xs
xsm
sm
md
lg

‘dtac B-LAB’ ปั้นแพลตฟอร์มดิจิทัลจับลูกค้าองค์กร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างเทเลนอร์ และกูเกิลคลาวด์ ในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ทั้ง 2 องค์กรเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อที่จะดึงศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคดิจิทัลด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน

ผ่านมา 1 ปี แพลตฟอร์ม ‘dtac B-LAB’ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นต้นแบบของการนำนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนผ่านให้ผู้ให้บริการในธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเทเลนอร์ และดีแทค สามารถก้าวเข้าสู่การให้บริการลูกค้าในกลุ่มองค์กรที่นับเป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่มีโอกาสในการเติบโตแบบก้าวกระโดด

ลาร์ส คริสเตียน สตรอว์เวต หัวหน้าทีมดิจิทัล และการตลาด กลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานในทีมที่เรียกว่า ‘10x Gamestorming for innovation’ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานของกูเกิลคลาวด์ นักพัฒนาของเทเลนอร์และทีมงานของดีแทคในฝั่งดิจิทัล ภายใต้การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน

“หลักการทำงานของทีมนี้จะเริ่มจากการใช้เวลาในการคิดถึงภาพใหญ่ที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก ตามด้วยการพัฒนาความคิดและการทำซ้ำในสัปดาห์ที่ 3-4 ก่อนเริ่มปรับแต่งต้นแบบในการทำงานในสัปดาห์ที่ 5-7 เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายใน 10 สัปดาห์”


โดยจะเริ่มจากการศึกษาขนาดของตลาดที่ธุรกิจสามารถเข้าไปสร้างโอกาสในการเติบโต หรือเข้าไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการมองไปในอนาคตช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นทีมงาน dtac business และนักพัฒนาจากนอร์เวย์จะทำงานร่วมกันเพื่อมองหาไอเดียที่จะให้บริการต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ออกมาเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ

แน่นอนว่าในการคิดค้นจะต้องอยู่ภายใต้แนวทางของการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ที่สำคัญคือต้องเป็นบริการที่สามารถสร้างรายได้ มีตลาดที่ชัดเจน ไปพร้อมกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการลดขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ทีมเกิดความคล่องตัวมากที่สุด

“โปรดักต์แรกที่เกิดขึ้นใน dtac B-LAB จากการพัฒนาร่วมกันกับทางกูเกิล คลาวด์ คือ การนำบริการอย่าง Google Workspace มาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เนื่องจากเป็นโซลูชันที่ผู้ประกอบการมองหาเพื่อนำไปใช้งานในธุรกิจตั้งแต่ในกลุ่มเริ่มต้น ไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก็สามารถเลือกนำไปใช้งานได้”

***dtac B-LAB เริ่มต้นที่ไทย ขยายสู่เอเชีย


ความสำคัญของแพลตฟอร์ม dtac B-LAB คือการเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับลูกค้าองค์กรที่ให้บริการเป็นรายแรกในประเทศไทย และมีแผนที่จะขยายไปสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทางเทเลนอร์ดูแลอยู่ เนื่องจากมองว่ากลุ่มลูกค้าองค์กรธุรกิจจะเป็นโอกาสสำคัญของการแข่งขันที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ต่อเนื่องไปถึงการขยายไปยังตลาดโลก

ลาร์ส ให้ข้อมูลถึง 3 เป้าหมายหลักของ dtac B-LAB ที่เกิดขึ้นนี้จะครอบคลุมทั้ง 1.Connect ในการสร้างคอมมูนิตีสำหรับ SME ไทยให้มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และองค์ความรู้ร่วมกัน 2.Learn แพลตฟอร์มที่นำเสนอบทความ และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะดิจิทัล และธุรกิจ 3.Grow เป็นช่องทางในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และโซลูชันจากดีแทค นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และพันธมิตรระดับโลกผ่าน dtac B-LAB ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้พัฒนาซอฟต์แวร์องค์กรระดับโลกเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการในแต่ละท้องถิ่นสามารถเข้ามาเชื่อมต่อระบบเพื่อให้บริการได้

“ผู้ประกอบการ SME ไม่ได้มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ขาดโอกาสที่จะนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาพัฒนาธุรกิจ การที่มี dtac B-LAB ขึ้นมาจะช่วยเปิดโอกาสให้ SME ที่สนใจเข้ามาเลือกหาโซลูชันที่เหมาะสมไปใช้งาน”


เบื้องต้น แพลตฟอร์ม dtac B-LAB จะเปรียบเหมือนเป็นช่องทางดิจิทัลที่เปิดให้ลูกค้าธุรกิจสามารถเข้ามาค้นหาบริการที่เข้าไปช่วยตอบโจทย์ขององค์กร โดยมีจุดแข็งในแง่ของทีมงานที่สามารถเข้าไปให้คำปรึกษา ดูแลช่วยเหลือในแต่ละธุรกิจ เพื่อนำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากการเลือกซื้อผ่านช่องทางของแบรนด์ โดยเน้นที่การเพิ่มฟีเจอร์ที่มีความคุ้มค่าเข้าไป

ขณะเดียวกัน ต้องทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าทำไมถึงต้องเลือกใช้งานบริการของ dtac business ซึ่งการมี dtac B-LAB จะช่วงสร้างความแตกต่าง และเชื่อมั่นว่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีโอกาสเติบโตอย่างมากจากการที่เข้าไปตอบโจทย์ผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

***โปรดักต์ที่พัฒนาจากข้อมูล

เบื้องหลังของการพัฒนาแพลตฟอร์ม dtac B-LAB นั้น ทางทีมผู้บริหารยอมรับว่าเกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา เมื่อลูกค้าหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลในการติดต่อสื่อสาร และเข้าถึงบริการมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือประสบการณ์ใช้งานที่ดี ช่วยลดโอกาสในการที่ลูกค้ายกเลิกการใช้งาน

นอกจากนี้ ด้วยการที่เป็นแพลตฟอร์มซึ่งรองรับการใช้งานของทุกๆ ธุรกิจตั้งแต่ลูกค้า SOHO กลุ่มผู้ประกอบการระดับเริ่มต้นที่มีพนักงานไม่กี่คน จนถึงกลุ่ม SMEs และ Enterprise ที่มีพนักงานหลายร้อยหลายพันคน เพราะในทุกธุรกิจต้องการระบบเชื่อมต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ


ศิริพงศ์ นกทนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจงานขาย SME dtac business ดีแทค ระบุว่า ที่ผ่านมา ลูกค้า SME พบเจอปัญหาเกี่ยวกับแหล่งเงินทุน ขาดความรู้ในการเริ่มต้นธุรกิจ ทำให้เริ่มมองหาโซลูชันที่เข้ามาตอบโจทย์ให้ตรงกับการทำธุรกิจ สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ รองรับการทำงานแบบไฮบริด

“การมาของคลาวด์ได้เข้ามาช่วยเรื่องความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ง่ายต่อการดูแล มีความยืดหยุ่น ปลอดภัยสูง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมารายได้จากธุรกิจองค์กรของดีแทคเติบโตสูงถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และยอดขายบริการโซลูชันเติบโตถึง 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า”

ในขณะเดียวกัน ปริมาณการเติบโตของลูกค้าที่ใช้งานผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 8 เท่า ภายใน 1 ปี ทำให้ทาง dtac business หันมาเพิ่มความสำคัญของช่องทางบริการแบบออนไลน์ เพื่อรับกับอัตราการปรับตัวในการใช้งานแบบดิจิทัลของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 5 เท่า ในช่วงปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ดีแทคมีฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจราว 1 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 80% หันมาใช้ช่องทางบริการแบบดิจิทัลแล้ว ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า dtac B-LAB จะเข้ามาช่วยดึงกลุ่มลูกค้าใหม่เข้ามาเสริมให้แก่ดีแทค จากการเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการใช้งาน

***สร้างการเติบโตในกลุ่มลูกค้าองค์กร

ศิริพงศ์ กล่าวถึงจุดแข็งของ dtac B-LAB คือการมีทีมงานที่คอยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือในการย้ายระบบ ตามด้วยทีมงานที่คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ในกรณีที่การใช้งานต่างๆ มีปัญหา และที่สำคัญคือการนำเสนอบริการที่มาพร้อมกับโซลูชันให้ลูกค้าได้เลือกใช้งาน

“การที่กูเกิลคลาวด์ต้องการเติบโตเพิ่มขึ้นผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แสดงให้เห็นแล้วว่าอนาคตตลาดของการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันต่างๆ อยู่ที่ตรงไหน ทำให้ dtac business ที่รับฟังความต้องการของลูกค้าเดินหน้ามองหาโซลูชันใหม่เข้ามาเสริมให้แก่แพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีพันธมิตรเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 ราย”

ผู้บริหารดีแทค กล่าวย้ำถึงความมั่นใจของลูกค้าว่า การให้บริการของ dtac business จะยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอย่าง dtac B-LAB ที่มีโอกาสในการเติบโตที่เห็นได้ชัดเจน ดังนั้นแม้ว่าในช่วงต้นปีหน้าจะมีการควบรวมธุรกิจ แต่ลูกค้าจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ การให้บริการของ dtac business ในปัจจุบันครอบคลุมอยู่ใน 3 กลุ่มหลักคือ1.การเชื่อมต่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างการให้บริการซิมการ์ดสำหรับภาคธุรกิจ บริการ dtac One Call ระบบคอลเซ็นเตอร์แบบรวมศูนย์ภายในองค์กร ซิมการ์ดสำหรับ IoT ในการเชื่อมต่อกับระบบอัตโนมัติต่างๆ และ 5G Private Network เครือข่ายเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการความเร็ว ความหน่วงต่ำ และความเสถียรในการใช้งาน

2.ในแง่ของการปกป้องข้อมูลธุรกิจให้ปลอดภัย ที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรทางด้าน Mobile Security ไม่ว่าจะเป็นบริการอย่าง MobiLock Pro ตามด้วยความร่วมมือกับซัมซุง ในการนำเสนอ Samsung KNOX แก่องค์กรธุรกิจที่ต้องการปกป้องข้อมูล และ Workspace ONE แพลตฟอร์มบริหารจัดการแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์ต่างๆ

3.ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และขยายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับกูเกิล คลาวด์ ในการให้บริการ Google Workspace การทำตลาดผ่าน SMS ระบบติดตามรถ Cartrack ระบบติดตามและบริหารธุรกิจแบบเรียลไทม์ BAMS ระบบบริหารจัดการพนักงาน Teamwork. รวมถึงเครื่องมือทางธุรกิจอย่าง Microsoft 365

เพียงแต่ว่าในปัจจุบันการให้บริการบนแพลตฟอร์ม dtac B-LAB จะเริ่มจาก Google Workspace ก่อนที่ในอนาคตจะนำบริการของพันธมิตรรายอื่นๆ ขึ้นไปให้บริการ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเพิ่ม Microsoft 365 ขึ้นมาให้เลือกใช้งานกันด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น