xs
xsm
sm
md
lg

8 ปี เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนามจ่อแซงไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การสำรวจล่าสุดประเมินออกมาแล้วว่าภายในปี 2030 ตัวเลขเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามอาจจะสูงกว่าประเทศไทย ส่งให้เวียดนามมีโอกาสขึ้นเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยจะต้องไปลุ้นเอาว่าจะหล่นมาอยู่อันดับ 3 หรือต้องไปนั่งอันดับ 4 เพื่อหลีกทางให้ฟิลิปปินส์ที่มีมูลค่าเงินสะพัดในระดับเดียวกัน

ความน่ากังวลของภาวะนี้ไม่ได้อยู่ที่มูลค่าการใช้จ่ายบริการดิจิทัลของประชาชนในชาติว่าสูงสู้ใครไม่ได้ แต่อยู่ที่ระดับการลงทุนและระดมทุนในบริการดิจิทัลของประเทศไทยที่มีแนวโน้มหงอยเหงาเพราะการขาดแคลนสตาร์ทอัป ซึ่งแม้ในทางทฤษฎี ตัวเลขในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของแต่ละประเทศที่มีปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกันนั้นไม่ควรนำมาเทียบกัน แต่ในทางปฏิบัติ ตัวเลขนี้สร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในการปรับปรุงระบบการเงิน รวมถึงสะท้อนศักยภาพว่ามีฐานะเศรษฐกิจดิจิทัลที่สวยงามเพียงใด

หากมองเฉพาะมูลค่าการลงทุนใน 6 ประเทศหลักอาเซียนทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย สถิติชี้ว่าสิงคโปร์และอินโดนีเซียยังคงครองแชมป์เป็นจุดหมายการลงทุนหลักของปี 2022 โดยเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะดึงดูดนักลงทุนมากขึ้นในระยะยาว เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า 3 ประเทศนี้เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับการเติบโตและการลงทุนในอีกหลายปีข้างหน้า ด้วยแรงหนุนจากความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สิงคโปร์จะยังคงทำหน้าที่เป็นตลาดการลงทุนที่เติบโตเต็มที่เพราะมีสตาร์ทอัประดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และน่าดึงดูดใจ ส่วนไทยนั้นนั่งอันดับ 5 ในตาราง ตามมาด้วยมาเลเซีย และพื้นที่อื่นนอก 6 ประเทศที่นักลงทุนมองว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน เนื่องจากตลาดยังไม่พร้อมสำหรับการเติบโต

สิงคโปร์และอินโดนีเซียยังคงครองแชมป์เป็นจุดหมายการลงทุนเบอร์หลักของปี 2022 สิงคโปร์และอินโดนีเซียยังคงครองแชมป์เป็นจุดหมายการลงทุนหลักของปี 2022
ผลการสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเรื่อง e-Conomy SEA Report 2022 เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างกูเกิล (Google) เทมาเสก (Temasek) และเบนแอนด์คัมปานี (Bain & Company) การสำรวจพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงในฐานะเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ขยายตัวจากมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume : GMV) ที่มี 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

ที่สำคัญ ข้อมูลจากรายงาน e-Conomy SEA Report 2022 ชี้ว่าเวียดนามมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเพิ่มขึ้น 28% ต่อปี โดยภาคอีคอมเมิร์ซเป็นแรงดันสำคัญให้ GMV ของเวียดนามเติบโต 31% จาก 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ เป็น 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025

***คนไอทีดันเวียดนามโตแรง

แรงงานไอทีคุณภาพในเวียดนาม เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมในประเทศ เป็นผลให้เวียดนามเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีผลงานดีเด่นโดยปราศจากการหดตัวแม้แต่ไตรมาสเดียว โดยในปีที่ 3 นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดครั้งแรก การเติบโตของเวียดนามยังคงเกินประมาณการ เพราะเอสเอ็มอีในเวียดนามได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินธุรกิจออนไลน์ผ่านการจัดหาโซลูชันดิจิทัลหน้าบ้านและหลังบ้าน ผ่านการสนับสนุนจากรัฐบาล

ภาพรวมการเติบโตของ 6 ตลาดหลักอาเซียน
แม้ว่าสิงคโปร์และอินโดนีเซียจะเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนหลักในปี 2022 แต่เวียดนามและฟิลิปปินส์กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว รายงาน e-Conomy ระบุว่า เฉพาะภาคอีคอมเมิร์ซเพียงอย่างเดียว เวียดนามสามารถระดมทุนได้ประมาณ 230 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยอีกตลาดที่เป็นที่ชื่นชอบของนักลงทุนคือภาคสื่อออนไลน์ ที่มูลค่าการลงทุนในเวียดนามมีจำนวนมากถึง 190 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในระยะยาว (ปี 2025-2030) การสำรวจพบว่านักลงทุนกว่า 83% สนใจลงทุนในเวียดนามมากขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในปัจจุบัน ขณะที่ 73% สนใจลงทุนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ราว 50% ยังคงลงทุนกับตลาดสิงคโปร์ และราว 47% ที่สนใจลงทุนในตลาดไทย

เงินทุนที่มีแนวโน้มหลั่งไหลไปเวียดนาม เกิดขึ้นบนภาพรวมการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงเป็นโมเมนตัมขาขึ้น จำนวนดีลที่เกิดขึ้นยังคงค่อนข้างคงที่ที่ประมาณ 1,200 ดีล (คำนวณจากครึ่งปีแรกของปี 2021 ถึงครึ่งปีแรกของปี 2022) แต่มูลค่าดีลในปีนี้ได้แซงหน้าปีที่แล้วไปแล้วประมาณ 15%

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนในครึ่งปีหลังปีนี้ การลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูงมีความน่าสนใจน้อยลงจากมุมมองนักลงทุน นำไปสู่การชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเหมือนแนวโน้มของ VC ในสหรัฐอเมริกาเนื่องจากในอดีตนักลงทุนใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานาน

***ไทยอยู่ตรงไหน?

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศของกูเกิลประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 หรือเติบโต 17% เมื่อเทียบกับปี 2021 ที่มีมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าปี 2025 มูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะแตะ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 15% และคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2 เท่า มูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาทในปี 2030

  แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการประจำประเทศของกูเกิลประเทศไทย
ตัวเลขที่ทะยานขึ้น 3 เท่าตัวหากนับจากปีนี้ เป็นผลจากอีคอมเมิร์ซ บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ ซึ่งเป็น 3 บริการดิจิทัลตัวท็อปที่มีอัตราการใช้บริการสูงที่สุดในกลุ่มคนไทยในเขตเมือง หลักฐานที่แสดงว่าอีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คือตัวเลขสัดส่วนที่คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2022 ขณะที่การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ คาดว่าจะมีมูลค่ารวมแตะ 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2021 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025

ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย แต่หากพิจารณาในเชิงอัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซ สัดส่วนการใช้งานต่อประชากรไทยอยู่ที่ 95% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย

ทั้งหมดนี้ ผู้บริหารกูเกิลมองว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรไทย โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลที่กำลังมีแนวโน้มขาดแคลนในปัจจุบัน โดยควรต้องทำร่วมกับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเดิม นำไปสู่การเกิดมาตรการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าการซื้อขายหรือการลงทุนที่ใหญ่ขึ้น เอื้อให้ผู้ประกอบการรายย่อยส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ง่ายขึ้น

“อีกส่วนที่มีโอกาสคือหลายภาคส่วนจะต้องรวมกันให้การพัฒนาดิจิทัลอิโคโนมีทำได้ง่ายขึ้นให้เกิดเป็นแผนที่จะทำให้เกิดทรานแซกชันใหญ่ขึ้นและเปิดทางให้ SMEs ส่งออกนำเข้าได้ง่ายขึ้น” แจ็คกี้ ระบุ


ด้านวิลลี ชาง Associate Partner at Bain & Company มองว่าคนไทยมีพื้นฐานดิจิทัลที่ดีอยู่แล้ว มีการใช้บริการออนไลน์เพย์เมนต์แพร่หลาย ดังนั้น ไทยอาจไม่ต้องเทียบกับเพื่อนบ้านที่มีสตาร์ทอัปจำนวนมากกว่า เนื่องจากไทยมีภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความสนใจขยายการลงทุนอยู่แล้ว ทั้งในส่วนการสร้างบริการเพื่อดิสรัปสตาร์ทอัป การเสริมความแข็งแกร่งของรีเทลเลอร์ และมีการผลักดันรูปแบบธุรกิจใหม่ ซึ่งอาจแตกต่างจากประเทศรอบด้านที่มีสตาร์ทอัปและมีทักษะดิจิทัลในบุคลากรมากกว่า

“ถ้าบริษัทใหญ่ในประเทศมีการลงทุนต่อเนื่อง เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยก็เติบโตได้ไม่ต่างกัน”

***อาเซียนเนื้อหอม

โดยรวมแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 460 ล้านคน พบว่า มีรายใหม่ราว 100 ล้านคนที่เพิ่งออนไลน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยอีคอมเมิร์ซถูกใช้งานสูงทั้งกลุ่มผู้บริโภคในเมืองและนอกเมือง เป็นสัญญาณถึงโอกาสเติบโตในเขตชานเมือง ทั้งบริการขายของชำออนไลน์ การขนส่ง และบริการมิวสิก ออนดีมานด์

หากมองในภาพรวมระดับภูมิภาค 5 บริการดิจิทัลตัวท็อปที่จะดันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนให้ทะลุ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในสิ้นปีนี้ คือ อีคอมเมิร์ซ ออนไลน์มีเดีย ขนส่ง ท่องเที่ยวออนไลน์ และบริการด้านการเงิน นอกจากนี้ คือเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะมา เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ด้านการศึกษาและบริการซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิส โดยการสำรวจพบความท้าทายหลายส่วนทั้งซัปพลายเชนที่หยุดชะงัก มีผลทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อที่ลดลง ขณะเดียวกัน ภูมิภาคอาเซียนยังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย รวมถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากการย้ายฐานการผลิต

“แต่ทุกอย่างไม่ได้แย่ไปเสียหมด เพราะการสำรวจยังเห็นความโดดเด่นในภูมิภาค ทั้งเรื่องมาตรฐานการฉีดวัคซีน ที่ทำให้ไม่ต้องล็อกดาวน์เมือง ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรที่กูเกิลมี เราพบว่าผู้คนออกจากบ้านมากขึ้น เป็นสัญญาณดีที่สะท้อนแนวโน้มการเติบโต” แจ็คกี้ กล่าว “จากปีแรกของการระบาด พบว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคิดเป็นสัดส่วนเกิน 70% แล้ว เป็นภาวะคนมาออนไลน์ครั้งแรกมากขึ้น ซึ่งไม่แค่ออนไลน์ ความต่างของปีนี้พบว่าผู้คนเริ่มใช้จ่ายเพื่อรับบริการออนไลน์ครั้งแรกมากขึ้น เช่นเรื่องการฟังเพลงออนดีมานด์”


กูเกิลมองว่า แนวทางการต่อยอดที่นักธุรกิจในวงการดิจิทัลอาเซียนทำได้ คือการเพิ่มโอกาสในกลุ่มเป้าหมายที่ใช้บริการหรือซื้อสินค้าแล้ว ซึ่งจะต้องไม่เพียงเจาะกลุ่มคนไม่เคยซื้อ แต่ให้เน้นการใช้บริการที่มากขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจคอนเทนต์ออนดีมานด์ นักธุรกิจควรเน้นเรื่องการทำโปรโมชันเพื่อจูงใจให้เริ่มต้นใช้งาน และอาจมีโมเดลหารายได้แบบใหม่ขึ้นมาทั้งหมดนี้อาจเน้นเจาะตลาดนอกเมืองบ้าง เพราะตลาดยังมีรูมหรือพื้นที่ให้เติบโต รวมถึงโอกาสให้เข้าถึงผู้ใช้รายใหม่

ในช่วงหลังโควิด-19 พบว่าอีคอมเมิร์ซอาเซียนยังคงเร่งขยายตัวขึ้นจนมีเส้นทางการเติบโตเป็นรูปตัว S หรือ S Cerve คาดว่าจะเติบโตจนมีสัดส่วนเทียบเท่า 16% ของ GMV ในขณะที่การจัดส่งอาหารและสื่อออนไลน์เริ่มชะลอตัว และหดกลับสู่ระดับการเติบโตดั้งเดิมในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด เป็นเส้นทางการเติบโตในรูปแบบเทรนด์ไลน์ (trendline) แต่บริการเดินทางและการขนส่งนั้นยังไม่ฟื้นตัว เป็นเส้นทางการเติบโตแบบรูปตัว U หรือ U-Shaped คาดว่ายังต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเติบโตได้เท่าระดับก่อนโควิด

การสำรวจครั้งนี้พบว่า นักลงทุนในธุรกิจดิจิทัลอาเซียนตั้งคำถามเรื่องโอกาสทำกำไรมากขึ้น และนักลงทุนเริ่มกระจายเงินลงทุนไปยังเซกเตอร์ใหม่ที่อาจเติบโตมากในอนาคต เช่น เทคโนโลยีด้านสุขภาพ บริการซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีเว็บทรี (Web3) และเทคโนโลยีการศึกษา คาดว่าปี 2022-2025 จะเห็นการมุ่งเน้นเรื่องการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งการทำรายได้ของแต่ละเซกเตอร์ ยังต้องรอดูว่าจะรักษาการเติบโตได้ดีขนาดไหน

เช่นเดียวกับตลาดเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่ต้องลุ้นกันว่าจะรักษาการเติบโตได้ไหมใน 8 ปีข้างหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น