกณฑ์ทางคุณภาพ (ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางปริมาณผู้ชม) มีทั้งการใช้มอนิเตอริ่งตรวจ เฝ้าระวังเนื้อหาตามประเด็นทางสังคมทุกไตรมาสโดยคณะวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ และการพัฒนา AI ในลักษณะ Machine Learning เพื่อประเมินคุณภาพเนื้อหาในมิติที่เป็นความเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ เช่น การสร้างความเกลียดชัง การข่มเหงรังแก การกีดกันกลุ่มทางสังคมต่างๆ

ทั้งนี้ คาดว่าระบบการประเมินจะมีความพร้อมภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งจะมีการให้รางวัลเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการด้วย

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมร่วมกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในประเด็นใบอนุญาตประกอบกิจการที่จะหมดอายุในปี พ.ศ.2572 เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล รวมถึงกำหนดทิศทางของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ให้สามารถปฏิบัติได้ตามที่ กสทช.กำหนด

‘สำหรับการประมูลขอรับใบอนุญาตของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลหลังจากที่ใบอนุญาตหมดอายุ ทาง กสทช.ได้พิจารณาถึง 2 ประเด็น คือ การเข้าสู่กระบวนขอรับใบอนุญาตด้วยวิธีการประมูลอาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สื่อถูก Digital Disruption และค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการออกอากาศในภาคพื้นดิน ระบบออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ประหยัดต้นทุนได้มากกว่า เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้และเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด รวมทั้งเรื่องการออกอากาศด้วยความคมชัดแบบ 4K ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องคลื่นความถี่ประกอบกันด้วย ซึ่งคาดว่าผู้ประกอบการโทรทัศน์จะยิ่งมีจำนวนน้อยลงตามทรัพยากร โดยเห็นว่าในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการในครั้งต่อไปอาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของการประมูลและอาจใช้การบิวตี้คอนเทสต์แทน’

บอร์ด กสทช.จะมีการพูดคุยกับนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในวันที่ 3 มกราคม 2566 เรื่องการกำกับดูแลผู้ให้บริการ OTT รวมทั้งการแก้ไขข้อกฎหมายให้ครอบคลุมตามอำนาจในการกำกับดูแลในประเด็นเนื้อหาตามมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

สำหรับผลงานสำคัญในปี 2565 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น 1.ความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ 3 องค์กร สร้างระบบส่งต่อและติดตามเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สำหรับเรื่องที่เข้าข่ายผิดจริยธรรมและเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย โดย กสทช.ร่วมส่งเสริมสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ผลักดันให้องค์กรวิชาชีพทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานจริยธรรม ตามมาตรา 28(18) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรความถี่ และมาตรา 39,40 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเนื้อหารายการที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรม

2.(ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …(ฉบับปี 2565) ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยได้มีการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น