xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสื่อฯ ชวน กสทช.องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ร่วมกันพัฒนาคุณค่ารายการข่าวโทรทัศน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนา Media Alert 2565 “สังคมได้อะไร จากข่าวโทรทัศน์” เพื่อเสนอผลการศึกษา การนำเสนอข่าวช่วงเย็นและค่ำของทีวีดิจิทัลในช่วงเดือน ก.ค. ส.ค. ก.ย. 65 และเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ วิชาชีพสื่อ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยวงเสวนาประกอบไปด้วยนักวิชาการด้านสื่อ ด้านสังคม และตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อให้ความเห็นต่อผลการศึกษา และให้ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาคุณค่ารายการข่าวโทรทัศน์ต่อสังคม เช่น สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฯลฯ (1 ธ.ค. 65 โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ สามย่าน)

งานเริ่มด้วย การบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทข่าวโทรทัศน์ดิจิทัลเพื่อนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่เกริ่นนำการบรรยายว่า อยากเห็นการทำงานร่วมกันของภาคการกำกับดูแลและภาคส่งเสริม เพราะการทำให้สื่อมวลชนมีคุณค่าต่อสังคมต้องใช้หลายมาตรการ แม้จะมีเรื่อง Media Disruption แต่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ก็ยังอยู่ ยังคงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญ ต้องมีการแยกแยะระหว่างสื่อมวลชน กับสื่อที่ใครก็เป็นได้ สื่อมวลชน คือสถาบันที่สังคมให้ความเชื่อถือได้ สังคมมีความคาดหวังได้เต็มที่กับสื่อมวลชน แต่ยากที่จะคาดหวังกับนักสื่อสารออนไลน์ ขณะที่ สื่อโทรทัศน์ ยังคงเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของสื่อวิชาชีพ

“ข่าวโทรทัศน์เป็นหนึ่งในผลงานสื่อมวลชนที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เห็นคุณค่าและความสำคัญ เพราะรายการข่าวเป็นประเภทรายการที่สะท้อนหน้าที่สื่อมวลชนต่อสังคมที่ชัดเจนมากที่สุด โดยเฉพาะบทบาทการแจ้งข่าวสารให้สังคม (Inform) ปัจจุบันทีวีดิจิทัลของไทยแต่ละช่องเลือกวางผังออกอากาศรายการข่าวเด่น (Flagship News Shows) ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยมักให้ความสำคัญต่อข่าวช่วงเย็นถึงค่ำ ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่แข่งขันกันสร้างเรตติ้งอย่างลดคุณค่าและความสำคัญของรายการข่าว” การจัดสัมมนา Media Alert 2565 ในวันนี้ เพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอจากองค์ปาฐก คณะวิทยากร และผู้ร่วมการสัมมนาทั้งทางออนไซต์และออนไลน์ ต่อผลการศึกษารายการข่าวเด่น (Flagship News Shows) ของ 14 ช่อง/สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล โดยเป็นรายการข่าวที่ออกอากาศในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน 2565 นี้ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ของทุกท่านในวันนี้จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาคุณค่ารายการข่าวโทรทัศน์ รวมทั้งคุณภาพการเลือกรับชมข่าวโทรทัศน์ของผู้ชม เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพื่อให้รายการข่าวโทรทัศน์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและพลเมืองต่อไป

จากนั้นเป็นปาฐกถาพิเศษ “บทบาทข่าวโทรทัศน์ดิจิทัลต่อการพัฒนาพลเมือง” โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เผยว่า เริ่มจาก “พลเมือง” ตามแนวคิดของ T.H. Marshall จะต้องมี สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม เช่น สิทธิในการพูด การนับถือศาสนา การเข้าถึงกฎหมายอย่างเท่าเทียม การแสดงออกทางประชาธิปไตย โดยระดับพลเมืองขั้นสูงสุด จะต้องมีส่วนร่วมทางกฎหมาย ทางสังคม มีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งในสังคมยังมีพลเมืองที่ไม่ได้มีสิทธิตามกฎหมาย เช่น คนไร้บ้าน ชนเผ่าทางวัฒนธรรม คนในชุมชน เป็นต้น และหากดูตามกฎหมายของ กสทช. อาจหมายรวมถึงผู้ประกอบการสื่อชุมชนด้วย

สื่อโทรทัศน์ จะช่วยสร้างหรือเอื้อให้เกิดความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลได้อย่างไร ? ขณะที่ ประชาชน มีบทบาทเป็นผู้บริโภคมากกว่า “พลเมือง” สื่อมีหน้าที่ในการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความเป็นพลเมือง เป็น “พลเมืองที่รู้แจ้งทางข่าวสาร” สื่อต้องสร้างความเป็นพลเมืองที่ข้ามปริมณฑลสาธารณะและส่วนบุคคล ดังนั้น การดูข่าวโทรทัศน์ ถือเป็นการสร้างปริมณฑลส่วนบุคคลในการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการหล่อหลอมแนวคิดทางการเมืองให้ปัจเจกชน (Politic of the Living Room)

จากการสำรวจข้อมูลการใช้สื่อแพลตฟอร์มต่างๆ ของต่างประเทศในช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา พบว่าสื่อโทรทัศน์ยังมีบทบาท/มีคนรับชม แม้อัตราการรับชมอาจลดลงบ้างแต่ก็ไม่ได้หายไป นอกจากนี้ ข่าวสารยังมีระบบชนชั้น โดยประเภทของข่าวจะมีสองแบบคือ Hard News และ Soft News ซึ่งคนที่เปิดรับสื่อ Hard News จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง (Middle and Upper Class) ส่วน Soft News จะเป็นกลุ่มผู้เสพในชนชั้นแรงงาน (Labor Class) มากกว่า แต่ Soft News/ Human Interests News ไม่มีคุณค่าจริงหรือ? จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอมากกว่า ว่านำแง่มุมไหนมานำเสนอประชาชน อาจนำเสนอให้มีทั้งความเป็น Hard News และ Soft News ผสมผสานกัน
 
นอกจากงานในวันนี้ จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรายการข่าวที่มีผลต่อการพัฒนาพลเมืองแล้ว ยังเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นที่สำคัญ เช่น เรื่องของอุดมการณ์ทำงานของนักข่าว และอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ การถูกลดบทบาทของกอง บก.ข่าว ซึ่งทำให้เราอาจต้องมองหาแรงจูงใจในการทำข่าวใหม่ หน้าที่และความรับผิดชอบของสื่อที่มีทั้งการ Inform, Educate และ Entertain รวมถึงความสำคัญในการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้กับสังคมไปพร้อมๆ กัน เป็นต้น ทั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างโจทย์ใหม่ๆ ในการทำงานร่วมกันระหว่าง กสทช. ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อ กองทุนสื่อฯ ที่ทำหน้าที่ด้านการส่งเสริมและสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และในขณะเดียวกันก็เป็นการร่วมหาแนวทางเพื่อพัฒนาผู้ชมชาวไทยกลายเป็นพลเมืองโลกผ่านการชมข่าว

Media Alert เป็นโครงการภายใต้แผนการทำงานของสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่มีภารกิจในการนำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์สภาพการณ์สื่อและพฤติกรรมการเปิดรับและการใช้สื่อของสังคม อย่างมุ่งหวังสร้างเสริมวัฒนธรรมการคิดวิเคราะห์ในการสื่อสาร การเปิดรับและการใช้สื่อ เพื่อส่งเสริมนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ Media Alert เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจของสื่อและการสื่อสารออนไลน์ ด้วยหลักทางวิชาการที่เชื่อถือได้ และด้วยวิธีการเพื่อให้ทันความสนใจและการนำไปใช้ประโยชน์ของสังคม โดยใช้พื้นที่เพจ Media Alert เผยแพร่ผลงานการศึกษา และบทความของโครงการ รวมทั้งอัปเดตข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ต่างๆ ของสื่อและการสื่อสารของสังคม ซึ่งเพจ Media Alert ก็ได้รับความสนใจติดตามในระดับที่น่าพอใจ เพื่อเทียบกับระยะเวลาดำเนินการเพียงร่วม 2 ปี
 
ข้อคิดเห็นต่างๆ จากแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้ ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ การทำงานเพื่อส่งเสริมคุณค่าและประโยชน์ของข่าวโทรทัศน์ต่อสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าเราทุกคนมีส่วนในการร่วมสร้างนิเวศสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์














กำลังโหลดความคิดเห็น